แบงก์ตั้งศูนย์สู้ภัยไซเบอร์

07 ต.ค. 2560 | 09:52 น.
รัฐผนึกพลังแบงก์พาณิชย์ จัดตั้งศูนย์ TB-CERT รับมือภัยในโลกไซเบอร์ ป้องกันโจรกรรมช่องทางดิจิตอล เพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ใช้บริการ

เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และธนาคารสมาชิก 15 แห่ง และการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (สพธอ.)ในการจัดตั้งศูนย์ประสานงานการรักษาความมั่นคงปลอดภัยเทคโนโลยีสารสนเทศภาคการธนาคาร (Thailand Banking Sector CERT) (TB-CERT) เพื่อส่งเสริมให้ภาคสถาบันการเงินเกิดความร่วมมือยกระดับการดูแลด้านความปลอดภัยระบบเทคโนโลยีสารสนเทศและเตรียมความพร้อมกับภัยคุกคามไซเบอร์ ซึ่งสอดรับกับการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการบริการทางการเงินอย่างกว้างขวาง

[caption id="attachment_164129" align="aligncenter" width="335"] สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ. สุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.[/caption]

นางสาวสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สพธอ. กล่าวว่าไทยมีการจัดทำระบบ Thai CERT มาแล้ว 10 ปี แต่เพิ่งเริ่มทำงานกันอย่างจริงจังในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา หากเทียบกับทั่วโลกที่มีกว่า 370 CERT ในทุกภาคส่วน แต่ในไทยเริ่มขยายความร่วมมือในกลุ่มสถาบันการเงินเป็นแห่งแรก และจะพยายามผลักดันให้เกิดในทุกภาคส่วน เพราะทุกภาคส่วนมีความเชื่อมโยงกัน และมีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจและประเทศ

ข้อมูล Thai CERT จะพบว่าภัยไซเบอร์เกิดขึ้นและเพิ่มขึ้นทุกวัน โดยภัยคุกคามหลักๆ จะมีอยู่ 2-3 ตัว อาทิ มัลแวร์ค่าไถ่ การหลอกลวงว่าติดต่อจากธนาคารพาณิชย์ (ฟิชชิ่ง) เพื่อให้ทำธุรกรรมการเงินหรือบอกข้อมูลและภัยอื่นๆ
สพธอ.พบว่ามีการโจมตีระบบวันละหลายร้อยครั้งต่อวัน เนื่องจากเป็นองค์กรใหญ่ หากสามารถโจมตีได้จะเหมือนพิสูจน์ความสามารถของแฮกเกอร์ และเชื่อว่าสถาบันการเงินเองก็น่าจะถูกโจมตีไม่น้อยเช่นกัน แต่ภายหลังจากตั้งศูนย์ TB-CERT เชื่อว่าจะช่วยลดการโจมตีภัยทางไซเบอร์ได้

[caption id="attachment_195623" align="aligncenter" width="503"] tp-3288-rr รณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท.[/caption]

นายรณดล นุ่มนนท์ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายกำกับสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า การรับมือภัยไซเบอร์เป็น 1 ในแผนยุทธศาสตร์ 3 ปีของธปท.หลังจากนี้ที่กำหนดเป็นกรอบ โดยมีอยู่ 4 มิติที่ให้ความสำคัญ คือ การเฝ้าระวัง (E-Tect) ป้องกัน (Protect) การรับมือ (Respond) และการกู้กลับคืนมา (Recovery)

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวว่า ประโยชน์ของลูกค้าและผู้ใช้บริการหรือประชาชนภายหลังจากตั้งศูนย์ TB-CERT หากมีความเสียหายเกิดขึ้นของระบบ จะทำให้ผู้ใช้ไม่กล้าที่จะทดลองเทคโนโลยีใหม่ๆ ซึ่งปัจจุบันจะเห็นว่ามีเทคโนโลยีเกิดใหม่ค่อนข้างมาก ดังนั้นหากมีศูนย์กลางการป้องกันความเสียหายจะช่วยให้ประชาชนกล้าใช้และกล้าทำธุรกรรมมากขึ้น ซึ่งศูนย์นี้จะเป็นระบบคอยป้องกันตั้งแต่ต้นจนจบ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1