‘น้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน’ นิทรรศการ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์

06 ต.ค. 2560 | 02:54 น.

‘น้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน’
นิทรรศการ ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร


MP28-3303-6B “รูป ที่ถ่าย เราก็ปะตัดเอาไปให้หนังสือพิมพ์ พิมพ์ขึ้นมาเป็นหนังสือเป็นสิ่งที่ให้ความสุข ให้ความสบายใจ ก็เพราะว่าการถ่ายรูปนั้นไม่ได้ตั้งใจจะถ่ายรูปให้เป็นศิลปะ หรือจะเป็นเทคโนโลยีชั้นสูงอะไร เป็นแต่เพียงกดชัตเตอร์สำหรับเก็บรูปให้เป็นที่ระลึก แล้วถ้ารูปนั้นดี มีคนได้เห็นรูปเหล่านั้นและพอใจ ก็จะทำให้เป็นการแผ่ความสุขไปให้ผู้ที่ได้ดู เพราะว่าเขาชอบ หมายความว่าได้ให้ เขามีโอกาสได้เห็นทัศนียภาพที่เขาอาจไม่ค่อยได้เห็น หรือในมุมที่เขาไม่เคยเห็น ก็แผ่ความสุขไปให้เขาอีกทีหนึ่ง เป็นจุดประสงค์ของการถ่ายรูป”

พระราชดำรัสในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
เมื่อวันที่ ๑๕ มีนาคม พ.ศ. ๒๕๓๗

MP28-3303-5B จากบันทึกในหนังสือ “งานช่างของในหลวง” มหาวิทยาลัยศิลปากร (๒๕๓๙) บทหนึ่งว่าด้วยเรื่อง “ภาพถ่าย: ความสนพระราชหฤทัยการถ่ายภาพ” ว่า “งานอดิเรก พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว โปรดมากอย่างหนึ่งคือการถ่ายภาพ ทรงสนพระราชหฤทัยมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์ เป็นนักถ่ายภาพฝีพระหัตถ์เยี่ยมพระองค์หนึ่ง สะสมตำราเกี่ยวกับการถ่ายภาพไว้จำนวนมาก และศึกษาตำราต่างๆ ด้วยพระองค์เอง” โดยพระองค์เริ่มถ่ายภาพเมื่อมีพระชนมายุเพียง ๘ พรรษา ได้ถ่ายภาพรามเกียรติ์ที่ผนังพระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม นอกจากนี้ยังทรงทำหน้าที่เสมือนช่างภาพส่วนพระองค์ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล ดังที่สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอ เจ้าฟ้ากัลยาณิวัฒนา กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ บรรยายว่า “ทรงเป็นช่างภาพที่ติดตามทุกหนทุกแห่งและที่ฝึกอาชีพการเป็นกษัตริย์ไปโดยไม่รู้ตัว” (พระเจ้าพี่นางเธอฯ ๒๕๓๐ : ๒๘๕)

MP28-3303-1B นอกจากนี้ด้วยความสนพระราชหฤทัยและพระปรีชาสามารถทางการถ่ายภาพ ประกอบกับพระราชประสงค์ที่จะทรงใช้ประโยชน์จากภาพถ่ายอย่างกว้างขวาง จึงทรงมีพระราชดำริให้จัดส่วนช่างภาพส่วนพระองค์ขึ้น เพื่อทำหน้าที่ล้างอัดขยายภาพ บันทึกรายละเอียดของภาพ อนุรักษ์ภาพ และบริการผู้มาติดต่อขอภาพไปใช้ประโยชน์

จากภาพสู่งานพัฒนาของแผ่นดิน มูลนิธิหอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ร่วมกับสมาคมถ่ายภาพแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ โครงการ “น้อมรำลึกองค์อัครศิลปิน” ผ่านการจัดแสดงผลงานจากศิลปินหลากหลายศาสตร์ โดยมีภัณฑารักษ์ผู้ทรงคุณวุฒิในแขนงต่างๆ ร่วมสร้างสรรค์และคัดสรรมาจัดแสดง

MP28-3303-2B สำหรับนิทรรศการ “พระราชาในดวงใจ” เป็นการจัดแสดงผลงานศิลปกรรมอันทรงคุณค่าจากฝีมือศิลปินชั้นนำของไทยรวมทั้งหมดกว่า ๑๖๐ ผลงาน ประกอบด้วยวัตถุสะสมเกี่ยวข้องกับพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ ๙ เช่น พระบรม ฉายาสาทิสลักษณ์ชื่อพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ๒๕๕๙- ๒๕๖๐ ใช้เทคนิคสีอะคริลิกและทองคำบนผ้าใบขนาด ๒๐๐ x ๑๖๐ ซม. ซึ่งเป็นผลงานของคุณธงชัย ศรีสุขประเสริฐ หรือจะเป็นผลงานของคุณพินิตย์ พันธประวัติ ศิลปินที่แกะสลักพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ที่ใช้ในธนบัตรกับผลงาน นวมินทราชา หมายเลข ๘,๒๕๕๖ ใช้เทคนิคการแกะแม่พิมพ์โลหะและการกัดกรด ขนาด ๓๔ x ๒๗.๕ ซม. เป็นต้น

MP28-3303-3B และจุดหลอมรวมหัวใจพสกนิกรไทยทั้งแผ่นดินคือ “นิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์” กับการแสดงภาพกว่า ๒๐๐ ภาพ มีทั้งที่เคยเผยแพร่และไม่เคยเผยแพร่ที่ใดมาก่อน ทั้งนี้ภัณฑารักษ์ คือ คุณนิติกร กรัยวิเชียร ได้แบ่งการนำเสนอเป็น ๓ ช่วงรัชกาล ได้แก่ ช่วงต้นรัชกาล จัดแสดงภาพถ่ายยุคขาว-ดำ ของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ ๙ พระราชโอรส พระราชธิดา ตั้งแต่วันพระราชสมภพและพระบรมวงศานุวงศ์ ช่วงกลางรัชกาล จัดแสดง ภาพทรงงาน ณ สถานที่และโครงการต่างๆ ทั้งด้านการเกษตร การชลประทาน การพัฒนาท้องถิ่น และโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ และช่วงปลายรัชกาล จัดแสดงภาพคราวเสด็จฯ แปรพระราชฐานไปประทับแรม ณ พระราชวังไกลกังวล ทัศนียภาพอันงดงามต่างๆ และสุนัขทรงเลี้ยง

MP28-3303-4B ภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ มิได้แสดงเพียงความงามทางศิลปะหรือวิจิตรศิลป์ เพราะแต่ละภาพทรงไว้ซึ่งคุณค่าทั้งทางศิลปะและวิชาการ สามารถนำมาใช้ประโยชน์เพื่อการพัฒนาประเทศให้เจริญก้าวหน้าทัดเทียมอารยประเทศและนำความผาสุกร่มเย็นมาสู่ประชาชนชาวไทยได้จวบจนถึงปัจจุบันอย่างแท้จริง

ทั้งนี้ยังมีนิทรรศการ “ดิน นํ้า ป่า ฟ้า” แรงบันดาลใจจากพ่อซึ่ง จัดแสดงระหว่างวันที่ ๑๐ สิงหาคม - ๑๒ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ บริเวณชั้น ๗ สำหรับนิทรรศการ “พระราชาในดวงใจ จัดแสดงระหว่าง วันที่ ๒๙ สิงหาคม - ๒๖ พฤศจิกายน ๒๕๖๐ ณ บริเวณชั้น 8 และนิทรรศการภาพถ่ายฝีพระหัตถ์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชฯ จัดแสดงระหว่างวันที่ ๒ กันยายน ๒๕๖๐ - ๗ มกราคม ๒๕๖๑ ณ ห้องนิทรรศการหลัก ชั้น ๙ หอศิลป-วัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8 - 11 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว