ที่ดิน‘ไชน่าทาวน์’บูมรถไฟฟ้าดันโฮสเทลอู้ฟู่-ที่ดินพุ่งทะลุไร่ละ 40 ล้าน

07 ต.ค. 2560 | 11:56 น.
ย่านถนนเจริญกรุง-เยาวราช บูมตลาดที่พักโฮสเทล-บ็อกเทลรับอานิสงส์รถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยาย จับตานักลงทุนรายย่อยเช่าอาคาร-ที่ดิน 3-5 หมื่นบาท/เดือน พัฒนาโครงการให้เช่ารายวัน เผยรอบ 3 สถานีหัวลำโพง-วัดมังกรฯ-วังบูรพายังฮอต ล่าสุดราคาที่ดินพุ่งสูงไร่ละกว่า 30-40 ล้านบาท

นายวสันต์ คงจันทร์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โมเดอร์น พร็อพเพอร์ตี้ คอนซัลแตนท์ จำกัด เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่าจากการที่การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ดำเนินโครงการรถไฟฟ้าสายสีนํ้าเงินส่วนต่อขยาย ช่วงหัว ลำโพง-ท่าพระ-บางแค โดยมีแผนทยอยเปิดให้บริการในช่วงหัวลำโพง-สนามไชยในปี 2561 นั้นส่งผลให้ราคาที่ดินจากปัจจุบันระดับราคาไร่ละ 30-40 ล้านบาทจะมีแนวโน้มปรับสูง
ขึ้นอย่างต่อเนื่อง

[caption id="attachment_201250" align="aligncenter" width="335"] วสันต์ คงจันทร์ วสันต์ คงจันทร์[/caption]

นอกจากนั้นสิ่งที่น่าสนใจคือมีนักลงทุนรายย่อยสนใจเข้าไปเช่าอาคารประกอบกิจการที่พักอาศัยขนาดย่อมรูปแบบโฮสเทลและบ็อกเทลกันมากขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวทั้งชาวจีนและแถบยุโรปที่เข้ามาท่องเที่ยวย่านเยาวราชแห่งนี้ ที่เลื่องชื่อด้านถนนคนเดินให้ได้ช็อปสินค้าและรับประทานอาหารกันในยามคํ่าคืน

“ส่วนใหญ่จะเป็นนักลงทุนรายย่อย คนรุ่นใหม่เข้ามาเช่าที่ดิน-อาคารเก่าระดับราคา 3-5 หมื่นบาทต่อเดือน เพื่อนำไปปรับปรุงให้เป็นที่พักอาศัยรองรับนักท่องเที่ยวต่างชาติที่ไม่ต้องการที่พักอาศัยขนาดใหญ่ แต่ชอบรูปแบบให้เช่ารายวันวันละ 300-500 บาท จับตาพื้นที่โดยรอบสถานีหัวลำโพงที่ปัจจุบันมีโรงแรมให้บริการจำนวน 3-4 แห่ง และอาคารพาณิชย์ตามแนวเส้นทางจะมีการปรับปรุงเพิ่มขึ้นมากน้อยขนาดไหน เช่นเดียวกับพื้นที่โดยรอบสถานีวัดมังกร
กมลาวาสและสถานีวังบูรพา ซึ่งสามารถเช่าอาคารเก่าไปปรับโฉมเป็นที่พักอาศัยได้หลายอาคารทั้งบนถนนเมนหลักในพื้นที่และในซอยต่างๆ

ทั้งนี้จากการลงพื้นที่สำรวจพบว่าจุดสถานีหัวลำโพงได้ถมปิดหลุมซึ่งเคยนำหัวเจาะลงไปยังจุดเจาะอุโมงค์ช่วงหัวลำโพง-สนามไชยเรียบร้อยแล้ว พื้นที่โดยรอบยังไม่เห็นการเปลี่ยนแปลงของอาคารต่างๆมากนัก มีบางอาคารเท่านั้นที่ตกแต่งทาสีใหม่ แต่พบว่ามีโรงแรมใหม่เกิดขึ้นช่วงหัวมุมก่อนเลี้ยวเข้าสู่วัดไตรมิตรราว 200 เมตร ดังนั้นบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงหัวลำโพงจึงมีโรงแรมให้บริการประมาณ 3-4 แห่ง ส่วนที่พักอาศัยรูปแบบ อื่นๆอาทิ โฮสเทล บ็อกเทล ฯลฯ ยังไม่มีปรากฏให้เห็นบนถนนเมนหลักอย่างถนนพระราม 4

