แบงก์กินรวบสินเชื่อ! ชิงแชร์ “เมนแบงก์” โฟกัสซัพพลายเชน

04 ต.ค. 2560 | 04:55 น.
“แบงก์” รุกหนักซัพพลายเชน! กินรวบธุรกิจรายใหญ่-เอสเอ็มอี-ลดเสี่ยงหนี้เสีย ... ค่ายไทยพาณิชย์-กสิกรไทย หวังลูกค้าใช้เป็นธนาคารหลัก-ขยายคู่ค้าอุตสาหกรรมเป้าหมายต่อยอด ด้าน “กรุงศรีฯ-ทีเอ็มบี” ชูจุดแข็งเครือข่ายญี่ปุ่น-ภาครัฐขยายเชน

นายสุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า แนวโน้มความต้องการสินเชื่อธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังคงมีสูง แต่จากภาวะเศรษฐกิจที่ขยายตัวไม่เต็มที่และเครดิตยังเป็นประเด็น ประกอบกับปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าพันธมิตรอยู่ 150 พันธมิตร แต่ปกติลูกค้า 1 เชน จะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน ทำให้เติบโตค่อนข้างช้าและเกิดมูลค่าธุรกิจไม่มาก ดังนั้น จึงให้ความสำคัญกับห่วงโซ่ธุรกิจ ช่วยลูกค้าและต่อยอดการเติบโตของธนาคาร สามารถเป็น “ธนาคารหลัก” ของลูกค้าได้ อีกทั้ง กลุ่มนี้มีหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) ต่ำกว่าสินเชื่อประเภทอื่น

[caption id="attachment_214470" align="aligncenter" width="336"] สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) สุรัตน์ ลีลาทวีวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน)[/caption]

ทั้งนี้ ภายในสิ้นปี ธนาคารตั้งเป้าจะขยายลูกค้าผู้ขายเพิ่มเป็น 2,000 บริษัท จากที่มีอยู่ 1,500 บริษัท ซึ่งผ่านการคัดกรองลูกค้ากลุ่มผู้ขาย จากที่ธนาคารได้เปลี่ยนกลยุทธ์ร่วมกับสายงานลูกค้ารายใหญ่ โดยวิเคราะห์ข้อมูลของการซื้อขายระหว่างลูกค้า-คู่ค้า ที่เกิดขึ้นประจำและทำโปรแกรมเสนอ โดยธนาคารจะอำนวยความสะดวกในการบริหารจัดการด้านการเงินทั้งขารับและขาจ่าย ซึ่งกลุ่มนี้พบว่า มีปริมาณซื้อขายระหว่างกันประมาณ 2,000,000 ล้านบาท/ปี หากคำนวณจากการปล่อยสินเชื่อใหม่ พบว่า มาจากกลุ่มนี้ประมาณ 10% ต่อเดือน ที่ผ่านมาครึ่งปีแรก ธนาคารปล่อยสินเชื่อกลุ่มนี้แล้วประมาณ 10,000 ล้านบาท

สำหรับช่วงที่เหลือ ธนาคารจะขยายผลิตภัณฑ์ในช่องทางออนไลน์มากขึ้น เพื่อขยายลูกค้าผู้ขายเพิ่มเป็น 2,000 บริษัท และยอดการปล่อยสินเชื่อให้กลุ่มนี้จะมีสัดส่วนเพิ่มเป็น 15% ต่อเดือน ของยอดสินเชื่อปล่อยใหม่ ทั้งปียอดปล่อยสินเชื่อรวมกลุ่มซัพพลายเชนจะมากกว่า 20,000 ล้านบาท

นางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ผู้บริหารสูงสุดลูกค้าเอสเอ็มอี บมจ.ธนาคารไทยพาณิชย์ กล่าวว่า กลยุทธ์ในปีนี้ ธนาคารจะเพิ่มฐานลูกค้าเอสเอ็มอีที่อยู่ในกลุ่มซัพพลายเชนเพิ่มขึ้นอีก 2,000 ราย หรือคิดเป็นการเติบโต 1 เท่าตัวของฐานลูกค้าปัจจุบัน ซึ่งจะขยายฐานลูกค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย เช่น กลุ่มรับเหมาก่อสร้าง, กลุ่มอาหารและเครื่องดื่ม หรือกลุ่มค้าปลีกค้าส่ง เป็นต้น โดยธนาคารจะดูความต้องการของลูกค้าและจะพัฒนาโซลูชันให้เหมาะสมและครอบคลุมความต้องการทางธุรกิจกับซัพพลายเชนนั้น ทั้งในส่วนของลูกค้ารายใหญ่และคู่ค้า


