ผ่ารายได้ 25 ลุ่มน้ำ! ฐานข้อมูลจัดเก็บค่าใช้-ตะวันออกแซงเจ้าพระยา

05 ต.ค. 2560 | 12:33 น.
เปิดลายแทง! ขุมทรัพย์ 25 ลุ่มน้ำ จัด 5 อันดับรายได้สูงสุด-ต่ำสุด พบลุ่มน้ำตะวันออก “ระยอง” ล่ำซำสุด ขณะ 13 ล้านครัวเรือน รายได้ต่ำเส้นยากจน

ปัญหาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... ที่จะจัดเก็บค่าน้ำจากหลายภาคส่วนที่เก่ียวข้อง ที่กำลังเป็นกระแสวิพากษ์วิจารณ์ในวงกว้าง โดยเฉพาะกลุ่มเกษตรกรได้ออกมาเคลื่อนไหวคัดค้านไม่เห็นด้วย

แม้ที่ผ่านมา พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่างฯ ยืนยันมาตลอดว่า เกษตรกรรายย่อยจะไม่เก็บค่าน้ำนั้น

นายสุรจิต ชิรเวทย์ กรรมาธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ พ.ศ. ... เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ถึงความคืบหน้าของร่าง พ.ร.บ. ว่า ได้มีการพิจารณาแล้ว 96 มาตรา จากทั้งหมดมี 9 หมวดรวม 100 มาตรา โดยยังอยู่ในการพิจารณาวาระที่ 2 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) (ชั้นคณะกรรมาธิการ) ที่จะพิจารณาปรับปรุงแก้ไขตามที่สมาชิก สนช. ขอแปรญัตติแก้ไข หรือ กรรมาธิการขอแก้ไขเอง หรือ ที่มีประชาชนและองค์กรต่าง ๆ เสนอมาโดยตรง หรือ จากการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาโดยตลอด เรียกว่า ทุกมาตรายังไม่มีการลงมติ ล่าสุด เมื่อวันที่ 2 ต.ค. 2560 ที่ประชุมที่มี พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นประธาน ได้มีมติขยายเวลาพิจารณาร่างฯ ออกไปอีก 90 วัน (จากเดิมจะครบกำหนดในวันที่ 27 ต.ค.) เป็นสิ้นสุดในวันที่ 25 ม.ค. 2561

“ความยากของร่างกฎหมายฉบับนี้ มีปัญหาในกระบวนการภาคปฏิบัติอีกมาก เช่น ‘รอยต่อของเขตลุ่มน้ำ’ หากมีกฎเกณฑ์แตกต่างกัน มีทิศทางการพัฒนาที่แตกต่างกันและแบ่งเขตกันด้วยลำน้ำ คือ ‘กึ่งกลางร่องน้ำ’ จะทำอย่างไร หรือ หากเกิดภัยพิบัติน้ำแล้ง-น้ำท่วม คณะกรรมการลุ่มน้ำเจ้าพระยา มี 19 จังหวัด หากประธานเป็น จ.นครสวรรค์ แต่ที่เกิดเหตุอยู่พระนครศรีอยุธยา พอเกิดภัยพิบัติจะมีกฎหมายกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กระทรวงมหาดไทย มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน อำนาจระหว่างประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำกับผู้ว่าราชการจังหวัดที่เกิดเหตุ ใครจะมีอำนาจมากกว่ากัน”


P1-3302-a

กรณีการเลือก “ตัวแทนผู้ใช้น้ำ” ที่จะเข้าไปนั่งอยู่ในคณะกรรมการลุ่มน้ำ จะใช้สูตรเดียวกันได้หรือไม่ เช่น จ.สมุทรสงคราม มี 33 องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) มีตัวแทนได้ 1 คน, นครราชสีมา มีกว่า 230 อปท. ก็มีตัวแทนได้เพียง 1 คนเท่ากัน เป็นต้น การออกกฎหมายลำดับรองจะต้องรับฟังความคิดเห็น ที่สำคัญกฎหมายที่ออกในรัฐธรรมนูญได้เขียนไว้ว่า ต้องไม่เพิ่มภาระ ไม่สร้างความเหลื่อมล้ำ และวันที่ 17-18 ต.ค. คณะกรรมาธิการจะลงพื้นที่ อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา


