เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ | สนข. ปูพรมโครงข่ายทั่วประเทศ เปิดแผนระบบราง 2.7 ล้านล้าน

07 ต.ค. 2560 | 15:04 น.
เกาะติดเมกะโปรเจ็กต์ | สำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เปิดแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่าย “ระบบราง” เพื่อสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษ, การท่องเที่ยว และการพัฒนาพื้นที่ระยะเวลา 20 ปี (ปี 2560-2579) รวมมูลค่าการลงทุนกว่า 2.7 ล้านล้านบาท

โดยกำหนดแผนพัฒนาออกเป็น 3 ระยะ ได้แก่
1.แผนการดำเนินงานระยะเร่งด่วน (เป็นโครงการที่กำลังดำเนินการก่อสร้างอยู่ในปัจจุบัน) เช่น รถไฟทางคู่ สายฉะเชิงเทรา-คลองสิบเก้า-แก่งคอย, รถไฟทางคู่ สายชุมทางถนนจิระ-ขอนแก่น

2.แผนการดำเนินการระยะกลาง (โครงการที่สามารถเริ่มดำเนินการก่อสร้างได้ในช่วงปีที่ 6-10) ตามแผนแม่บทฯ (พ.ศ. 2565-2569) เช่น รถไฟทางคู่ สายหัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์, สายปากน้ำโพ-เด่นชัย, สายชุมทางศรีราชา-มาบตาพุด, สายสุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา และสายหาดใหญ่-ปาดังเบซาร์

3.แผนการดำเนินการระยะยาวเป็นโครงการที่จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างภายหลังปีที่ 10 ตามแผนแม่บทฯ (พ.ศ. 2570-2579) เช่น รถไฟทางคู่ ช่วงเด่นชัย-เชียงใหม่, รถไฟทางคู่ ช่วงชุมทางคลองสิบเก้า-อรัญประเทศ


TP8-3302-A

นอกจากนั้น ยังมีแผนพัฒนาโครงการทางรถไฟสายใหม่ (Meter Gauge) รวมระยะ 2,352 กิโลเมตร แบ่งเป็น แผนระยะเร่งด่วน เช่น สายเด่นชัย-เชียงของ, สายบ้านไผ่-นครพนม / แผนระยะกลาง เช่น สายนครสวรรค์-ตาก-แม่สอด, สายกาญจนบุรี-บ้านภาชี / แผนระยะยาว เช่น สายมาบตาพุด-ระยอง-จันทบุรี-ตราด, สายอุบลราชธานี-ช่องเม็ก และสายสุราษฎร์ธานี-ดอนสัก

เช่นเดียวกับ แผนพัฒนาโครงการรถไฟความเร็วสูง รวมระยะ 2,457 กิโลเมตร แบ่งเป็น แผนระยะเร่งด่วน ได้แก่ สายกรุงเทพฯ-ระยอง, สายกรุงเทพฯ-นครราชสีมา, สายกรุงเทพฯ-หัวหิน / แผนระยะกลาง ได้แก่ สายกรุงเทพฯ-พิษณุโลก, สายนครราชสีมา-หนองคาย ส่วนแผนระยะยาว ได้แก่ สายพิษณุโลก-เชียงใหม่, สายหัวหิน-สุราษฎร์ธานี และสายสุราษฎร์ธานี-ปาดังเบซาร์

โดยการลงทุนครั้งนี้ แบ่งเป็น 3 ระยะเช่นกัน โดยรวมทุกแผนงานในระยะเร่งด่วน มูลค่า 829,802 ล้านบาท (จากภาครัฐ 642,802 ล้านบาท และจากภาคเอกชน 187,000 ล้านบาท) ส่วนระยะกลาง การลงทุนรวม 897,568 ล้านบาท (จากภาครัฐ 692,128 ล้านบาท และภาคเอกชน 205,441 ล้านบาท) ส่วนการลงทุนในระยะยาว มีมูลค่าอยู่ที่ 975,564 ล้านบาท (จากภาครัฐ 638,922 ล้านบาท และภาคเอกชน 336,642 ล้านบาท)

ดังนั้น คงต้องจับตาดูกันต่อไปว่า แผนการพัฒนาโครงข่ายทางรถไฟให้ทันสมัยและมีประสิทธิภาพ เข้าไปมีส่วนกระตุ้นความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศ เพราะการเดินทางและการขนส่งสินค้าที่สะดวกและปลอดภัยจะเอื้อประโยชน์ให้การดำเนินกิจกรรมทางธุรกิจ การค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวได้มากน้อยเพียงใด ประการสำคัญจะเข้าไปช่วยสนับสนุนเขตเศรษฐกิจพิเศษและการพัฒนาพื้นที่ในประเทศอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างที่คาดหวังไว้หรือไม่???

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5-7 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-3