MP24-3301-1A

ทั้งนี้ ธนาคารจะมุ่งเน้นการเสนอโซลูชันที่ตอบสนองให้ลูกค้าเอสเอ็มอีสามารถดำเนินธุรกรรมทางการเงินกับธนาคารไทยพาณิชย์เป็น “ธนาคารหลัก” และเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจในรูปแบบซัพพลายเชน ซึ่งจะช่วยให้มียอดขายที่เติบโตและแข็งแกร่ง โดยที่ธนาคารสามารถขยายฐานลูกค้าด้วยความเสี่ยงที่ลดลงจากธุรกิจ เพราะธนาคารมีฐานข้อมูล เช่น ประวัติชำระเงินระหว่างลูกค้ารายใหญ่และลูกค้าเอสเอ็มอีรูปแบบการดำเนินธุรกิจอยู่แล้ว

ปัจจุบัน ไทยพาณิชย์มีฐานลูกค้ากลุ่มนี้ประมาณ 2,000 ราย โดยเป็นลูกค้าที่เป็นคู่ค้าของลูกค้าขนาดใหญ่ เช่น กลุ่ม ปตท., กลุ่มเอสซีจี และกลุ่มซีพี ออลล์ เป็นต้น ซึ่งมียอดสินเชื่อจากกลุ่มนี้ประมาณ 5,000 ล้านบาท โดย 7 เดือนแรก มีอัตราการเติบโตประมาณ 10% จากปีก่อน

นายเสนธิป ศรีไพพรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารลูกค้าธุรกิจ บมจ.ธนาคารทหารไทย กล่าวว่า ปีนี้ธนาคารจะหันมามุ่งเน้นขยายลูกค้าซัพพลายเชนในกลุ่มลูกค้าขนาดกลาง ที่มียอดขาย 1,000-5,000 ล้านบาท/ปี มากขึ้น ภายหลังจากขยายกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ได้จำนวนหนึ่งแล้ว โดยการขยายฐานลูกค้าขนาดกลางนั้น ธนาคารจะนำข้อมูลเครดิตของลูกค้ากลุ่มนี้มาวิเคราะห์บน Platform ของธนาคาร ทั้งในส่วนของแพลตฟอร์มการบริหารเงินสดและธุรกรรมการเงิน เพื่อขยายวงเงินสินเชื่อและซัพพลายเชนโซลูชันที่เหมาะสมกับลูกค้า

ปัจจุบัน ธนาคารมีฐานลูกค้าพันธมิตร จำนวน 33 ราย โดยมีลูกค้าที่ใช้บริการสม่ำเสมอ (Active) ประมาณ 20 ราย และมีคู่ค้า 2,000 ราย ซึ่งในจำนวนฐานลูกค้าดังกล่าวมียอดซื้อขายระหว่างกันประมาณ 80,000-90,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีก่อนที่มีปริมาณซื้อขายอยู่ที่ 8.2 หมื่นล้านบาท คาดว่า ภายหลังจากธนาคารเสนอโซลูชันบนแพลตฟอร์มของธนาคารจะช่วยเพิ่มยอดซื้อขายเติบโตเพิ่มขึ้นประมาณ 10-20% หรือคิดเป็นปริมาณยอดซื้อขายเกือบ 100,000 ล้านบาท ทั้งนี้ จากฐานลูกค้าส่วนหนึ่งเป็นภาครัฐ คาดว่า หลังจากภาครัฐมีการลงทุนในโครงการต่าง ๆ มากขึ้น จะช่วยขยายซัพพลายเชนลูกค้าภาครัฐได้มากขึ้นด้วย

นายสยาม ประสิทธิศิริกุล ประธานเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจ SME บมจ.ธนาคารกรุงศรีอยุธยา กล่าวว่า สินเชื่อซัพพลายเชนยังเป็นธุรกิจหลักที่จะช่วยให้สินเชื่อธุรกิจเอสเอ็มอีขยายตัวได้ดีขึ้น โดยเฉพาะซัพพลายเชนที่มาจากเครือข่ายของ MUFG เนื่องจากเป็นกลุ่มซัพพลายที่ค่อนข้างยาว และที่ผ่านมา มีลูกค้าญี่ปุ่นย้ายพอร์ตมาอยู่กับธนาคารเพิ่มขึ้น ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายที่ธนาคารจะขยายซัพพลายเชน เช่น กลุ่มออโต้, กลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มคอนซูเมอร์ เป็นต้น ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีอัตรการขยายตัวและเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพ จากปัจจุบันธนาคารมีฐานลูกค้าซัพพลายเชนกว่า 20 ราย โดยกลุ่มนี้มีอัตราเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 100%

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1-4 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9