“แท็กซี่โอเค-วีไอพี” ดีเดย์ พ.ย. นี้! ขบ. เร่งนำร่องบริการ 3 หมื่นคัน-การันตีความปลอดภัย

01 ต.ค. 2560 | 11:49 น.
กรมการขนส่งทางบกเร่งสปีด “รถแท็กซี่ไทย” โฉมใหม่ ภายใต้โครงการ “แท็กซี่โอเค-แท็กซี่วีไอพี” หนีปมปัญหากรณีให้บริการแบบผิดกฎหมาย ดีเดย์ 30,000 คัน เริ่มให้บริการ พ.ย. นี้ พร้อมนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้ามาช่วยยกระดับมาตรฐานให้เข้าถึงบริการ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตผู้โดยสารและผู้ขับรถในทุกมิติ

นายสนิท พรหมวงษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า อยู่ระหว่างการเร่งให้บริการโครงการ “แท็กซี่โอเค (TAXI OK) และแท็กซี่วีไอพี (TAXI VIP)” เพื่อการยกระดับการให้บริการรถแท็กซี่ไทยสู่มาตรฐานที่เหนือกว่าเดิม ด้วยการนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการควบคุมความปลอดภัยและศักยภาพในการเข้าถึงบริการอย่างสะดวก รวดเร็ว ภายใต้การดูแลและสนับสนุนจากภาครัฐ โดยในช่วงปีนี้มีแผนที่จะนำออกให้บริการจำนวน 30,000 คัน


TP12-3301-1A

เบื้องต้นนั้น รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่จะนำเข้าร่วมโครงการทั้งหมด ประการสำคัญ “บริการและคุณภาพต้องมาก่อน” ปัจจุบันมีผู้ประกอบการยื่นแสดงความสนใจแล้วหลายราย โดยโครงการนี้เป็นการใช้เครื่องมือด้วยการนำเทคโนโลยีทันสมัยเข้าไปปรับใช้ ทั้งระบบ GPS และแอพพลิเคชันในการเพิ่มทางเลือกให้บริการ ที่สามารถเรียกใช้บริการผ่านโทรศัพท์มือถือได้ทันที

ทั้งนี้ ขบ. ได้ตระหนักให้มีการเพิ่มรูปแบบการให้บริการ “รถแท็กซี่แบบพิเศษ หรือ TAXI VIP” เพื่อเป็นทางเลือกให้กับประชาชนที่ต้องการใช้รถที่มีสมรรถนะและความน่าเชื่อถือสูงในการให้บริการ โดยรถที่จะสามารถนำมาใช้เป็นรถแท็กซี่ VIP จะต้องมีมาตรฐานขนาดตัวรถ และสมรรถนะรถที่สูงกว่ารถแท็กซี่ทั่วไป เพื่อเพิ่มความปลอดภัย และเพิ่มเติมอุปกรณ์ส่วนควบ สำหรับให้บริการที่มีความสะดวกสบายมากขึ้น ซึ่งจะเป็นการยกระดับให้บริการทั้งระบบอย่างแท้จริง

สำหรับรถแท็กซี่ที่จดทะเบียนไว้ก่อนกฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ในภาคสมัครใจ โดยค่าบริการของระบบรถแท็กซี่ OK จะยังไม่มีการปรับเพิ่มเติมจากเดิม ส่วนอัตราค่าบริการรถแท็กซี่ OK เป็นไปตามที่ ขบ. กำหนด โดยอยู่ระหว่างเสนอประกาศในราชกิจจานุเบกษา ซึ่งคาดว่า จะมีรถแท็กซี่ OK ให้บริการเต็มรูปแบบในช่วง พ.ย. นี้


TP12-3301-A

โครงการดังกล่าวนี้ ถือได้ว่า เป็นการยกระดับบริการที่เหนือกว่าการแข่งขันด้านเทคโนโลยีที่ให้บริการอย่างถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งเป็นการร่วมมือด้านบริหารจัดการ ทั้ง ขบ., สหกรณ์แท็กซี่ หรือ ผู้ประกอบการ ตลอดจนผู้ขับขี่, ผู้โดยสาร ดังนั้น รายใหม่จึงต้องติดตั้งตามเงื่อนไขแท็กซี่โอเค เพื่อเข้าสู่ระบบใหม่ทั้งหมด โดยคุณภาพให้บริการจะมีการติดตามผ่านระบบไอทีต่าง ๆ ที่ ขบ. กำหนดไว้ ซึ่งเป็นการต่อยอดระบบบริการจากระบบไอทีที่จะเกิดประโยชน์ โดยเฉพาะการยกระดับบริการรถแท็กซี่ของไทยนั่นเอง”

อธิบดีกรมการขนส่งทางบก กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ขบ. กำหนดให้รถแท็กซี่ที่จดทะเบียนใหม่ทุกคัน ติดตั้งเครื่องบันทึกการเดินทางของรถ ประกอบด้วย อุปกรณ์ GPS Tracking ซึ่งเป็นระบบติดตามรถแบบ Real-Time พร้อมอุปกรณ์แสดงตัวผู้ขับขี่ ที่ใช้กับใบอนุญาตขับรถสาธารณะที่กรมการขนส่งทางบกออกให้อย่างถูกต้องตามกฎหมาย โดยต้องสามารถส่งระยะทาง เวลา พิกัดตำแหน่งรถ เส้นทางการเดินทาง ความเร็วรถ ค่าโดยสารจากมิเตอร์ ระบบประเมินสำหรับค่าโดยสารเบื้องต้น และระบบตรวจสอบความผิดปกติของค่าโดยสาร หรือ อาจติดตั้งมาตรค่าโดยสารแบบ Digital ที่มีคุณสมบัติครบตามเงื่อนไข มีระบบกล้องถ่ายภาพภายในรถแบบ Snap Shot เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้ผู้ขับรถและผู้โดยสาร รวมถึงมีปุ่มฉุกเฉินสำหรับผู้โดยสารที่สามารถส่งข้อมูลมายังศูนย์ให้บริการแท็กซี่และ ขบ. เพื่อขอความช่วยเหลือได้แบบทันที ทันสถานการณ์

“ด้วยการนำเทคโนโลยีมาใช้ในการควบคุม กำกับ ดูแล และบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่ออำนวยความสะดวก มีความปลอดภัยในการใช้บริการ เพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการเดินรถ ลดการวิ่งเที่ยวเปล่า เพิ่มรายได้ให้กับผู้ขับรถควบคู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้ประกอบอาชีพแท็กซี่ อย่างมีคุณค่าในสังคม เป็นผู้ให้บริการสาธารณะด้วยความสุจริต ดูแลผู้โดยสารด้วยความเป็นมิตร คุ้มครองสิทธิซึ่งกันและกัน ป้องกันปัญหาการปฏิเสธผู้โดยสาร การไม่เปิดมิเตอร์ ทั้งยังสามารถติดตามพฤติกรรมผู้ขับรถตลอดการให้บริการ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร และยกระดับมาตรฐานการให้บริการแท็กซี่อย่างเป็นรูปธรรม”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1-4 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9