MP29-3302-A ต่อจากนั้นเข้าสู่สถานีวัดมังกรกมลาวาสพบว่าตัวอาคารขึ้นลงสถานีใกล้แล้วเสร็จคงอยู่ระหว่างการตกแต่งรูปแบบและเอกลักษณ์สื่อถึงย่านชาวจีนในพื้นที่และวางระบบภายในสถานีก่อนที่จะเก็บรายละเอียดงานภายนอกให้เรียบร้อยทั้ง 2 ฝั่งของถนนเจริญกรุง ตัวสถานีอยู่ห่างจากวัดมังกรกมลาวาสไม่มากนัก แต่พบว่าพื้นที่ใกล้เคียงกันมีก่อสร้างอาคาร “แอมไชน่าทาวน์” ที่จะเป็นทั้งโรงแรม ศูนย์การค้าเพื่อการช็อปปิ้งเกิดขึ้นรูปแบบเปิดให้เซ้งเป็นระยะเวลานานถึง 30 ปี นอกเหนือจากช่วงก่อนนี้มีการก่อสร้างอาคาร “สเตชั่นวัน” พลาซาแห่งใหม่ให้เช่าพื้นที่ช่วงหัวมุมติดกับอาคารวัดมังกรกมลาวาสซึ่งเปิดให้บริการแล้วหลังจากช่วงก่อนนี้ถูกประชาชนในพื้นที่ต่อต้านแต่ก็เคลียร์ปัญหาลุล่วงไปได้

เมื่อผ่านเข้าสู่พื้นที่สถานีวังบูรพา ย่านนี้มี 2 โรงแรมหลักรองรับการเติบโตของนักท่องเที่ยว แต่จับตาการเติบโตของอาคารพาณิชย์เก่าในโซนนั้นว่าจะพัฒนาให้สอดคล้องกับการอำนวยความสะดวกของสถานีนี้หรือไม่ แต่ที่แน่ๆห้างเซ็นทรัลวังบูรพาที่เปิดให้บริการมานานปัจจุบันลูกค้าหนาแน่นมากขึ้นเมื่อเปลี่ยนชื่อมาเป็นห้างไชน่าเวิลด์ อีกทั้งยังมีห้างเมกะวังบูรพาที่ปรับโฉมจากห้างเมอร์รี่คิงส์ให้บริการนักท่องเที่ยวในพื้นที่นั้นอีกด้วย คงต้องจับตากันต่อไปว่าแหล่งซื้อขายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ชื่อดังอย่างบ้านหม้อจะได้อานิสงส์จากรถ
ไฟฟ้าในครั้งนี้หรือไม่ หลังจากช่วงก่อนนี้ย่านการค้าเก่าแก่อย่าง “สะพานเหล็ก” กรุงเทพมหานครเร่งปรับโฉมพื้นที่เป็นพื้นที่โล่งตลอดแนวคลองส่งผลให้การค้า
ในพื้นที่ซบเซาตามไปด้วย

ล่วงเข้าสู่สถานีสนามไชย ดูเหมือนว่าย่านดังกล่าวนี้ “ตลาดยอดพิมาน” และ “ปากคลองตลาด” จะได้รับอานิสงส์มากกว่าเนื่องจากพื้นที่โดยรอบล้วนเป็นสถานที่ราชการและศูนย์นิทรรศการ แม้ว่าจะมีการจัดระเบียบผู้ค้าปากคลองตลาดไปแล้ว แต่เชื่อว่ามนต์เสน่ห์ตลาดดอกไม้เลื่องชื่อระดับโลกยังจะกลับคืนมาอีกครั้งเมื่อสถานีสนามไชยเปิดให้บริการอย่างเป็นทางการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว