เช็คเครื่องยนต์ EEC พร้อมขับเคลื่อนแล้วหรือยัง?

07 ต.ค. 2560 | 12:05 น.
ในงานเสวนา“เช็คเครื่องยนต์ EEC พร้อมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0?”จัดโดยสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย(ทีดีอาร์ไอ) เมื่อวันที่ 2 ตุลาคมที่ผ่านมา โดยมีวิทยากรประกอบด้วยนายสมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม นายปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการ หอการค้าไทย นายชูลิต วัชรสินธุ์ กรรมการบริหารบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัดและนายเดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ได้มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นถึงนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออกหรืออีอีซี ที่รัฐบาลกำลังขับเคลื่อนอยู่ในเวลานี้ไว้อย่างน่าสนใจ

[caption id="attachment_215697" align="aligncenter" width="333"] สมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม สมชาย หาญหิรัญ ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม[/caption]

-ออกทีโออาร์พีพีพีสิ้นปีนี้
นายสมชาย สะท้อนให้เห็นว่าขณะนี้การขับเคลื่อนอีอีซีเดินหน้าไปมากแล้ว โดยเฉพาะ 5 โครงการหลักด้านโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ การพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาให้เป็นเมืองการบินภาคตะวันออก การก่อสร้างท่าเรือมาบตาพุด ระยะที่ 3 การก่อสร้างท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 รถไฟความเร็วสูง และมอเตอร์เวย์ มีความคืบหน้าไปมาก ซึ่งคาดว่าจะออกทีโออาร์ตามกระบวนการในการร่วมลงทุนกับเอกชนหรือให้เอกชนเป็นผู้ลงทุน(พีพีพี) ได้ก่อนสิ้นปีนี้ และจะพัฒนาให้แล้วเสร็จภายใน 5-7 ปี ถือเป็นก้าวแรกในการพัฒนาอีอีซีของรัฐบาล

ขณะที่การเชิญชวนนักลงทุนล่าสุดที่คณะนักธุรกิจญี่ปุ่นเดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในช่วงเดือนกันยายน ที่ผ่านมากว่า 500 รายนั้น ก็ได้รับเสียงตอบกว่าครึ่งหนึ่งที่สนใจจะมาลงทุน และบางรายแสดงเจตจำนงจะเข้าร่วมพีพีพีด้วยซึ่งพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี สั่งกำชับให้ไปดูอะไรที่ยังไม่เรียบร้อย หรือต้องปรับปรุงแก้ไข ก็ให้เร่งดำเนินการ เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นของนักลงทุน โดยที่ผ่านมาก็มีหลายโครงการของอุตสาหกรรมเป้าหมายมีการลงนามเอ็มโอยูลงทุนไปแล้ว ซึ่งข้อเสนอของทีดีอาร์ไอในเรื่องการพัฒนาทักษะด้านแรงงานในการรองรับ ก็ได้มีการร่วมมือกับกระทรวงศึกษาธิการไปแล้ว

[caption id="attachment_215700" align="aligncenter" width="503"] ปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย ปรัชญา สมะลาภา รองประธานกรรมการหอการค้าไทย[/caption]

-จี้คลอดกฎหมายอีอีซี
นายปรัชญา กล่าวว่า ในส่วนของนักลงทุนต้องการเห็นความชัดเจนของพ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกออกมาบังคับใช้หากสามารถประกาศใช้ภายในสิ้นปีนี้ได้ จะเห็นการตื่นตัวของนักลงทุนค่อนข้างมาก เพราะคณะกรรมการนโยบายการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน จะมีอำนาจค่อนข้างมาก คล้ายกับคณะรัฐมนตรี และสามารถกำหนดเขตส่งเสริมพิเศษ ที่จะทำให้นักลงทุนตัดสินใจเข้าไปลงทุนได้

นอกจากนี้นักลงทุนต้องการให้ภาครัฐเร่งพัฒนาแรงงานที่มีทักษะในการรองรับโครงการต่างๆ และอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเกิดขึ้นมา ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษาของไทยใหม่ไม่ใช่อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

[caption id="attachment_215698" align="aligncenter" width="503"] ชูลิต วัชรสินธุ์ กรรมการบริหารบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด ชูลิต วัชรสินธุ์ กรรมการบริหารบริษัทปัญญา คอนซัลแตนท์ จำกัด[/caption]

-ยันนํ้าในประเทศเพียงพอ
ส่วนปัญหาเรื่องการขาดแคลนนํ้าในพื้นที่ภาคตะวันออกที่หลายฝ่ายเป็นห่วงนั้นนายชูลิต สะท้อนให้เห็นว่า ขณะนี้ภาครัฐยังไม่มีความชัดเจนในการบริหารจัดการนํ้าที่จะมาป้อนอีอีซีในระยะ 10-15 ปีข้างหน้า ซึ่งการจะผันนํ้าจากโครงการสตึงมนัม ที่อยู่ชายแดนกัมพูชาในปริมาณ 300 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปีมานั้น ไม่เห็นด้วย เพราะมีค่าใช้จ่ายสูงลงทุนไม่คุ้มค่า เมื่อเทียบกับการพัฒนาหาแหล่งนํ้าในประเทศเอง ซึ่งมองว่าการผันนํ้าจากกลุ่มลุ่มนํ้าวังโตนด กลุ่มลุ่มนํ้าจันทบรี และกลุ่มลุ่มนํ้าตราด และลุ่มนํ้าบางปะกงสามารถรองรับความต้องการนํ้าที่เกิดในพื้นที่อีอีซีได้

[caption id="attachment_215699" align="aligncenter" width="503"] เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เดชรัต สุขกำเนิด อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์[/caption]

-ต้องสร้างความไว้วางใจ
นายเดชรัต กล่าวว่า ในมุมมองของนักวิชาการเห็นว่า การพัฒนาเชิงพื้นที่ของอีอีซี โดยเฉพาะการวางผังเมือง จะต้องให้ประชาชนในพื้นที่เข้ามามีส่วนร่วม ให้เกิดการได้รับความไว้วางใจว่า จะไม่มีผลกระทบต่อชุมชน และต้องชี้ให้เห็นว่าประชาชนในพื้นที่จะได้อะไรจากการพัฒนาอีอีซี เพราะที่ผ่านมาในการพัฒนาอีสเทิร์นซีบอร์ด ประชาชนในพื้นที่ได้รับบทเรียนมาแล้ว

โดยส่วนตัวมีข้อเสนออยากจะให้ภาครัฐประกาศพื้นที่เขตอนุรักษ์ทั้ง 3 จังหวัดนักลงทุนจะได้ทราบพื้นที่ที่ชัดเจนจะได้ไม่ต้องเข้าไปลงทุนแม้ว่าในพ.ร.บ.อีอีซีจะกำหนดเป็นเขตส่งเสริมพิเศษในการลงทุนไว้ก็ตามแต่เพื่อความสบายใจของประชาชน ก็ควรจะประกาศส่วนนี้ไว้ให้ชัดเจน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1