‘รีไฟแนนซ์...บ้าน’

02 ต.ค. 2560 | 23:05 น.
MP23-3301-B เมื่อพูดถึงคำว่ารีไฟแนนซ์ คนคงนึกถึงสินเชื่อบ้านเป็นลำดับแรกทั้งที่จริงๆแล้วมีสินเชื่อที่ควรรีไฟแนนซ์ไม่แพ้กัน นั่นคือหนี้จากการใช้บัตรเครดิต

“บัตรเครดิต” เป็นเครื่องมือที่ดีในการบริหารเงินอย่างหนึ่ง ถ้าเราใช้อย่างเข้าใจเพื่อใช้ซื้อสินค้าและบริการ ทำให้ชีวิตเราสะดวกและปลอดภัยขึ้นเพราะไม่ต้องพกเงินสด ไม่ต้องนับเงินทอน ไม่ต้องมีเศษสตางค์ ยังได้ส่วนลดตามรายการโปรโมชันพิเศษต่างๆ อีกด้วย เมื่อครบรอบเดือนการใช้จ่ายก็มีใบสรุปรายการที่เราใช้จ่ายบัตรจากวงเงินสินเชื่อบัตรรายเดือนเหมือนเป็นนักบัญชีประจำตัวให้เราอีกต่างหาก เราสามารถใช้เงินบัญชีช่วงระยะเวลาปลอดดอกเบี้ยของบัตรเครดิตซึ่งโดยเฉลี่ยปกติเกือบเดือนได้(10-55 วัน) ไปลงทุนอย่างอื่นก่อน เป็นการบริหารเงินต่อที่หนึ่ง ใช้บัตรบ่อยๆก็ได้คะแนนสะสมนำไปแลกของสมนาคุณ หรือใช้แทนเงินสดก็ได้ โดยทั่วไปคะแนน 1,000 คะแนนน่าจะมีมูลค่าเทียบเท่าเงินสดได้สัก 100 บาท บางคนวางแผนการเงินอย่างดี และมีวินัย กอดคะแนนสะสมไว้แน่น สะสมจนนำไปแลกตั๋วเครื่องบินบินไปต่างประเทศหลายรอบก็มีมาแล้ว ทั้งนี้ทั้งนั้นเราควรจะจ่ายยอดใช้จ่ายบัตรเต็มจำนวนถึงจะได้ประโยชน์สูงสุด (สุดแฮปปี้)

แต่อย่างว่าคนเราบางครั้งก็มีช็อตบ้าง ก็เริ่มชำระหนี้บัตรแบบขั้นตํ่า 10% บ่อยๆเข้ารู้สึกสบายดีไม่ต้องคิดมาก โดยไม่เคยสังเกตุว่าดอกเบี้ยอยู่ที่ 18% ต่อปี ถ้าคงยอดคงค้างประมาณ1 แสนตลอดปีจะจ่ายดอกเบี้ยสูงถึง 18,000 บาท
ขณะเดียวกันคนถือบัตรเครดิตจำนวนไม่น้อย ก็เป็นหนี้โดยไม่รู้ตัวจากการรูดบัตรเครดิต เช่น ใช้บัตรซื้อสินค้าชิ้นใหญ่ แล้วเลือกชำระแบบผ่อนขั้นตํ่า 10% รอวันครบกำหนดก็ไปจ่าย ผ่อนไปเรื่อยๆ จ่ายดอกเบี้ย 18% ต่อปี ไปเรื่อยๆสมมติ หนี้วงเงิน 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 18% ผ่อนขั้นตํ่า 10% ต้องใช้เวลาผ่อนนานเกือบ 3 ปี กว่าจะผ่อนชำระหมด
จากรายงานยอดสินเชื่อคงค้างผ่านบัตรเครดิตที่ราวๆ 3.3 แสนล้านบาท น่าจะมีคนไม่น้อยกว่าครึ่งหนึ่งที่ใช้วิธีผ่อนชำระบัตรเครดิตแบบขั้นตํ่า (10%) อยู่

วันนี้ เราจึงอยากชวนลูกค้าลุกขึ้นมาเช็กสภาพการเงินและบริหารจัดการหนี้อย่างเข้าใจ ด้วยการรีไฟแนนซ์ เราเรียกว่า Smart Refinance Plan สำหรับคนที่กำลังผ่อนหนี้บัตรเครดิตไปเรื่อยๆ หรือมีแผนชัดเจนว่าจะไม่ชำระหนี้ค้างบัตรทั้งจำนวนได้ในเวลาเป็นปีหรือมากกว่า แนะนำให้หาเงินกู้ที่อัตราดอกเบี้ยถูกกว่า 18% ต่อปี มาชำระหนี้บัตรเครดิตทั้งจำนวน แต่ก็ต้องดูเรื่องค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้นด้วย หากเป็นสินเชื่อระยะสั้นและไม่มีค่าใช้จ่ายเลยน่าจะเป็นสินเชื่อบุคคล
ซึ่งเป็นสินเชื่ออเนกประสงค์ มีกำหนดระยะเวลาผ่อนที่แน่นอน แต่ในตลาดที่มีอยู่ส่วนใหญ่อัตราดอกเบี้ยก็จะสูงหรือแพงกว่าบัตรเครดิต ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยเราในฐานะผู้ปลุกกระแสนี้ จึงมี แคมเปญสนับสนุนโครงการนี้ เริ่มด้วยง่ายๆ ผ่อนหมดภายใน 1 ปีที่อัตราดอกเบี้ยครึ่งหนึ่งของบัตรเครดิตคือ 9%ต่อปี (1 แสนบาทจะผ่อนเดือนละ 8,750 บาท) และยังมีอีกหลากหลายแบบเพื่อสนับสนุนโครงการนี้โดยเฉพาะเพื่อให้เห็นภาพชัด ลูกค้ามีหนี้บัตรเครดิต 1 แสนบาท ดอกเบี้ย 18% ผ่อนขั้นตํ่า 10% จึงผ่อนเดือนละ 10,000 บาท(หากไม่ใช้เพิ่มยอดผ่อนจะทยอยลดลงเกือบ 10% ในแต่ละเดือน) เทียบกับสินเชื่อบุคคล11.73% นาน 15 เดือน ค่างวดจะลดเหลือ 7,200 บาทต่อเดือน หากเลือกผ่อน 24 เดือน จะจ่ายค่างวดเพียงเดือนละ 4,700 บาท ประหยัดค่างวด และทั้ง 2 แบบประหยัดดอกเบี้ยได้กว่า 35% ดังนั้นการขอสินเชื่อบุคคล เพื่อนำมารีไฟแนนซ์หนี้บัตรเครดิตจึงเป็นทางเลือกที่ประหยัดดอกเบี้ยได้ทันที แถมโดยรวมภาระยังเบาลงจากค่างวดที่ลดลง และมีระยะเวลาที่แน่นอน

กลับมาที่รีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านกันบ้าง ขอยกตัวอย่าง กู้เงินซื้อบ้านราคา 2 ล้านบาท กรณีผ่อนที่ 6.5% ผ่อนนาน 30 ปี หากรีไฟแนนซ์มาที่ดอกเบี้ย 5.5% คำนวณแล้วระยะเวลาผ่อนจะเหลือ 23 ปีเศษ และประหยัดค่าผ่อนได้เกือบล้านบาท ตัวอย่างดอกเบี้ยที่ยกมาอาจไม่สะท้อนอัตราตลาดเท่าใดนัก แต่เราอยากยกมาให้ดูว่า ดอกเบี้ยที่ต่างกันเพียง 1% ก็ทำให้ระยะเวลาผ่อนหายวับไปทันทีถึง 7 ปี และประหยัดเงินได้เป็นล้าน

ปัจจุบัน มีสินเชื่อรีไฟแนนซ์ออกมาตอบโจทย์ครบ ทั้งรีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านทั่วไป รีไฟแนนซ์สินเชื่อบ้านพร้อมสินเชื่อเพิ่มเติมเพื่อตกแต่ง และสินเชื่อบ้านแลกเงิน จากการนำบ้านปลอดภาระไปเปลี่ยนเป็นทุน ใครที่ผ่อนมาระยะหนึ่งก็สามารถรีไฟแนนซ์เพื่อดอกเบี้ยที่ถูกกว่าได้

การรีไฟแนนซ์ไม่ได้ยุ่งยากอย่างที่คิด ลูกค้าเพียงใช้เวลามองหาสินเชื่อโปรแกรมใหม่ๆที่ดีและคุ้มค่ากว่า ยิ่งยุคนี้ มีเครื่องมือดีๆ เว็บไซต์ดีๆ ช่วยคิด คำนวณ เปรียบเทียบอยู่เต็มไปหมด การรีไฟแนนซ์ไม่จำเป็นต้องย้ายธนาคารเท่านั้น ลองศึกษาโปรแกรมสินเชื่อใหม่ๆจากธนาคารเดิมก่อน หากไม่ถูกใจค่อยย้ายไปใช้ธนาคารที่ยินดีเสนอทางเลือกที่ดีที่สุด

“สุขภาพจะดี ต้องหมั่นออกกำลังกาย สุขภาพทางการเงินจะแข็งแรงได้ ก็ต้องรู้จักวิธีบริหารเงิน”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9