“สมาร์ทโฟนหรู” ขายล้นเอ็กซ์โป! สะพัด 2 พันล้าน

06 ต.ค. 2560 | 06:21 น.
ฝุ่นตลบ “โมบายเอ็กซ์โป” ... ผู้จัด เผย ไม่มีใครยอมใคร ค่ายสมาร์ทโฟนอัดงบอัดโปรสร้างแบรนด์ลอยัลตีมัดใจ ขณะที่ ลูกค้ายินดีควัก เผย ยอดขาย 80% มาจากไฮเอนด์ หรือ ราคา 20,000 บาทขึ้นไป ดันเงินสะพัดทุบสถิติ 1,900 ล้านบาท

นายโอภาส เฉิดพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอ็มวิชั่น จำกัด ผู้จัดงานไทยแลนด์ โมบายเอ็กซ์โป 2017 หรือ TME 2017 เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า งานไทยแลนด์โมบาย เอ็กซ์โป 2017 โชว์เคส มีมูลค่าการซื้อขายสูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยมีมูลค่าการซื้อขายกว่า 1,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากการแข่งขันโปรโมชัน เพื่อรักษาฐานลูกค้าตัวเองเอาไว้ของผู้ผลิต โดยในงานมีการนำสมาร์ทโฟนเรือธงรุ่นใหม่เข้ามาเปิดขายในงานเป็นครั้งแรก ที่สำคัญ ผู้บริโภคที่เข้ามาซื้อสินค้าในงานมองความคุ้มค่าเป็นหลัก บางส่วนมาซื้อภายในงาน เพราะเชื่อว่า จะได้ของแถมติดไม้ติดมือมากกว่าซื้อตามร้านค้า

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

“สงครามสมาร์ทโฟน” ในขณะนี้ เป็นมากกว่าการสร้างยอดขาย แต่เป็นการแข่งขันเรื่องแบรนด์ลอยัลตี หรือ ความจงรักภักดีของแบรนด์ ซึ่งงานนี้ไม่มีใครยอมใครใช้งบการตลาดอัดโปรโมชันมัดใจลูกค้า เพราะไม่อยากให้แบรนด์อื่นมาแย่งลูกค้าของตัวเองไป แนวโน้มการแข่งขันต่อไปจะรุนแรงมากขึ้น สมาร์ทโฟนจะเป็นอุปกรณ์ที่แสดงความเป็นตัวตนของผู้บริโภค โดยเทรนด์สมาร์ทโฟนในอนาคตจะไม่ใช่แค่อุปกรณ์ติดต่อสื่อสาร แต่จะเป็นอุปกรณ์ที่ตอบโจทย์ความสะดวกสบายในชีวิตประจำวันของผู้ใช้ โดยเป็นศูนย์กลางการเชื่อมต่อและควบคุมอุปกรณ์และบริการต่าง ๆ

“ยกตัวอย่าง ‘ซัมซุง’ ที่มีบริการ ‘ซัมซุงเพย์’ หรือการเชื่อมต่อเพื่อควบอุปกรณ์เครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน หรือ ‘เสี่ยวมี่’ ที่ใช้สมาร์ทโฟนเป็นตัวนำ เพื่อเข้าตลาดไทย ก่อนจะนำอุปกรณ์อินเตอร์เน็ตออฟธิงส์ต่าง ๆ เข้ามาทำตลาด”

ยอดขายสมาร์ทโฟนภายในงานเกือบ 80% มาจากสมาร์ทโฟนระดับบน หรือ ไฮเอนด์ ราคาตั้งแต่ 20,000 บาทขึ้นไป นอกจากคุณภาพแล้ว ยังมีโปรโมชันจูงใจและบริการเงินผ่อนสูงสุด 36 เดือน โดยสมาร์ทโฟน 5 แบรนด์แรก ที่มียอดขายสูงสุด ประกอบด้วย (1) ซัมซุง รุ่น กาแลคซี่ เอส 8 และกาแลคซี่ โน้ต 8, (2) หัวเว่ย รุ่น พี 10 และเมท 9, (3) วีโว่ รุ่น วี 7 พลัส และออปโป้ อาร์ 9 เอส, (4) ไอโฟน รุ่น ไอโฟน 7 และไอโฟน 5 ที่นำมาลดราคาระบายสินค้า และอันดับ (5) โมโตโรล่า รุ่น จี 5 เอสพลัส


บาร์ไลน์ฐาน

“จากปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในงาน แสดงให้เห็นว่า ไทยเข้าสู่ยุคที่ผู้บริโภคที่มีประสบการณ์การใช้สมาร์ทโฟนราคาต่ำกว่า 10,000 บาท ต้องการซื้อสมาร์ทโฟนเครื่องที่ 2 ที่มีประสิทธิภาพการทำงาน และราคาสูงขึ้นไปถึง 20,000-30,000 บาท เนื่องจากมองว่า สมาร์ทโฟนเป็นสิ่งจำเป็นในชีวิตมากขึ้น ทั้งการชำระเงินสินค้าและบริการผ่านแอพพลิเคชันต่าง ๆ หรือ การทำธุรกรรมการเงินกับธนาคาร”

อย่างไรก็ดี เป็นที่น่าสังเกตว่า โนเกีย 3310 ที่ได้รับยอดจองเข้ามาล้นหลามนั้น มองว่า เป็นสีสันในงานครั้งนี้ โดยผู้ที่เคยใช้มือถือโนเกีย ต้องการซื้อเป็นที่ระลึก เนื่องจากราคาไม่แพง

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5-7 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1