สังคมมองปราบโกงยุคคสช.ปฏิบัติเข้มข้นแต่ไม่เสมอภาค

01 ต.ค. 2560 | 07:51 น.
ภายใต้การบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชาในช่วง 3 ปี ได้ให้ความสำคัญโดยยก “การป้องกันและปราบปรามคอร์รัปชั่น “ เป็นวาระชาติ แต่กระนั้นก็ตามก็ไม่พ้นถูกมองในเรื่องมาตรฐาน การเลือกให้น้ำหนัก

“ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ ประมนต์ สุธีวงศ์ ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น (ประเทศไทย) หรือ ACT ต่อบทบาทขององค์กรฯในประเด็นนี้และมุมมองต่อสถานการณ์ปัญหาคอร์รัปชั่นในปัจจุบัน

*สถานการณ์คอร์รัปชั่นไทย
สถานการณ์บ้านเราต้องยอมรับว่า มันฝังรากลึกในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมา มีแนวโน้มว่ารุนแรงมากขึ้นด้วยซ้ำ เพราะว่ากิจกรรมของคนที่ทุจริตมีวิวัฒนาการเพิ่มขึ้น มีความโลภมากขึ้น มีอะไรที่สามารถจะทำได้โดยการใช้อำนาจที่ตัวเองมีก็ดี หรือโดยการแอบแฝงใช้อำนาจคนอื่นให้เกิดการทุจริต ข้าราชการเองในอดีตเราเคยรู้สึกว่าเป็นข้าราชการที่พอจะเชื่อถือได้ถ้าไม่หนักหนาเกินไปก็จะไม่ร่วมด้วย แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าหน่วยงานราชการเองมักจะสมยอม . ภาคเอกชนก็ตกอยู่ในภาวะจำยอม อยากได้งานก็ต้องให้ความร่วมมือกับคนที่มีอำนาจ

อย่างไรก็ดีการที่กลุ่มเรา ( ACT )และอีกหลายกลุ่มเริ่มตื่นตัว ริเริ่มขึ้นมาต่อต้านในหลายปีนี้ ผมคิดว่าก็เริ่มมีผลในระดับหนึ่ง สร้างการตื่นตัวในสังคมว่าสิ่งที่ถูกคดโกงความจริงก็คือผลประโยชน์ของประเทศชาติและส่วนร่วม เพราะถ้าใช้ในสิ่งที่ไม่ถูกก็ไม่ได้นำมาพัฒนาประเทศซึ่งเป็นเงินภาษี

เรื่องนี้ต้องยอมรับว่าตั้งแต่มีรัฐประหารมา รัฐบาลชุดปัจจุบันได้ให้ความสำคัญและตระหนัก ตัวท่านนายกรัฐมนตรีตั้งแต่มารับงาน ก็ยืนยันต้องการให้ “การปราบปรามทุจริตเป็นวาระแห่งชาติ “ และทำเรื่องนี้มาแล้วตั้งแต่การตั้งคณะกรรมการชุดพิเศษขึ้นมาเพื่อมาติดตาม ออกมาตรการจัดระเบียบสังคม มีมาตรการลงโทษข้าราชการที่ถูกสงสัย สังคมที่อยู่กับเราก็เห็นถึงความตั้งใจ

pamon1

อย่างไรก็ดีปัญหาส่วนหนึ่งของรัฐบาลอย่างที่มีคนวิพากษ์วิจารณ์กันก็ทำแบบยังไม่เต็มที่ คือทำแบบเลือกที่รักมักที่ชัง ถ้าเผื่อเป็นข่าวไม่ดีในพวกที่มีเครื่องแบบ ก็ดูจะไม่มีความจริงใจในการติดตามแต่ถ้าเป็นทั่ว ๆไปก็ ให้ความสำคัญที่จะติดตามในเรื่องนี้ อันนี้เป็นภาพรวมในปัจจุบัน “

*การปราบปรามคอร์รัปชั่นของรัฐถูกมองให้น้ำหนักด้านใดด้านหนึ่ง
อันนี้เป็นความรู้สึก ที่ผมรู้สึกว่ามีความจริงอยู่บ้างพอสมควร เพราะเราจะเห็นว่าหลาย ๆเวลามีเรื่องดังขึ้นมาและมันไปเกี่ยวข้อง อยู่ในวงการที่มีสีก็ดี จะรู้สึกว่ามีการตรวจสอบเหมือนกัน แต่ก็บอกว่าไม่มีปัญหาอะไร แต่ไม่เป็นที่เปิดเผยเป็นที่เข้าใจของภาคเอกชน ซึ่ง ACT เราเองก็มีการทักท้วงในหลายๆเรื่อง ในประเด็นต่าง ๆที่เวลาเกิดขึ้นแล้ว เราก็อยากให้มีการตรวจสอบ และให้เป็นที่เปิดเผยต่อสังคม นี่ต้องยอมรับว่าภาครัฐหรืองสังคมก็ยังมองว่าถึงแม้จะการปฏิบัติจริงจังเข้มข้น แต่ก็ไม่เสมอภาค อันนี้เป็นสิ่งรัฐบาลเองก็ต้องยอมรับฟัง

*โดยส่วนตัวเคยคุยกับนายกฯหรือไม่ประเด็นนี้
คือประเด็นแบบนี้ เราเคยคุยในลักษณะที่ว่าเราเองก็พยายามที่จะดูทุกเรื่องในทุกกระบวนการที่มีการทุจริต ถ้าเรามีที่ไหนที่สงสัยเราก็ต้องถาม ACTเองก็ได้มีการทำหนังสือทั้งทางเปิดเผย และทางตรง แสดงความเห็นของเราในเรื่องนี้ มีหลายเรื่องที่เราส่งถึงผู้นำรัฐบาล แสดงจุดยืนของเรา หลายเรื่องเราก็ออกมาในรูปแถลงการณ์ให้สังคมได้ร่วมในกระบวนการด้วย

*กรณีคดีจำนำข้าวมีผลกระตุกสังคม
เราก็อยากคิดว่ามี อันนี้เป็นสิ่งที่เราพูดว่า เราต้องการให้สังคม คือหนึ่งถ้าคุณทุจริต คุณจะต้องถูกลงโทษ คนที่ทุจริตจะไม่พ้นจากความรับผิดชอบในส่วนนี้ และถ้าทำได้อย่างจริงจัง เป็นธรรม ในที่นี่หมายความว่าไม่ได้จับแพะแล้วเอามาเป็นเรื่องที่มาประโคมข่าว ถ้าทุจริตจริงและพิสูจน์แล้ว ศาลให้ความเป็นธรรม ก็ต้องถูกลงโทษ ผมเชื่อว่าสังคมคงต้องตระหนักคิดว่าเป็นเรื่องที่ใครที่ทำผิดต่อไปนี้ ก็คงต้องรับเรื่องนี้

*กระบวนการการแก้ไขปัญหาคอร์รัปชั่นกับเรื่องปฏิรูปประเทศเชื่อมโยง?

มันเชื่อมโยงกัน ตอนที่มีคณะกรรมการสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) รัฐบาลก็ตั้งผมเป็นหนึ่งในกรรมการสปช. ปฏิรูปหลาย ๆเรื่อง เจตนารมณ์เพื่อต้องการปรับปรุงประสิทธิภาพในการทำงาน ซึ่งเป็นการลดคอร์รัปชั่นไปในตัว จริง ๆแล้วหน่วยราชการ/หน่วยงานรัฐ ถ้ามีประสิทธิภาพการทำงานตรงไปตรงมา และการปฏิรูปได้ผล ปัญหาคอร์รัปชั่นก็จะถูกแก้ไขได้

อย่างผมยกตัวอย่างที่จะมีการปฏิรูปตำรวจ ถ้าสิ่งที่ปฏิรูปตำรวจเป็นสิ่งที่ได้ผล ไม่ใช่แบบขอไปที มันก็จะทำให้กระบวนยุติธรรมตั้งต้นมันดีขึ้น ปัญหาคอร์รัปชั่นในระดับตำรวจก็จะน้อยลง ไม่ใช่ว่าจะหมดไป แต่คือจะทำให้ยากขึ้นและโอกาสเกิด เกิดน้อยลง และถ้ากระบวนการตรวจสอบเราเข้มแข็งด้วย ภาคประชาชนเข้มแข็ง ก็จะไปด้วยกันด้วย

pamon2

*ยุทธศาสตร์ประเทศ 20 ปี จำเป็นนำทิศทาง ?
การวางยุทธศาสตร์เพื่ออนาคตเป็นสิ่งดี เพราะว่าในองค์กรที่ผมเคยทำงาน เราก็มีการวางยุทธศาสตร์ยาวเหมือนกัน อาจไม่ถึง 20 ปี เป็นการวางยุทธศาสตร์ระยะปานกลางคือ 5 ปีขึ้นไป สำหรับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ผมก็เชือว่า เขาคงไม่ออกแบบให้ตายตัว ออกแบบและปรับเปลี่ยนได้ แต่เป็นยุทธศาสตร์ที่มีความต่อเนื่อง ทำแล้วชัดเจน คือปัญหาของหลายองค์กรหรือประเทศในอดีตก็คือว่าแต่ละรัฐบาลที่เข้ามาจะมีแนวความคิดของตนเองว่าต้องทำโน่นนี่ อาจไม่สอดคล้องหรือถ้าไปขัดแย้งกับของเดิม ๆก็ไม่ทำด้วยซ้ำไป มันก็เลยคล้ายพายเรือในอ่าง ยุทธศาสตร์นี่ถ้ายอมรับว่าใครก็ตามที่เข้ามาเป็นรัฐบาลแล้วให้เขามีส่วนร่วมด้วย แล้วถ้าบอกว่าสิ่งนี้ขอปรับเปลี่ยนไปเพื่อให้เหมาะสมตามสภาพที่แก้ไขได้ ผมก็ว่าเป็นสิ่งที่ดี และก็รับรู้ด้วยกันว่าของดีที่มีอยู่แล้ว คุณก็อย่าไปเปลี่ยนก็ทำต่อมาร่วมช่วยกัน ซึ่งผมก็เชื่อว่ายุทธศาสตร์ที่วางไว้ 20 ปีก็น่าจะออกแบบเป็นอย่างนั้น

*ACT เสมือนเป็นองค์กรเอ็นจีโอ
ผมไม่อยากให้มองเป็นเอ็นจีโอ เพราะเอ็นจีโอมีภาพทั้งบวกและลบ คือความจริงแรกเริ่มของACT มาจากภาคเอกชนรวมตัวกัน แต่ขณะนี้ขยายเป็นภาคประชาสังคมมากกว่า เพราะเรามีคนที่มาร่วมงานจากทุกสาขา และที่เราใช้คำนี้เพราะเงินที่ได้ก็มาจากผู้บริจาค มาจากภาคธุรกิจที่เขาเห็นประโยชน์ก็มาบริจาคให้ และคนที่มาทำงานก็เป็นอาสาสมัคร มีหลายสิบคนที่ทำงานอยู่เบื้องหลังที่เราไม่รู้จัก คือเป็นคนที่ให้เวลา ให้การสนับสนุนทั้งทางตรงและทางอ้อม โดยไม่ได้หวังผล

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว