ไขปม‘ซีทีเอช’(จบ) เบื้องหลังล้มไม่เป็นท่า

08 ต.ค. 2560 | 03:06 น.
ฉบับก่อนทิ้งท้ายไว้เรื่องของ “CTH” ว่าต้องสูญเสียทั้ง “โอกาส” และ “รายได้”

เรื่องของรายได้ คงไม่ต้องสงสัย แต่ “โอกาส” ที่ว่าคืออะไรเพราะเมื่อ“อ้อยเข้าปากช้าง” มีหรือจะปล่อยให้หลุดมือไปได้ง่ายๆ

แท้จริงแล้ว “เมมเบอร์” ที่เข้ามาล้วนผูกขาดเป็นรายปี บางรายก็ 2 ปี 3 ปี ซีทีเอชมีเงินกำอยู่ในมือแน่ๆ เหตุผลเดียวที่ทำให้คนยอมควักเงิน แห่มาสมัครเป็นเมมเบอร์ก็มาจาก “พรีเมียร์ลีกอังกฤษ” นี่แหละ สมกับเป็นคิง ออฟ คอนเทนต์

++ก้าวที่พลาด
งานนี้ “ซีทีเอช” ควักเงินก้อนโตกว่า 7,000 ล้านบาท สั่งนำเข้ากล่องรับสัญญาณล็อตใหญ่จากจีนกว่า 2.5 ล้านกล่อง เพื่อเตรียมขายให้กับเมมเบอร์เต็มที่ และยิ่งมีพาร์ตเนอร์ที่เป็นผู้ประกอบการเคเบิลทีวีทั่วประเทศ คำนวณเบ็ดเสร็จก็กุมบรรดาคอบอลไว้มากโข ซึ่งหากคิดจะรับชมพรีเมียร์ลีกก็ต้องยอมจ่ายเงินซื้อกล่องรับสัญญาณกันแบบยาวๆ

แต่ “โอกาส” ก็หลุดลอยไป เมื่อต้องเผชิญกับปัญหาการติดตั้ง ที่ไม่ทันใจว่ากันว่า ลูกค้าที่จ่ายเงินจองไปวันนี้ กว่าจะติดตั้งจานได้ต้องรอกันนานเป็นเดือน บางรายฟุตบอลเริ่มคิกออฟไปแล้วก็ยังไม่ได้ดู ยังไม่รวมถึงปัญหาเรื่องของโครงข่ายเน็ตเวิร์ก การอัพเกรดเน็ตเวิร์ก รวมไปถึงปัญหาฟ้าฝนที่ไม่เป็นใจฯลฯ เรียกได้ว่าถูกรุมเร้าทั้งปัจจัยภายใน ภายนอก

“ขายแพ็กเกจได้ 6,000 รายต่อวัน แต่ติดตั้งได้จริงแค่ครึ่งเดียว ยอดขายที่เคยตั้งเป้า 1 แสนรายต่อเดือนก็หายไปกว่าครึ่ง แม้จะแก้ไขทุกรูปแบบ สรรหา จ้างทีมเฉพาะกิจมาดำเนินการก็ไม่สามารถติดตั้งได้ทัน”

3 เดือนแรกจึงมีสมาชิกแค่ 5 แสนราย ซึ่งเป็นผลพลอยได้จากเมมเบอร์เคเบิลทีวีเดิม และยังมีอีกกว่า 8 แสนรายที่รอคิวติดตั้ง เรียกได้ว่า “หมูหลุดออกจากอวย” แบบเห็นๆ

++กลายเป็นเสือลำบาก
จากเสือติดปีก กลายเป็นเสือลำบาก

จากพันธมิตรเคเบิลท้องถิ่นคงไม่พอ ชั่วโมงนี้ “CTH” จึงเดินหน้าเจรจาหาพาร์ตเนอร์ โดยอาศัยแพลตฟอร์มที่มี และคิง ออฟ คอนเทนต์

ไม่ว่าจะเป็นผู้ให้บริการสัญญาณดาวเทียมรายใหญ่อย่าง “พีเอสไอ” หรือกลุ่มไอพีทีวี หรือจะเป็น GMMB (ซึ่งซีทีเอชเข้าซื้อกิจการถือหุ้น100%)รวมไปถึงค่ายอาร์เอส ที่ผนึกกันทำกล่อง “ซันบ็อกซ์ลาลีกาสตาร์” ออกขาย

งานนี้แน่นอนว่า “ซีทีเอช” ได้ทั้งตัวช่วยที่จะเพิ่มฐานผู้ชม การติดตั้ง รวมไปถึงเม็ดเงินรายได้ แต่ถามว่า บรรลุเป้าประสงค์ไว้หรือไม่ ตอบเลยว่า “ไม่”

เพราะเม็ดเงินที่เข้ามาก็ยังไม่ตอบโจทย์ และยังไม่สามารถบรรเทาเงินลงทุนที่ต้องจ่ายไป จากเป้าหมายเดิมที่จะคุ้มทุนใน 2 ปี และโกยกำไรในอีก 3 ปีที่เหลืออยู่

นอกจากกลุ่มผู้คลั่งไคล้ฟุตบอลแล้ว ซีทีเอชจึงเริ่มมองหากลุ่มผู้ชมใหม่ แต่สิ่งเหล่านั้นก็ไม่ง่ายดังคิด เพราะทุกครั้งที่ขยับตัว นั่นหมายถึงเม็ดเงินที่ควักใส่ลงไป

คอนเทนต์ซีรีส์ดังทั้งไทย/เทศ ทยอยนำมาเป็นไฮไลต์ แต่ก็ยังไม่ตอบโจทย์

MP34-3301-A ++สู่กระบวนการล้มละลาย
เมื่อบรรลุผลตามที่ตั้งเป้าหมายไว้ ซีทีเอชจึงทยอยยกเลิกการส่งสัญญาณให้กับพาร์ตเนอร์ต่างๆ แม้จะยังไม่หมดสัญญา

จาก “พันธมิตร” จึงกลายมาเป็น “โจทย์”

จาก “รายได้” ก็กลายมาเป็นค่าใช้จ่ายที่ต้องควักชดเชยให้กับสมาชิก

จาก “สมาชิก” ก็กลายมาเป็นผู้ร้องเรียน

ความเดือดร้อนแผ่กระจาย กลายเป็นข้อพิพาท ถึงกับเรียกร้องให้มีการนำเสนอแผนเยียวยา ซึ่งไม่ใช่เฉพาะกับพาร์ตเนอร์ สมาชิก แต่ยังรวมไปถึงพนักงานที่ถูกจ้างออกในเวลาต่อมา หลังจากที่ซีทีเอช ประกาศยุติการให้บริการส่งสัญญาณ

พร้อมกับตัวเลขค่าใช้จ่าย และหนี้สินสะสมทั้งบมจ.ซีทีเอช และบริษัทในเครืออีกกว่า 10 บริษัทรวมเบ็ดเสร็จกว่า 2 หมื่นล้านบาท

คำถามจึงย้อนกลับมาที่ “วิชัยทองแตง” ว่าจะแก้มันนี่เกมครั้งนี้อย่างไร

“คุณวิชัย กำลังพิจารณาถึงแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ พร้อมแผนเยียวยา ซึ่งต้องมีความเหมาะสมและเป็นไปได้ เพราะวันนี้ซีทีเอชเองก็มีปัญหาด้านการเงิน การจะมารีดเลือดกับปูก็คงเป็นการยาก” ผู้ใกล้ชิดนายวิชัย เล่าให้ฟังหลังเกิดวิกฤติอย่างหนักในช่วงเวลานั้น

การยื่นต่อศาลล้มละลายกลาง เพื่อขอฟื้นฟูกิจการจากหนี้สินกว่า 2.1 หมื่นล้านบาท จึงเกิดขึ้นในวันที่ 20 ตุลาคม 2559 แต่ที่สุดแล้วศาลมีคำพิพากษาไม่รับแผนฟื้นฟู ที่ซีทีเอชจะขอเปลี่ยนไปทำธุรกิจไฟฟ้าชีวมวล เส้นทางของซีทีเอช จึงก้าวเข้าสู่กระบวนการล้มละลายในกลางปี 2560

“ซีทีเอช”กลายเป็นบทเรียนสำคัญ บ่งชี้ว่าการก้าวสู่สนามธุรกิจโดยมี“เงิน”เป็นตัวตั้ง ผลลัพธ์อาจไม่ใช่“ความสำเร็จ” เสมอไป

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,302 วันที่ 5 - 7 ตุลาคม พ.ศ. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว