จีเอ็มรวมศูนย์อาเซียน ประธานใหม่ลั่นลุย‘อีวี’ต้องวางแผนระดับภูมิภาค

07 ต.ค. 2560 | 03:32 น.
หลัง “จีเอ็ม” หรือ เจนเนอรัล มอเตอร์ส ยักษ์ใหญ่อุตสาหกรรมยานยนต์อเมริกัน ปรับโครงสร้างองค์กรในระดับโลก และลดขนาดการบริหารระดับภูมิภาคเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ

โดยอาเซียน ที่มีไทยเป็นฐานการผลิตหลัก เริ่มปรับตัวรับแนวทางใหม่นี้ไม่ตํ่ากว่า 5 ปี ปัจจุบันเริ่มเข้าที่เข้าทาง และเห็นได้ชัดจากการแต่งตั้งประธานคนเดียวดูแลทั้งอาเซียน ซึ่งรวมถึงฟังก์ชัน-แผนกงานที่มีขนาดกะทัดรัด แต่สามารถดูแลได้ครอบคลุมในระดับภูมิภาค

ล่าสุด “เอียน นิโคลส์” ถูกแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ จีเอ็ม อาเซียน มีผล 1 กันยายนที่ผ่านมา ดูแลการปฏิบัติงานของไทย เวียดนาม และอินโดนีเซีย กำกับทั้งฝ่ายผลิต จัดซื้อ วางแผน จัดจำหน่ายและการตลาด

[caption id="attachment_215286" align="aligncenter" width="503"] เอียน นิโคลส์ เอียน นิโคลส์[/caption]

“การกระชับธุรกิจในระดับภูมิภาค จะดึงความสามารถของบุคลากร ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพและประสบผลสำเร็จในการดำเนินงานได้ ทั้งนี้หลักการและเป้าหมายในการบริหารของผมมี 3 ข้อคือ 1. ลูกค้าต้องเป็นศูนย์กลาง 2. ต้องเพิ่มยอดขาย 3. จีเอ็มและดีลเลอร์ต้องมีกำไร โดยพยายามเสริมสร้างความเข้มแข็งให้ธุรกิจ มองการลงทุนในระยะยาว ซึ่งในทุกกระบวนการเราต้องดูแลทั้งลูกค้า คู่ค้าที่เป็นซัพพลายเออร์และดีลเลอร์ให้ดีที่สุด” เอียน นิโคลส์ กล่าวและว่า
อาเซียนเป็นตลาดที่สำคัญของจีเอ็ม ด้วยประชากร 600 ล้านคน จีดีพีระดับ 1.9 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯต่อปี ขณะที่อัตราส่วนของประชากรต่อการเป็นเจ้าของรถยังตํ่า นั่นหมายถึงเรายังมีโอกาสในการขายอีกมาก เห็นได้จากยอดขาย 8 เดือนที่ผ่านมา (ม.ค.-ส.ค.2560) เติบโต 12.5% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ส่วนเมืองไทยเป็นฐานการผลิตปิกอัพ เอสยูวี เครื่องยนต์ และอะไหล่ ที่มีบทบาทสำคัญมาก ขณะที่ยอดขายในประเทศกำลังมีทิศทางสดใสในอาเซียน จีเอ็มมีโปรดักต์ทำตลาดอย่าง แคปติวา ครูซ (เมืองไทยหยุดการผลิตไปแล้ว) สปาร์ก แทร็กซ์ มาลิบู โคโลราโด และเทรลเบลเซอร์ ซึ่งสองรุ่นหลังมียอดขาย 57% ของทั้งหมด (ในภูมิภาค) โดยสอดคล้องกับแผนงานในเมืองไทยที่เราจะเน้นรถยนต์ 2 รุ่นนี้เป็นหลัก

