BBLติงโรงสีรายเล็กเก็งกําไร

03 ต.ค. 2560 | 06:39 น.
ธนาคารกรุงเทพชี้โรงสี ข้าวรายเล็กส่อขาดทุน-เตือนหยุดเก็งกำไร ประเมินเอ็นพีแอลพอร์ตทั้งกลุ่มทรงตัวแต่ยังไม่แตะจุดพีก หลังภาพใหญ่เศรษฐกิจทยอยฟื้น ห่วงรายกลาง-เล็กยันพร้อมช่วยประคองทุกรายที่ประสบปัญหา คาดทั้งปีสินเชื่อโตตามเป้า 3-5%

นายชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ กล่าวว่า ภาพรวมสินเชื่อในช่วง 8-9 เดือนสถานการณ์เริ่มดีขึ้นตามภาวะเศรษฐกิจ โดยสินเชื่อรวมของธนาคารยังคงเติบโตได้ตามเป้าหมายที่ตั้งไว้ทั้งปีอยู่ที่ 3-5% ซึ่งการเติบโตมาจากทุกภาคธุรกิจผสมกัน ทั้งสินเชื่อรายย่อย สินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และธุรกิจรายใหญ่ ประกอบกับภาครัฐอยู่ในช่วงวางรากฐานผ่านโครงการการลงทุนต่างๆ จะทำให้เศรษฐกิจแข็งแรงขึ้น โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) น่าจะขยายตัวตามที่ภาครัฐคาดการณ์ไว้ที่ระดับ 3.5-4% ส่วนทิศทางเอ็นพีแอลอยู่ในระดับบริหารจัดการได้ ไม่ได้เป็นที่กังวลแต่อย่างใด โดยการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญยังคงเป็นไปตามปกติไม่ได้เพิ่มขึ้นเป็นพิเศษ

[caption id="attachment_214481" align="aligncenter" width="336"] ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ ชาติศิริ โสภณพนิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ธนาคารกรุงเทพ[/caption]

นายสุวรรณ แทนสถิตย์ กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ในกลุ่มโรงสีข้าวเห็นสัญญาณการผิดนำชำระหนี้ค่อนข้างนิ่งแล้ว โดยเฉพาะกลุ่มโรงสีข้าวขนาดใหญ่ที่มีความแข็งแรง จึงไม่ค่อยมีปัญหามากนักเมื่อเทียบกับโรงสีข้าวขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยจะมีบางรายที่ยังมีปัญหาอยู่ เนื่องจากเน้นการทำกำไรเกินความพอดี ทำให้เกิดความเสียหายได้ ปัจจุบันพอร์ตโรงสีข้าวของธนาคารพบมีลูกค้าที่มีปัญหาอยู่ประมาณ 2-3 ราย ซึ่งธนาคารพยายามช่วยเหลืออยู่

ส่วนแนวทางวิธีการบริหารจัดการหนี้เอ็นพีแอลปีนี้ ยังคงใช้แนวทางการช่วยเหลือโดยการปรับโครงสร้างหนี้ การแปลงหนี้เป็นทุน ยืดอายุการชำระหนี้ ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง รวมถึงสนับสนุนวงเงินทุนเพิ่มเติมเสริมสภาพคล่องให้ธุรกิจ ซึ่งเป็นวิธีการบริหารหนี้ปกติ โดยพิจารณาตามความเหมาะสม ประเภทธุรกิจและคุณลักษณะลูกหนี้ เป็นต้น ส่วนการตัดพอร์ตหนี้ขายนั้น ไม่ใช่วิธีหลักของธนาคาร เพราะเป็นเรื่องของลูกค้าที่จะตัดสินใจ เนื่องจากสินทรัพย์บางอย่างเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกค้า

สำหรับทิศทางเอ็นพีแอลทั้งระบบธนาคารพาณิชย์ มองว่า ยังไม่ค่อยดีขึ้นมากนัก ทิศทางยังคงทรงตัวหรือทรุดบ้างในบางคราว เนื่องจากต้องยอมรับว่าภาวะเศรษฐกิจภาพใหญ่ตอนนี้ยังฟื้นตัวไม่ดีมาก ซึ่งเมื่อเศรษฐกิจไม่ดี ราคาพืชผลทางการเกษตรที่ยังไม่สูง ทำให้กลุ่มผู้ประกอบการธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยเฉพาะรายเล็กๆ หรือรายย่อย ได้รับผลกระทบ และยังไม่สามารถฟื้นตัวได้ ทั้งในแง่การใช้จ่ายและการบริโภค ส่งผลให้ภาพรวมหนี้เอ็นพีแอลยังคงเพิ่มขึ้นได้ อย่างไรก็ดี ในกลุ่มธุรกิจรายใหญ่ต้องยอมรับว่าค่อนข้างแข็งแกร่ง และมีประสบการณ์มาแล้วในช่วงวิกฤติปี 2540 จึงไม่น่าเป็นห่วงว่าปัญหาหนี้จะส่งผลให้ธุรกิจล้มหายลงไป

ทั้งนี้ในส่วนของระดับเอ็นพีแอลของธนาคารกรุงเทพนั้น สอดคล้องกับภาพใหญ่ของระบบ โดยเริ่มเห็นสัญญาณทรงตัวบ้างในบางกลุ่ม แต่ก็ยังมีทิศทางเพิ่มขึ้นเล็กน้อย แต่เมื่อเทียบกับในอดีตถือว่าลดลงมาค่อนข้างเยอะ เพราะจะเห็นว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาระดับเอ็นพีแอลของธนาคารเพิ่มขึ้นมาค่อนข้างสูง ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากภาวะเศรษฐกิจและสถานการณ์ธุรกิจเอสเอ็มอีที่มีปัญหา ทำให้ความสามารถในการชำระหนี้ของลูกค้าลดลง

“ตอนนี้เอ็นพีแอลในระบบแบงกิ้งยังทรงๆ ทรุดๆ ไม่ดีเท่าไรนักตามภาพใหญ่เศรษฐกิจที่ยังไม่ได้ดีมาก ทำให้กลุ่มรายเล็กๆ ยังแย่อยู่ แต่ภาครัฐพยายามออกมาตรการโครงการต่างๆ มาช่วยเหลือ เพราะกลุ่มนี้เป็นกลุ่มสำคัญที่ช่วยขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ดังนั้น เรายังบอกไม่ได้ว่าเอ็นพีแอลจะถึงจุดพีกเมื่อไร หรือหยุดเพิ่มขึ้นตอนไหน สถานการณ์มันยังคงตื้อๆ อยู่ เราก็ช่วยเหลือลูกค้าให้ประคองธุรกิจไปให้ได้”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9