ความงดงามที่ถ่ายทอดจากหัวใจ... “ฉากบังเพลิง” เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙”

06 ต.ค. 2560 | 02:28 น.
MP25-3303-2A

ฉากบังเพลิง ขนาดความสูง ๔ เมตร กว้าง ๖ เมตร ทั้ง ๔ ทิศ และแต่ละด้านได้รับการรังสรรค์อย่างวิจิตรบรรจง ถ่ายทอดความจงรักภักดีผ่านลายเส้นและสีสัน รวมถึงความรู้สึกจากก้นบึ้งหัวใจของจิตรกร ... ฉากบังเพลิง เนื่องในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” หลายสิบชีวิต

MP25-3303-1A

ฉากบังเพลิงด้านหน้า งดงามตราตรึงใจ ด้วยการออกแบบภายใต้แนวคิดนารายณ์อวตาร ซึ่งหลอมรวมกับความเชื่อเรื่องสมมติเทพ ที่เป็นรากฐานทางศิลปวัฒนธรรมและประเพณีไทยมาอย่างยาวนาน โดย คุณมณเฑียร ชูเสือหึง จิตรกรเชี่ยวชาญ และคุณเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ จิตรกรชำนาญการพิเศษ กลุ่มจิตรกรรม สำนักช่างสิบหมู่ กรมศิลปากร ผ่านการนำคัดสรรเรื่องราวนารายณ์อวตาร ฉบับพระราชนิพนธ์ใน รัชกาลที่ ๖ จำนวน ๘ ปาง แวดล้อมด้วยเหล่าเทวดา นางฟ้า ที่พร้อมใจมาชุมนุมรับ “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร” คืนกลับสู่สรวงสวรรค์

[caption id="attachment_216369" align="aligncenter" width="503"] นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธร[/caption]

สำหรับทิศตะวันตก ซึ่งหันหน้าเข้าพระที่นั่งทรงธรรม ที่ประทับ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” ในการประกอบพระราชพิธีฯ คือ พระนารายณ์ปางกัลยาวตาร อวตารเป็นมนุษย์หรือบุรุษขี่ม้าขาว และกฤษณาวตาร อวตารเป็นพระกฤษณะ กรอบด้านล่างถ่ายทอดโครงการพระราชดำริหมวดลม ... ฉากบังเพลิงด้านทิศใต้ ถ่ายทอดพระนารายณ์ปางรามาวตาร อวตารเป็นมนุษย์ชื่อ พระราม หรือ พระรามในเรื่องรามเกียรติ์ และปรศุรามาวตาร อวตารเป็นพราหมณ์ชื่อ ปรศุรา ถือขวาน กรอบด้านล่างถ่ายทอดโครงการพระราชดำริหมวดไฟ ... ฉากบังเพลิงด้านทิศตะวันออก ออกแบบเป็นพระนารายณ์ปางนรสิงหาวตาร อวตารเป็นนรสิงครึ่งคน และปางวราหาวตาร อวตารเป็นหมูป่ามีเขี้ยวเป็นเพชร กรอบด้านล่างถ่ายทอดโครงการพระราชดำริหมวดดิน และฉากบังเพลิงด้านทิศเหนือ ถ่ายทอดเป็นพระนารายณ์ปางกูมาวตาร อวตารเป็นเต่าทอง และปางมัสยาวตาร อวตารเป็นปลากรายทอง กรอบด้านล่างถ่ายทอดโครงการพระราชดำริหมวดน้ำ นำเสนอรูปแบบจิตรกรรมในสมัย “รัชกาลที่ ๙” ซึ่งให้สัดส่วนทางกายภาพและสีสัน ให้มีความคล้ายกับธรรมชาติของมนุษย์ โดดเด่นด้วยการใช้ทองคำเปลวประดับในองค์ประกอบภาพ ซึ่งเป็นเครื่องถนิมพิมพาภรณ์ทั้งหมด

[caption id="attachment_216370" align="aligncenter" width="503"] นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรตัวที่ ๘๙ กำลังหลั่งนํ้าตา นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรตัวที่ ๘๙ กำลังหลั่งนํ้าตา[/caption]

ในส่วนของฉากบังเพลิงด้านหลัง ซึ่งอยู่ด้านในหันหน้าเข้าพระจิตกาธานนั้น ได้รับการออกแบบโดย คุณเกียรติศักดิ์ สุวรรณพงศ์ สง่างามและโดดเด่นด้วยพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. บนพื้นสีน้ำเงิน ประดับลวดลายดอกดาวเรือง ดอกไม้สีเหลืองสว่าง สีประจำพระองค์ “รัชกาลที่ ๙” และมีสีพื้นหลัก คือ สีส้ม ซึ่งผู้ออกแบบได้นำสีประจำวันพฤหัสบดี ซึ่งเป็นวันสวรรคตมาเป็นแรงบันดาลใจการออกแบบฉากบังเพลิงในทิศเหนือและทิศใต้ สำหรับทิศตะวันออกและทิศตะวันตก พระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร. ประดับลวดลายดอกราชพฤกษ์ ดอกไม้ประจำชาติไทย สีเหลืองอร่าม มีสีพื้นหลัก คือ สีชมพู หนึ่งในสีทรงโปรดของ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” โอบล้อมด้วยกรอบดอกไม้ทิพย์และดอกไม้มงคล เฟื่องอุบะ เขียนลายดอกไม้สวรรค์ที่ชื่อ ดอกมณฑาทิพย์ กรอบด้านล่างบรรจงถ่ายทอดกลุ่มดอกบัวสวรรค์สีชมพูสด

[caption id="attachment_216373" align="aligncenter" width="376"] ดอกมณฑาทิพย์ เลข ๙ ดอกมณฑาทิพย์ เลข ๙[/caption]

แทรกสัญลักษณ์พระราชกรณียกิจของ “ในหลวง รัชกาลที่ ๙” ด้วยกลุ่มกอของพันธุ์ข้าวพระราชทาน หญ้าแฝก ฝนหลวงที่หยาดลงมาเพิ่มความอุดมสมบูรณ์และความชุ่มฉ่ำให้แก่แผ่นดิน สะท้อนความบริบูรณ์ของท้องน้ำด้วยปลานิลกว่า ๑๕๙ ตัว และเชื่อมต่อความสุขสมบูรณ์สูงสุดของแหล่งน้ำด้วยพญานาค ซึ่งวาดลวดลายและลงสีอย่างวิจิตรบรรจง ขดเลื้อยในกลุ่มบัวสวรรค์เป็นเลข ๘ และเลข ๙ ทั้งหมดกว่า ๑๕๙ ตัว สัญลักษณ์แทนองค์ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร” พระมหากษัตริย์ “รัชกาลที่ ๑๐” ของปวงชนชาวไทย ซึ่งถือประสูติในปีมะโรง

[caption id="attachment_216371" align="aligncenter" width="503"] พญานาคและปลานิล พญานาคและปลานิล[/caption]

องค์ประกอบสุดท้าย ซึ่งหลอมรวมหัวใจของจิตรกรผู้ถ่ายทอดความรู้สึกผ่านปลายพู่กัน ในฐานะตัวแทนความรู้สึกของคนไทยทั้งประเทศ คือ นกเจ้าฟ้าหญิงสิรินธรหลั่งน้ำตา จำนวน ๙ ตัว จากนกทั้งหมด ๘๙ ตัว ซึ่งตัวที่ ๘๙ กำลังหลั่งน้ำตาอยู่ในกรอบดอกไม้ทิพย์เคียงข้างพระปรมาภิไธยย่อ ภ.ป.ร.

MP25-3303-3A

ความงดงามที่ปรากฏแฝงด้วยรายละเอียดความรู้สึกที่กลั่นลึกจากหัวใจ หลอมรวมผ่านพลังที่ยิ่งใหญ่ของจิตรกร ... “ฉากบังเพลิงใน รัชกาลที่ ๙”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,303 วันที่ 8-11 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว