พบ2ปมใหญ่ ปัญหาอุตสาหกรรม 4.0

04 ต.ค. 2560 | 12:36 น.
สอศ. - ส.อ.ท. ผนึกเชฟรอน เปิดผลวิจัยเชิงลึก “กับดักปัญหาขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0” เผย 75% ของผู้ประกอบการไทยยังใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าระดับ 2.5 โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมกลาง - เล็ก ทั้งเผชิญวิกฤตขาดแคลนช่างเทคนิคทักษะขั้นสูง เสนอ 3 แนวทางแก้ปัญหาเร่งด่วน เผยการศึกษาสะเต็มเป็นพื้นฐานสำคัญในการยกระดับภาคอุตสาหกรรมไทย

นายอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เปิดเผยว่า จากที่โครงการ Chevron Enjoy Science: สนุกวิทย์ พลังคิด เพื่ออนาคต ได้ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) ทำงานวิจัยเชิงลึกเกี่ยวกับ “ปัญหา - ความท้าทายการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทย 4.0” โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อศึกษาถึงปัญหาและอุปสรรค รวมถึงแนวทางแก้ไขนำเสนอต่อภาครัฐและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อช่วยยกระดับอุตสาหกรรมไทยให้มีศักยภาพสอดคล้องตามยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ของรัฐบาล

โครงการฯ ได้มอบหมายให้ “Chisholm Institute Australia” ทำการวิจัยในรูปแบบสัมภาษณ์เชิงลึกและวิเคราะห์ข้อมูลจากทั้งในและต่างประเทศ ซึ่งจากผลวิจัยพบว่า ปัจจัยสำคัญที่เป็นอุปสรรคในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยคือ 75% ของผู้ประกอบการไทยยังใช้เทคโนโลยีต่ำกว่าระดับ 2.5 โดยเฉพาะกลุ่มผู้ประกอบการขนาดกลาง - เล็ก เพราะถูกจำกัดด้วยปัจจัยทางค่าใช้จ่ายทำให้ไม่สามารถลงทุนในเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้

“ผู้ประกอบการที่สามารถก้าวสู่ยุค 4.0 ได้ ส่วนใหญ่เป็นธุรกิจขนาดใหญ่ แต่ขณะเดียวกันก็ยังประสบปัญหา          ขาดแคลนช่างเทคนิครุ่นใหม่จำนวนมาก ที่มีทักษะในการปฏิบัติงาน ทั้งด้านแมคคาทรอนิกส์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีวัสดุ เป็นต้น อีกทั้งยังขาดวินัย (soft skill) ที่เอื้อต่อการทำงานอีกด้วย” นายอาทิตย์กล่าว

งานวิจัยชิ้นนี้เป็นส่วนหนึ่งของโครงการฯ ซึ่งขณะนี้เข้าสู่ปีที่ 3 แล้ว โดยมุ่งพัฒนาครูผู้สอนและบุคลากรสายอาชีพ ด้วยการเติมพื้นฐานด้านสะเต็มผ่านศูนย์การศึกษาเพื่อพัฒนาทักษะอาชีพ (TVET Hub) เพราะบุคลากรเหล่านี้คือฟันเฟืองสำคัญในการขับเคลื่อนภาคอุตสาหกรรมที่เป็นตัวชี้วัดศักยภาพทางเศรษฐกิจในอนาคต

ด้าน ดร. ประชาคม จันทรชิต รองเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า งานวิจัย  ชิ้นนี้ช่วยสะท้อนปัญหาภาคอุตสาหกรรมและอาชีวศึกษาของไทย ขณะเดียวกันยังตอบโจทย์การทำงานของ สอศ. ในการพัฒนาหลักสูตรสร้างบุคลากรสายวิชาชีพให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ไทยแลนด์ 4.0 ทั้งนี้ สอศ. ได้จัดทำยุทธศาสตร์ 20 ปี เพื่อยกระดับอาชีวศึกษาของไทยสู่การเป็นอาชีวะระดับสากล ภายใต้หลักการสำคัญ อาทิ การผลิตและพัฒนาคนที่มีคุณภาพและเพียงพอต่อความต้องการพัฒนาประเทศ ส่งเสริมความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการจัดการอาชีวศึกษา ส่งเสริมสมรรถนะด้านเทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงผลิตและพัฒนาครูอาชีวศึกษาให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ซึ่งถือว่าสอดคล้องกับสิ่งที่โครงการ Chevron Enjoy Science ดำเนินการอยู่หลายเรื่อง

ดังนั้น สอศ. จึงมั่นใจว่าความร่วมมือกับโครงการฯ จะช่วยสนับสนุนให้ สอศ. สามารถขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ได้อย่าง  มีประสิทธิภาพมากขึ้น และเชื่อว่าการที่ภาคเอกชนเข้ามามีส่วนร่วมในการวิจัยครั้งนี้จะเป็นการเร่งผลักดันให้ประเทศก้าวสู่ไทยแลนด์ 4.0 ได้เร็วยิ่งขึ้น

aa ขณะที่นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า จากผลวิจัยของโครงการฯ มีความสอดคล้องกับข้อมูลของ ส.อ.ท. ดังนั้นจึงมีข้อเสนอร่วมกันว่า 5 ปีต่อจากนี้ ภาครัฐควรมุ่งเน้นสนับสนุนผู้ประกอบการโดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมกลาง - เล็ก ควบคู่กันใน 3 ด้าน ได้แก่ 1. การให้ข้อเสนอจูงใจผู้ประกอบการลงทุนเทคโนโลยีที่ทันสมัยมากขึ้น  2. การพัฒนาคลัสเตอร์อุตสาหกรรม 4.0 อย่างจริงจัง 3. สนับสนุนการพัฒนาฝึกอบรมด้านสะเต็มและเทคนิคเพื่อเร่งพัฒนาทักษะแรงงานให้ไล่ทันเทคโนโลยี ซึ่งจะเห็นว่าปัจจุบันบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งมีการจัดตั้งสถาบันการเรียนรู้ของตนเองเพื่อผลิตบุคลากรให้มีทักษะตรงความต้องการมากที่สุด

“สิ่งที่โครงการ Chevron Enjoy Science ทำอยู่เป็นการช่วยแก้ไขปัญหาเหล่านี้ได้ผ่านการสร้างความร่วมมือระหว่างครูวิทยาลัยเทคนิคกับภาคอุตสาหกรรม ทำให้ครูรู้ความต้องการและเข้าใจในเทคโนโลยีที่ภาคอุตสาหกรรมใช้ได้ตรงจุด และ ส่งเสริมสะเต็มศึกษาแบบบูรณาการให้แก่นักเรียนในระดับอาชีวะ เพื่อให้เด็กมีความรู้ความเข้าใจด้านสะเต็มที่สามารถแก้โจทย์ปัญหาพัฒนาโครงงานได้ดียิ่งขึ้น ซึ่งทักษะด้านสะเต็มถือเป็นพื้นฐานสำคัญของภาคอุตสาหกรรมปัจจุบัน”

นายเจน กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันความเชื่อมั่นและความสนใจของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อประเทศไทยยังคงมีอย่างต่อเนื่อง ด้วยนโยบายส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ การนำเสนอพื้นที่ทางเศรษฐกิจอย่างพื้นที่โครงการอีอีซี อย่างไรก็ตาม ปัญหาขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะยังคงเป็นอุปสรรค ซึ่งหากเรายังไม่สามารถก้าวผ่านความท้าทายนี้ไปได้อาจส่งผลให้เกิดการชะลอการลงทุนได้ ดังนั้นภาครัฐจึงควรประสานความร่วมมือกับภาคเอกชนในการเร่งปฏิรูประบบการศึกษา โดยเฉพาะการผลิตแรงงานวิชาชีพรองรับอุตสาหกรรมเป้าหมายตามนโยบายให้เท่าทันและเพียงพอความต้องการ โดยข้อเสนอแนะเชิงนโยบายฉบับนี้จะถูกส่งมอบให้แก่หน่วยงานภาครัฐที่ขับเคลื่อนทางด้านการศึกษาเพื่อเป็นการนำเสนอแนวทางในการกำหนดหลักสูตรที่เหมาะแก่การพัฒนาทักษะบุคลากรเพื่อผลิตแรงงานที่มีคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงานในอนาคต พร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ยุคอุตสาหกรรม 4.0 ได้อย่างยั่งยืน