“ตลาดรถยนต์เมืองไทยปีนี้จะเติบโตขึ้นแน่นอนเพราะว่าปิกอัพและเอสยูวี(ที่พัฒนาบนพื้นฐานปิกอัพ-พีพีวี)ยังครองสัดส่วนการขายเกือบ 50% ซึ่งการลงทุนของเราสอดคล้องไปกับทิศทางตลาด ส่วนในอนาคตถ้ามีรถยนต์รุ่นใหม่ๆเหมาะสม ก็มีโอกาสนำมาขายได้ ทั้งนี้คงต้องพิจารณาพฤติกรรมของผู้บริโภคว่าเป็นอย่างไร และมุ่งตอบสนองความต้องการด้วยสุดยอดโปรดักต์ นวัตกรรมโดดเด่นและบริการ พร้อมทำในสิ่งที่แตกต่าง แน่นอนว่าเราจะไม่ทำอะไรเหมือนค่ายรถยนต์อื่นๆ”

ต่อข้อถามถึงแนวโน้มรถพลังงานไฟฟ้า ที่เป็นทิศทางใหม่ของโลกและกำลังได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทย “เอียน นิโคลส์” ชี้แจงว่า จีเอ็มเป็นผู้นำในเรื่องรถพลังงานไฟฟ้า มีโวลต์จำหน่ายในหลายประเทศ มีเทคโนโลยีขับเคลื่อนอัตโนมัติ และระบบคาร์แชริ่ง จะเห็นว่าเรามีเทคโนโลยีทุกอย่าง แต่การเลือกเทคโนโลยีใด มาใช้ในตลาดไหน ต้องพิจารณาช่วงเวลาที่เหมาะสม

“เราเข้าใจในหลักการของรัฐบาล อย่างแนวคิดไทยแลนด์ 4.0 เราเห็นด้วยในหลักการทุกอย่าง แต่คงต้องมาดูรายละเอียด เพราะยานยนต์ไฟฟ้าต้องใช้เงินลงทุนสูงมาก ยิ่งเป็นตลาดเล็กๆต้องพิจารณาถึงความคุ้มค่าในการลงทุน ดังนั้นหากจะให้แจ้งเกิด คงต้องผลักดันให้เป็นนโยบายระดับภูมิภาค มีเทคโนโลยี และการผลิตให้สอดคล้องกัน” นายนิโคลส์ กล่าวสรุป

ทั้งนี้ สำหรับยอดขาย 7 เดือนแรก (ม.ค.-ก.ค.2560) ของจีเอ็ม หรือเชฟโรเลต ในเมืองไทย ทำได้ 9,952 คัน เติบโต 25% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่แล้ว ครองส่วนแบ่งการตลาด 2.1% หากแบ่งเป็นปิกอัพโคโลราโดจะครองส่วนแบ่งตลาดในเซ็กเมนต์นี้ 3.9% ซึ่งเอียน นิโคลส์ เชื่อว่า ถึงสิ้นปีจะเพิ่มเป็น 4% แน่นอน

ปัจจุบันจีเอ็ม ส่งออกโคโลราโด และเทรลเบลเซอร์ ที่ผลิตจากประเทศไทยทั่วโลก ทั้งออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เวียดนาม อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เมียนมา ลาว กัมพูชา นิวคาเลโดเนีย 
ตาฮิติ (เฟรนช์ โพลีนีเซีย) วานูอาตู ฟิจิ อเมริกากลาง แอฟริกาตะวันออก แอฟริกาใต้ และอินเดีย

โดยปี 2559 โรงงานจีเอ็ม ระยอง ผลิตโคโลราโดและเทรลเบลเซอร์ ทั้งสิ้น 5.5 หมื่นคัน ในจำนวนนี้แบ่งเป็นการส่งออก 70% ซึ่งมีอัตราเติบโต 10% เมื่อเทียบกับปี 2558 จากกำลังการผลิตเต็มที่ 1.12 แสนคันต่อปี เครื่องยนต์อีก 1.3 แสนเครื่องต่อปี

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว