มงคล ลีลาธรรม ชูSMEs-ดีแม็กตอบโจทย์แบงก์-ลูกค้า

03 ต.ค. 2560 | 13:53 น.
ร่วม 20เดือนของการอาสาเข้ามาพลิกฟื้นธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย(ธพว.หรือเอสเอ็มอีแบงก์) ตามนโยบายคณะกรรมการนโยบายกำกับดูแลรัฐวิสาหกิจ (คนร.) หรือซูเปอร์บอร์ดกระทั่งปัจจุบันสถานะธนาคารสามารถกลับมาเป็นกลไกของรัฐได้อีกครั้งแม้คงเหลือหนี้เอ็นพีแอลที่ธนาคารระงับการรับรู้รายได้โดยรอกระบวนการบังคับหลักประกันชำระหนี้ หลังให้โอกาสและผ่อนปรนตามควรแล้ว

[caption id="attachment_214489" align="aligncenter" width="335"] มงคล ลีลาธรรม มงคล ลีลาธรรม[/caption]

++ฟื้นไข้เรียกความเชื่อมั่น
“มงคล ลีลาธรรม” กรรมการผู้จัดการ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (เอสเอ็มอีแบงก์หรือธพว.) ฉายภาพการฟื้นฟูธนาคารที่มีความคืบหน้าตามลำดับ โดยกำลังก้าวไปสู่ปีที่2 ของการเข้ามาบริหารจัดการ ทำให้ภาพลักษณ์พันธกิจชัดเจนในความเป็น “ธนาคารเพื่อการพัฒนา” ซึ่งไม่ใช่ให้เงินทุนเพียงอย่างเดียวแต่ต้องให้ความรู้เป็นภูมิคุ้มกันไปด้วย จึงทำให้สูญเสียน้อยลง ขณะที่ธนาคารเองนอกจากเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงทั้งสิ้นกลับมาอยู่ที่ 11.39% หนี้เอ็นพีแอลเก่าตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งจำเป็นต้องบังคับหลักประกันมาชำระหนี้ประมาณ 5,800 ล้านบาท อยู่ที่ 17% มูลหนี้กว่า 1.59 หมื่นล้านบาท (ซึ่งปรับลดลงจากอัตรา 19% มูลหนี้ 1.79 หมื่นล้านบาท) ส่วนเอ็นพีแอลจากสินเชื่อปล่อยใหม่อยู่ในระดับตํ่าเพียง 2.64% ซึ่งการฟื้นไข้ของธนาคาร ทำให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้าถึงแหล่งเงินทุนและบริการแล้ว ธนาคารเองก็สามารถฟื้นฟูความน่าเชื่อถือกลับมาทำให้มีต้นทุนเครดิตลดลง ขณะที่ธนาคารอื่นต้นทุนเครดิตเพิ่มขึ้น จากอุตสาห-กรรมเอสเอ็มอีเกิดหนี้เสียเพิ่มเป็น 8%จากเดิมเคยอยู่ที่ 5% ทำให้การปล่อยสินเชื่อเอสเอ็มอียากขึ้นเพราะเหตุของความไม่กล้า

“ตอนเข้ามาฟื้นฟูเอสเอ็มอีแบงก์มีปัญหา 3 ด้านซึ่งได้รับการแก้ไขและมีความคืบหน้า เช่น ฐานลูกค้าสะท้อนผ่านเอ็นพีแอลโดยปีแรกได้ทยอยปรับลดลงขณะที่พนักงานที่มีกว่า 2,000 คนรวม 93 สาขา ร่วมเพิ่มประสิทธิภาพสามารถทำงานเชื่อมโยงและควบคุมภายในแต่การที่ธนาคารจะแข่งขันได้ปีหน้าจะต้องทำเรื่องเทคโนโลยี”

++ติดปีกเอสเอ็มอี-ดีแม็ก
ปัจจุบันคณะกรรมการของธนาคาร (บอร์ด) ได้อนุมัติแผน “SME-DEMAG” เอสเอ็มอี ดีแม็ก หรือเอสเอ็มอี ดิจิตอล โดยจะเริ่มติดอาวุธผ่านแอพพลิเคชันลูกค้า ตั้งแต่เดือนพฤศจิกายนเป็นต้นไป เพื่อตอบโจทย์ 3 เรื่องคือ การเข้าถึงและเติมเต็มบริการทางการเงิน มีภูมิคุ้มกันด้านความรู้และอยู่รอด ทั้งในส่วนของธนาคารและลูกค้าเอสเอ็มอีโดยที่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอีสามารถใช้พลังสร้างสังคมออนไลน์ที่เอื้อต่อการขายการลงทุนในวงกว้าง อีกทั้งธนาคารสามารถเพิ่มฐานลูกค้าเป็น 4 แสนรายจากที่ใช้บริการอยู่ 1.9 แสนราย ซึ่งเอสเอ็มอีดีแม็กจะลบจุดอ่อนในความเป็นธนาคารขนาดเล็กที่จำกัดเรื่องการเข้าถึงทั้งสาขาและเครื่องเอทีเอ็ม โดยเป้าหมายที่จะดึงเอสเอ็มอีที่อยู่นอกระบบอีกประมาณ 53% เข้าสู่ระบบควบคู่กับการช่วยเหลือและส่งเสริมเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน

โดยเฉพาะสาขาและพนักงานของธนาคารต้องร่วมทำงานกับกองทุนประชารัฐอย่างต่อเนื่องเพื่อสานต่อนโยบายของรัฐบาล “ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง” ซึ่งผลคืบหน้าการดำเนินงานกองทุนฯ มีผู้ประกอบการ SMEs ยื่นคำขอสินเชื่อ ผ่านทางสำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัด 1.7 หมื่นล้านบาทซึ่งเกินจากวงเงินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 1.5 หมื่นล้านบาท ขณะที่สำนักงานอุตสาหกรรมจังหวัดคัดกรองส่งมาที่ธพว.แล้ว 1.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งดำเนินการแล้วเสร็จ 5,500 ล้านบาท โดยยังอยู่ในขั้นตอนขอเอกสารลูกค้าเพิ่มเติมอีก 3,300 ล้านบาท และอยู่ระหว่างวิเคราะห์เพื่อเตรียมอนุมัติสินเชื่อ จำนวน 1,400 ล้านบาท

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9