สืบสานงานผ้าไทย ... การถ่ายทอดอันล้ำค่า ใน “ภาพจิตรกรรมชุมนุมเทวดาฉากปิดถาวร” ประกอบ “พระเมรุมาศ”

06 ต.ค. 2560 | 02:43 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

[caption id="attachment_216397" align="aligncenter" width="276"] ฉากปิดถาวรประกอบพระเมรุมาศด้านทิศใต้ ฉากปิดถาวรประกอบพระเมรุมาศด้านทิศใต้[/caption]

“ผมตั้งใจแล้วว่า มีอะไรที่ทำเพื่อถวายพระองค์ได้ ผมพร้อมที่จะทำทุกอย่าง”

[caption id="attachment_216398" align="aligncenter" width="270"] ฉากปิดถาวรประกอบพระเมรุมาศด้านทิศเหนือ ฉากปิดถาวรประกอบพระเมรุมาศด้านทิศเหนือ[/caption]

ณ โรงเขียนภาพจิตรกรรมฉากบังเพลิงประกอบพระเมรุมาศ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” ซึ่งคราคร่ำไปด้วยข้าราชการกรมศิลปากรและจิตอาสาจากทั่วทุกสารทิศ มุ่งหน้ามาเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการทำงานครั้งยิ่งใหญ่ถวายเป็นครั้งสุดท้ายแด่พระมหากษัตริย์ผู้ทรงเป็นที่รักยิ่งของปวงชนชาวไทย “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ซึ่งหนึ่งในจิตอาสาผู้เป็นกำลังใจสำคัญให้กับคณะจิตอาสาในโรงเขียนภาพแห่งนี้ คือ คุณชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ ๒๐ ของไทย

[caption id="attachment_216396" align="aligncenter" width="503"] เกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ เกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์[/caption]

คุณเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผู้ออกแบบฉากบังเพลิงด้านหลัง เล่าให้เราฟังว่า จากจุดเริ่มต้นของการลงสีภาพชุมนุมเทวดาในจิตรกรรมฉากปิดถาวรประกอบพระเมรุมาศ ทั้ง ๔ ทิศ ของคุณชวน หลีกภัย เกิดเป็นแรงบันดาลใจในการนำ “ลายผ้า” ในแต่ละภาค ซึ่งได้รับการฟื้นฟูและการพัฒนาโดยโครงการส่งเสริมศิลปาชีพในพระราชดำริ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เข้ามาแทรกในรายละเอียดของพัสตราภรณ์ของเหล่าเทวดานางฟ้า การศึกษาลายผ้าของภาคต่าง ๆ ในประเทศไทย ร่วมกับอาจารย์ชีพ ดิสโร นายช่างศิลปกรรมอาวุโส สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร และคุณประยูร หนูสิน จิตอาสาผู้เชี่ยวชาญด้านการวาดผนังโบสถ์จาก จ.พัทลุง จากตำราลายผ้าไทยเกิดเป็นลายละเอียดที่อ่อนช้อย งดงามหลอมรวมพระราชกรณียกิจของ “สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ” เคียงคู่พระจิตกาธาน ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ และเอกลักษณ์ความเป็นไทยอย่างงดงาม

[caption id="attachment_216387" align="aligncenter" width="503"] ประยูร หนูสิน ประยูร หนูสิน[/caption]

ฉากปิดถาวรประกอบพระเมรุมาศด้านทิศตะวันออก โดดเด่นด้วยลายผ้าแพรวาและผ้าขาวม้าเอกลักษณ์ของภาคอีสาน สไบของเหล่านางฟ้าพลิ้วไหวเงางามดุจไหมแพรอันอ่อนนุ่ม ดอกไม้ร่วงที่โปรยปรายจากสรวงสวรรค์ มีดอกยางนา ซึ่งร่วงหล่นเต็มท้องทุ่งภาคอีสาน ร่วมกับดอกไม้มงคลจากฟากฟ้า

[caption id="attachment_216395" align="aligncenter" width="503"] ชวน หลีกภัย ชวน หลีกภัย อดีตนายกรัฐมนตรี[/caption]

ฉากปิดถาวรประกอบพระเมรุมาศด้านทิศตะวันตก ผ้านุ่งของเหล่าเทวดานางฟ้าได้รับการประยุกต์ลวดลายราชสำนักแบบโบราณกับลายผ้าแบบสมัยใหม่ เกิดเป็นความร่วมสมัยที่สื่อสารแนวคิด “สืบสานและสร้างสรรค์” ของจิตรกรผู้ลงรายละเอียดในผ้าแต่ละผืน ดอกไม้ร่วงจากสวรรค์ชั้นฟ้า ในฉากทิศนี้แทรกด้วยดอกจามจุรีและดอกชัยพฤกษ์

[caption id="attachment_216389" align="aligncenter" width="503"] ลายผ้านุ่งภาคกลาง ลายผ้านุ่งภาคกลาง[/caption]

ฉากปิดถาวรประกอบพระเมรุมาศด้านทิศเหนือ ผ้านุ่งของเหล่านางฟ้าและเทวดาถักทออย่างมีมิติ ด้วยลวดลายของผ้าลายไทยลื้อ ผ้าลายน้ำไหล รวมถึงลายผ้าที่ผสมผสานเอกลักษณ์ของแต่ละจังหวัดในภาคเหนือ สำหรับดอกไม้ร่วงนั้น จิตรกรได้ถอดเอารูปแบบของดอกทองกวาว ดอกไม้ประจำ จ.เชียงใหม่ และดอกเสี้ยวดอกไม้ประจำ จ.น่าน เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของดอกไม้ทิพย์

[caption id="attachment_216391" align="aligncenter" width="503"] ลายผ้านุ่งภาคใต้ ลายผ้านุ่งภาคใต้[/caption]

ฉากปิดถาวรประกอบพระเมรุมาศด้านทิศใต้ นับเป็นจุดเริ่มต้นของการนำแนวคิดด้านลายผ้ามาประดับเป็นลวดลายผ้านุ่งของภาพจิตรกรรมชุมนุมเทวดา โดดเด่นด้วยลายผ้าทอนาหมื่นศรีจาก จ.ตรัง ผ้ายกดอกเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นลวดลายราชสำนักโบราณ ผ้าลายดอกพยอมสีม่วงอ่อนของ จ.พัทลุง ผ้าไหมพุมเรียงของ จ.สุราษฎร์ธานี ผ้าทอเกาะยอของ จ.สงขลา และผ้าปาเต๊ะสีสันสดใสเอกลักษณ์ของคนใต้ สไบนางฟ้างดงามด้วยลวดลายของผ้าบาติก หลอมรวมกับดอกตรีตรังและดอกพยอม ที่หล่นโปรยปรายจากสรวงสวรรค์

[caption id="attachment_216393" align="aligncenter" width="503"] ลายผ้านุ่งภาคเหนือ ลายผ้านุ่งภาคเหนือ[/caption]

สำหรับฉากบังเพลิงด้านใน คุณเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ ผู้ออกแบบ ได้รังสรรค์เป็นพุ่มดอกมณฑาทิพย์ ที่ลอยเหนือกลุ่มเมฆ ส่องประกายด้วยสีเหลืองทอง ที่บรรจงไล่เฉดสี สะท้อนรับกับแสงเกิดเป็นมิติภาพที่งดงาม งานศิลปะที่รังสรรค์ขึ้น มิใช่เพียงการทำเพราะเป็นหน้าที่ แต่คือ การทำด้วยหัวใจที่จงรักและภักดีอย่างแท้จริง เกิดเป็นความร่วมมือที่แข็งแกร่ง ร่วมรับฟัง หลอมองค์ความรู้ที่หลั่งไหลมาจากทั่วทุกสารทิศ เกิดเป็นงานจิตรกรรมที่สะท้อนหัวใจรักและความเป็นไทยอย่างแท้จริง ในงานจิตรกรรมฉากบังเพลิงและฉากปิดถาวรประกอบพระเมรุมาศ

[caption id="attachment_216394" align="aligncenter" width="503"] ลายผ้านุ่งภาคอีสาน ลายผ้านุ่งภาคอีสาน[/caption]

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8-11 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว