ก.ล.ต.ชี้สมาชิก PVD ออมน้อย ลงทุนเสี่ยงต่ำ เงินไม่พอใช้หลังเกษียณ

04 ต.ค. 2560 | 10:26 น.
ก.ล.ต.กระตุ้นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพมีเงินออมพอใช้วัยเกษียณ หลังพบลูกจ้างกว่า 50% มีเงินก้อนในวันเกษียณไม่ถึง 1 ล้านบาท ต่ำกว่าผลวิจัยระบุควรมีอย่างน้อย 2.1 – 3.3 ล้านบาท ชี้ปัญหาออมน้อย ลงทุนเสี่ยงต่ำ ดอกผลน้อย

นายรพี สุจริตกุล เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทเอกชนที่มีการจัดตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ( PVD) ซึ่งเป็นการออมภาคสมัครใจในระบบมีประมาณ 17,000 บริษัท หรือคิดเป็น 2.8% โดยมีสมาชิกหรือลูกจ้างเพียง 3 ล้านคน หรือ 21.5% ของแรงงานในระบบที่มีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ทั้งที่กองทุนจัดตั้งมานานถึง 30 ปี

นอกจากนี้ ผลสำรวจพบว่า 50% ของจำนวนสมาชิกทั้งหมด มีเงินก้อนในวันเกษียณไม่ถึง 1 ล้านบาท ซึ่งงานวิจัยระบุว่า หากต้องการมีเงินใช้จ่ายอย่างเพียงพอสำหรับใช้ชีวิตหลังเกษียณ ต้องมีเงินอย่างน้อย 2.1 – 3.3 ล้านบาท

"ปัจจุบันลูกจ้างมีอัตราเงินสะสมเข้ากองทุนค่อนข้างน้อยหรือเฉลี่ยอยู่ที่ 4-5% จึงไม่พอสำหรับการเกษียณ ซึ่งระดับที่เพียงพอควรอยู่ที่ 15% อีกทั้งพบว่าลูกจ้างเลือกแผนลงทุนที่ได้ผลตอบแทนที่ต่ำอยู่ในพันธบัตรมากกว่า 84% และอยู่ในหุ้นเพียง 16% สะท้อนให้เห็นว่าออมน้อยและลงทุนไม่เป็น ทำให้มีเงินไม่พอใช้วัยเกษียณ หรือมีเงินออมไม่ถึง 3 ล้านบาท ซึ่งเป็นระดับที่นักวิชาการทำวิจัยออกมาว่า เป็นเงินออมขั่นต่ำที่เพียงพอใช้ชีวิตหลังเกษียณ"นายรพี กล่าว

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1 อย่างไรก็ตามก.ล.ต.มีเป้าหมายผลักดันให้บริษัทเอกชนหรือนายจ้างเพิ่มสวัสดิการด้วยการตั้งกองทุนสำรองเลี้ยงชีพให้มากขึ้น แม้จะเป็นต้นทุนที่สูงขึ้น แต่เชื่อว่านายจ้างจะได้ประโยชน์ เพราะสวัสดิการเหล่านี้ทำให้ลูกจ้างทุ่มเทและสร้างประโยชน์ให้กับบริษัทมากขึ้น ขณะเดียวกันระบบภาษีเอื้อต่อการจัดตั้งกองทุนโดยได้ประโยชน์ 3 ต่อ ทั้งลูกจ้างและนายจ้าง

นอกจากนี้ต้องส่งเสริมให้คณะกรรมการกองทุนสำรองเลี้ยงชีพของแต่ละบริษัท เพิ่มทางเลือกการลงทุนที่หลากหลายให้กับลูกจ้าง โดยไม่จำกัดอยู่การลงทุนที่มีความเสี่ยงต่ำ หรือ ตราสารหนี้อย่างเดียว ซึ่งหนึ่งในทางเลือกที่แนะนำคือกองทุนที่มีนโนบายลงทุนปรับความเสี่ยงตามอายุ หรือ Life path ซึ่งจะลงทุนสินทรัพย์เสี่ยงสูงในช่วงอายุน้อยและปรับลดสัดส่วนลง เพื่อไปลงทุนในสินทรัพย์เสี่ยงต่ำ เมื่ออายุมากขึ้น

ทั้งนี้ ก.ล.ต. ได้จัดงาน “SEC Retirement Savings Symposium 2017” ขึ้นในวันที่ 4 ต.ค.นี้ ในโอกาสครบรอบ 25 ปี เพื่อให้ความรู้และกระตุ้นนายจ้าง-ลูกจ้างที่เป็นสมาชิกกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ (PVD) ตระหนักถึงความสำคัญของการออมและวางแผนการเงินการลงทุนอย่างถูกวิธี เพื่อสร้างความมั่นคงด้านการเงินหลังเกษียณ ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในช่วงกำลังก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุอย่างสมบูรณ์ในปี 2568 ซึ่งจะมีผู้สูงอายุเป็นจำนวน 20% ของประชากรทั้งหมด ดังนั้น การออมเงินเพื่อให้มีใช้จ่ายอย่างเพียงพอหลังเกษียณจึงเป็นเรื่องที่สำคัญ

นอกเหนือจากกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคสมัครใจแล้ว ปัจจุบันภาครัฐพยายามผลักดันกฎหมายกองทุนสำรองเลี้ยงชีพภาคบังคับ โดยกำหนดให้ลูกจ้างและนายจ้างสมทบเงินฝ่ายละ 3% คาดว่าจะเริ่มบังคับใช้ในปี2561 ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1