+ผงะ! 13 ล้านครัว ต่ำเส้นจน+
ด้าน แหล่งข่าวจากคณะกรรมการกำหนดนโยบายและการบริหารจัดการแผนยุทธศาสตร์การบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เปิดเผยว่า จากประชากรไทยกว่า 65 ล้านคน มีประชากรอาศัยในพื้นที่ลุ่มน้ำรวม 25 ลุ่มน้ำ กว่า 20 ล้านครัวเรือน ทั้งนี้ ยังมีจังหวัดในหลายลุ่มน้ำที่มีรายได้ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยของประเทศ (25,194 บาท/ครัวเรือน/เดือน) รวมกว่า 13 ล้านครัวเรือน ขณะ 7 ล้านครัวเรือน มีรายได้สูง เพราะพื้นที่ลุ่มน้ำมีการพัฒนาแหล่งน้ำ มีระบบชลประทาน มีการพัฒนาด้านอุตสาหกรรม ทำให้มีมูลค่าของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ค่อนข้างสูง โดยลุ่มน้ำที่มีผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) สูงสุด 3 อันดับแรก ได้แก่ ลุ่มน้ำเจ้าพระยา, ลุ่มน้ำบางประกง และชายฝั่งทะเลตะวันออก มูลค่าจีดีพี 3.88, 2.16 และ 1.28 ล้านล้านบาท ตามลำดับ (จากจีดีพีรวม 25 ลุ่มน้ำ 12.1 ล้านล้านบาท)

นายวรศาสน์ อภัยพงษ์ อธิบดีกรมทรัพยากรน้ำ ในฐานะโฆษกคณะกรรมาธิการวิสามัญ ร่าง พ.ร.บ.ทรัพยากรน้ำ และในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) กล่าวว่า จากการประเมินเกษตรกรใน 25 ลุ่มน้ำ คาดว่า จะมีเกษตรกรที่อยู่ใกล้ลุ่มน้ำประมาณ 11 ล้านครัวเรือน หลังจากที่กฎหมายแม่ผ่าน จะมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนใน 25 ลุ่มน้ำ ถึงรอยต่อการใช้น้ำฟรี หรือ ต้องเสียเงินเพื่อออกเป็นกฎหมายรองต่อไป

นายสุเทพ คงมาก นายกสมาคมชาวนาและเกษตรกรไทย กล่าวว่า รัฐบาลทำไม่ถูก เป็นการซ้ำเติมเกษตรกรที่มีรายได้ต่ำและราคาผลผลิตก็ตกต่ำอยู่แล้ว เมื่อประมวลหลายเหตุการณ์ที่ผ่านมา รัฐพยายามเก็บภาษีจากหลายทาง จึงเชื่อว่า “รัฐถังแตก” ต้องหารายได้เข้าคลังอีกทางหนึ่ง ในเร็ว ๆ นี้ จะขอเข้าพบ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อหารือเรื่องดังกล่าว โดยเฉพาะนาแปลงใหญ่ เชื่อมตลาดประชารัฐ ยังกังขาว่า เป็นเกษตรพาณิชย์ที่ต้องขอใบอนุญาตใช้น้ำหรือไม่

นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ประธานคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาปัจจัยการผลิต ในคณะกรรมาธิการเกษตรและสหกรณ์ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) กล่าวว่า เรื่องการเก็บค่าน้ำจากเกษตรกรได้สร้างความตื่นตระหนก แต่ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ มีวัตถุประสงค์ให้เกษตรกรได้เห็นคุณค่าของทรัพยากรน้ำ นับวันจะมีน้ำใช้น้อยลง ไม่ต้องตกใจว่า เกษตรกรจะเสียเงินค่าน้ำ ยืนยัน รัฐบาลไม่ต้องการเงิน แต่อยากให้รู้คุณค่าของการใช้น้ำร่วมกันมากกว่า

รศ.ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวว่า “น้ำเป็นต้นทุน" ขณะนี้ทีดีอาร์ไอกำลังศึกษาการเก็บค่าน้ำสาธารณะให้มีหลักวิชาการรองรับ เป็นราคาน้ำต่อลูกบาศก์เมตร จะคิดเท่าไร โดยจะคิดคำนวณจากพื้นที่เพาะปลูกและอาชีพนั้น ๆ กับกิจกรรมการใช้น้ำ เพราะที่ผ่านมา จากข้อมูลในภาคเกษตรใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง เพราะไม่มีราคา

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5-7 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-3