“สามเหลี่ยมเขยื้อนภูเขา” เคลื่อนภารกิจ สช.

01 ต.ค. 2560 | 06:06 น.
TP-6-3301-2A

ครบรอบ 10 ปี “สำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ” หรือ สช. แต่สิ่งที่สังคมสนใจ คือ 10 ปีที่ผ่านมา สช. ขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพอย่างไรบ้าง ซึ่ง น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ ระบุว่า สช. เกิดขึ้นพร้อมกับพระราชบัญญัติสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2550 ถูกออกแบบให้มี “ธรรมนูญสุขภาพ” เป็นกลไกหลักในการกำหนดนโยบาย หรือ ทำอะไรที่เกี่ยวกับสุขภาพต้องนำไปเป็นกรอบในการพิจารณา

“10 ปีที่ผ่านมา ‘รถไฟขบวนสายสุขภาพ’ เป็นขบวนที่เติบโตอย่างรวดเร็ว ทั่วถึงกว้างขวาง ไปในทุกจังหวัดจนถึงระดับตำบล สช. ทำหน้าที่เป็นฝ่ายประสานงาน หรือ สานพลัง เป็นหน่วยงานเล็กภายใต้สำนักนายกรัฐมนตรีี เพื่อจะได้ทำงานข้ามกระทรวง จึงเป็นหน่วยงานขึ้นตรงกับนายกรัฐมนตรี ถือว่า 10 ปีที่ผ่านมา ทำงานได้บรรลุวัตถุประสงค์ คือ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในการสร้างนโยบายสาธารณะ โดยใช้ 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา มีภาควิชาการ ภาคประชาสังคม และภาครัฐ ร่วมกันสร้างการมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายทั้งในระดับชาติและระดับท้องถิ่น”

[caption id="attachment_214415" align="aligncenter" width="503"] น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ น.พ.พลเดช ปิ่นประทีป เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการสุขภาพแห่งชาติ[/caption]

เหตุผลในการใช้ 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา
น.พ.พลเดช ให้เหตุผลว่า เพราะการจะออกนโยบายอะไรก็ตาม ไม่ควรออกขั้วใดขั้วเดียว แต่อย่างน้อยต้องมี 3 ขั้ว เพราะแต่ละขั้วมีบทบาท ศักยภาพ และอำนาจหน้าที่แตกต่างกัน ถ้าขาดไป 1 หรือ 2 ขั้ว ก็จะไม่ครบองค์ประกอบ ดังนั้น การจะกำหนดนโยบายสาธารณะต้องมี 3 ส่วนนี้ เข้ามามีส่วนร่วม

และในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สช. ได้สร้างเครื่องมือ 3 เครื่องมือ คือ 1.ธรรมนูญสุขภาพ ทั้งในระดับชาติและท้องถิ่น ซึ่งระดับท้องถิ่นธรรมนูญระดับชาติถูกประยุกต์ใช้ในระดับตำบล ประกาศใช้แล้วไม่ต่ำกว่า 1,000 แห่งทั่วประเทศ ทั้งหมดนี้ สช. ไม่ได้ทำ แต่ชาวบ้านนำไปทำเอง สช. เพียงให้คำปรึกษา โดยที่ สช. ไม่ต้องลงมือเอง แต่ชาวบ้านเห็นคุณค่าและเขาเห็นประโยชน์จากเครื่องมือ

2.สมัชชาสุขภาพ เป็นเครื่องมือและกลไกให้มีส่วนร่วม คือ การประชุมใหญ่ของคนในเรื่องนั้น ทั้งในระดับชาติ ที่จะรวมตัวปีละครั้ง เรียกว่า สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ บางจังหวัดมีระดับจังหวัดและอำเภอ แต่ที่มีประสิทธิภาพมาก คือ ระดับชาติและจังหวัด เล็กกว่านั้นจะไม่มีพลังเท่าธรรมนูญสุขภาพ

และ 3.การประเมินผลกระทบด้านสุขภาพ (HIA) เป็นเครื่องมือที่สร้างการมีส่วนร่วม ในลักษณะของการสร้างสรรค์ สมานฉันท์ หาทางออกที่ “วิน วิน วิน” ด้วยกันทุกฝ่าย ทำให้คนที่ไม่เข้าใจกัน มีความขัดแย้ง ได้เข้าใจกัน ซึ่งเครื่องมือนี้ทำในฐานของโครงการ เช่น โครงการจากภาครัฐไปตั้งในชุมชน และชุมชนสงสัยว่า จะมีผลกระทบต่อสุขภาพของเขาในระยะยาว เขาก็สามารถนำเครื่องมือการประเมินผลกระทบไปใช้ โดยมีคู่มือและวิทยากรที่จะฝึกชาวบ้าน เป็นการพัฒนารายโครงการ จึงจะเป็นเครื่องมือที่เกิดขึ้นเมื่อมีโครงการ จะทำต่อเมื่อมีประเด็นปัญหาขึ้นมา

“ทั้ง 3 เครื่องมือ ขณะนี้ เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของเครือข่ายชุมชน ท้องถิ่น ประชาสังคม ถ้าเทียบใน 10 ปีที่ผ่านมา ความเข้าใจของสังคม ของหน่วยงานรัฐ ภาคธุรกิจ อาจจะระแวง มีช่องว่าง จะเข้ามาร่วมก็กลัวว่า จะถูกด่า กลัวตกเป็นจำเลย จึงหลีกเลี่ยงมาร่วมเวทีในช่วงแรก ๆ”

เลขาธิการ สช. ยอมรับว่า ภาคประชาชนเอง บางทีก็ใช้เครื่องมือสุดโต่งไปเหมือนกัน แล้วก็มองอีกฝ่ายลักษณะที่เป็นฝ่ายตรงข้าม ไม่ไว้วางใจ ดังนั้น เวลามีเวทีสมัชชาสุขภาพแห่งชาติ เราจะเห็นที่นั่งของภาคธุรกิจ ภาครัฐ จะว่าง เพราะเขาไม่มา ไปถามก็พบว่า เขาเหมือนตกเป็นจำเลย ภาคประชาชนจะอัด กล่าวโทษ ซึ่งไม่เป็นสุขภาวะ แต่เป็นทุกขภาวะของเขา แต่ตอนหลัง ภาคประชาชนมีวุฒิภาวะมากขึ้น ผ่านประสบการณ์ต่าง ๆ มากมาย แต่ไม่สำเร็จ แต่ที่สำเร็จจะต้องใช้ 3 เหลี่ยมเขยื้อนภูเขา คือ การเห็นคุณค่าซึ่งกันและกัน รับฟัง และรับสภาพข้อจำกัดของกันและกัน

“เครื่องมือของ สช. จึงสามารถนำไปปรับใช้ได้ตามสภาพปัญหา ที่มีทุน ความขัดแย้ง ธรรมชาติ เหมือนกับการตัดเสื้อเฉพาะตัว ออกแบบเฉพาะคน ก็จะเป็นเครื่องมือแบบนั้น ที่ไม่ตายตัว เพราะเป็นเครื่องที่ออกแบบกระบวนการและหลักคิด ส่วนวิธีการขึ้นอยู่กับสถานที่นั้น ๆ องค์ประกอบอื่น ความรุนแรงของปัญหา ที่ต้องปรับประยุกต์ใช้”

น.พ.พลเดช กล่าวว่า การขับเคลื่อนงานด้านสุขภาพตอนนี้และในอนาคต สช. ไม่ได้ขับเคลื่อนเพียงหน่วยงานเดียว เพราะมี 6 กระทรวง และองค์กรตระกูล ส. ด้านสุขภาพ (สช., สสส., สปสช. ฯลฯ) และการมีกระบวนการระดมความคิดเห็นต่อจากนี้ ต้องก้าวข้ามความคุ้นเคยที่มองคนอื่นเป็นอีกฝ่าย แล้วโยนบาปให้คนอื่น ปัญหาทุกอย่างต้องช่วยกันแก้ เป็นการเปลี่ยนวิธีคิด หรือ Mind Set ของเครือข่ายร่วมสมัชชาสุขภาพฯ

“ในอนาคตเครื่องมือของ สช. จะเป็นเครื่องมือสำคัญของประเทศไทย ในการรับมือความขัดแย้ง สังคมที่ยังขัดแย้ง ผมเชื่อว่า สช. ภาคีเครือข่าย และ พ.ร.บ.สุขภาพฯ เป็นฐานทุนที่สำคัญที่จะแก้ปัญหาความขัดแย้งที่เรื้อรัง และนำไปสู่ภาวะที่สานสามัคคีปรองดองได้ กลายเป็นเครื่องมือทางการเมืองได้เลยนะครับ แต่ไม่ใช่การเมืองแบบตัวแทน เป็นเครื่องมือทางการเมืองของพลเมือง ที่ทำให้ระบบประชาธิปไตยจากฐานข้างล่างมาสู่ข้างบน”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1-4 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9