อธิบดีใหม่กรมชลฯยืนยัน 10ปีพื้นที่อีอีซีไม่ขาดแคลนน้ำ

02 ต.ค. 2560 | 13:48 น.
จากที่มีข่าว พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชานายกรัฐมนตรีสั่งเบรกโครงการซื้อไฟฟ้าและผันนํ้าจากโครงการสร้างเขื่อนสตึงมนัมของกัมพูชาเพื่อป้อนโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เนื่องจากพบมีราคาที่สูง และได้สั่งการให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์กลับไปศึกษาอย่างละเอียดนั้น “ฐานเศรษฐกิจ” สัมภาษณ์พิเศษ“สมเกียรติ ประจำวงษ์”ว่าที่อธิบดีกรมชลประทานคนใหม่ถึงที่มาที่ไปของโครงการนี้ รวมถึงแผนงานของกรมชลฯในระยะต่อไป

++งบศึกษา25ล้าน
“สมเกียรติ” กล่าวว่า โครงการซื้อไฟฟ้าและผันนํ้าจากโครงการสตึงมนัมของกัมพูชานั้น นโยบายของนายกรัฐมนตรีให้ไปทบทวนเรื่องผลการศึกษาโครงการของกระทรวงพลังงานและกรมทรัพยากรนํ้าอย่างละเอียดและให้มีความชัดเจนก่อนที่จะนำไปสู่การปฏิบัติ เพราะใช้วงเงินสูง แค่ระบบท่อก็ประมาณ 3 หมื่นล้านบาทแล้วดังนั้นจำเป็นที่จะต้องศึกษาลงรายละเอียดถึงพื้นที่ความต้องการนํ้าในอีอีซีว่าอยู่ที่ใดบ้าง และจะเอานํ้าไปให้ใครบ้างขอเวลาศึกษาตรงนี้ โดยมีงบประมาณ 25 ล้านบาท ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องการจัดสรรนํ้าในภาคตะวันออกที่ต้องทบทวนใหม่ คาดจะใช้เวลา 8-12 เดือน

“ต้องมีความรอบคอบ เพราะพื้นที่ในอีอีซี มี 3 จังหวัด ได้แก่ ระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา ไม่ว่าต้นนํ้าแต่ละสายจะอยู่ที่ไหน ท้ายสุดจะเชื่อมโยงเครือข่ายนํ้าเป็นอันเดียวกัน เนื่องจากนํ้าเวลาอยู่ต้นนํ้า ไม่ได้อยู่เฉพาะ 3 จังหวัด เช่น ฉะเชิงเทราเอานํ้ามาจากปราจีนบุรีก็ได้ ชลบุรีและระยองเป็นนํ้าก้อนเดียวกัน ระยองต้องไปสนับสนุนชลบุรี ชลบุรีจริงๆ นํ้าไม่เพียงพอ ต้องเอานํ้าจากลุ่มเจ้าพระยาเข้ามาช่วย ส่วนระยองก็สามารถนำนํ้าไปช่วยชลบุรีได้ ถามว่าในอนาคตความต้องการใช้นํ้าจะเพิ่มขึ้นหรือไม่ถ้าไม่มีอีอีซีเลยข้อเท็จจริงก็จะเพิ่มขึ้น โดยในระยะ 20 ปีความต้องการใช้นํ้าในภาคตะวันออกจะเพิ่มขึ้น 245ล้านลูกบาศก์เมตรจากปัจจุบันที่มีความต้องการใช้นํ้า 325 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี แต่ถ้าหากมีอีอีซี มีการประเมินความต้องการนํ้าจะมากกว่า 400 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี”

[caption id="attachment_214421" align="aligncenter" width="335"] สมเกียรติ ประจำวงษ์ ว่าที่อธิบดีกรมชลประทาน สมเกียรติ ประจำวงษ์ ว่าที่อธิบดีกรมชลประทาน[/caption]

++10ปีนํ้าอีอีซีไม่ขาดแคลน
ว่าที่อธิบดีกรมชลฯ ยืนยันว่า 10 ปีจากนี้ในพื้นที่อีอีซีรับรองไม่ขาดแคลนนํ้า ยกเว้นปริมาณนํ้าฝนตกน้อยเฉลี่ย 2-3 ปีต่อเนื่อง อย่างนี้อาจจะมีปัญหา เช่นปี 2548 เป็นต้นแต่ในปีที่ 11-20 ได้มีการประมาณการเอาไว้การใช้นํ้าในพื้นที่อีอีซีจะสูงมาก ตรงนั้นจะนำมาประเมินว่าจริงหรือไม่ พื้นที่ต้องการใช้นํ้าจริงๆ อยู่ตรงไหน เพื่อให้ได้ข้อมูลสัดส่วนการใช้นํ้าในภาคเกษตร อุตสาหกรรม และอุปโภคบริโภค

อย่างไรก็ดีในขณะนี้มีนํ้าสำรองภาคตะวันออกประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตร เพราะปีนี้นํ้าค่อนข้างดี ทางกรมจึงได้ถือโอกาสในการลงทุนเพื่อเพิ่มความจุของอ่างเก็บนํ้าในพื้นที่อีอีซีอาทิ อ่างเก็บนํ้าคลองสียัด(ฉะเชิงเทรา)อ่างเก็บนํ้าหนองปลาไหล(ระยอง)ขณะที่ในพื้นที่ใกล้เคียงอีอีซีคือจันทบุรีถือว่าโชคดีมากที่มีการสร้างอ่างเก็บนํ้าคลองประแกด ความจุ 60.26 ล้านลูกบาศก์เมตรในลุ่มนํ้าวังโตนด(คาดแล้วเสร็จปี 2561)รวมถึงมีโครงการสร้าง3 อ่างเก็บนํ้าใหม่ในพื้นที่จันทบุรีที่เตรียมงบไว้แล้ว 2,500 ล้านบาทได้แก่ อ่างเก็บนํ้าคลองพะวาใหญ่ ความจุ 68ล้านลูกบาศก์เมตร อ่างเก็บนํ้าแก่งหางแมว ความจุ 80 ล้านลูกบาศก์เมตร และอ่างเก็บนํ้าคลองวังโตนด ความจุ 99 ล้านลูกบาศก์เมตร รวมความจุทุกโครงการกว่า 300 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งในอนาคตวางแผนจะผันนํ้าไปพื้นที่อีอีซี ประมาณ 100 ล้านลูกบาศก์เมตรและจะพัฒนาเพิ่มความจุได้อีก100 ล้านลูกบาศก์เมตรในอ่างเก็บนํ้าที่มีอยู่แล้ว

“การพัฒนาแหล่งนํ้าขึ้นมาใหม่จะต้องให้คนได้ใช้นํ้าควบคู่กันระหว่างภาคเกษตรและอุตสาหกรรม ซึ่งถ้าทำอาจจะติดป่าบ้าง ก็ต้องไปถามกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจะอนุโลมบ้างได้หรือไม่ ถ้าสามารถสร้างได้100% จะทำให้เพิ่มแหล่งนํ้าภาคตะวันออกความจุถึง 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แต่บางพื้นที่ที่ดินเอกชนราคาแพงมาก ขึ้นอยู่กับรัฐบาลว่าจะสู้ราคาไหวหรือไม่ แต่ถ้าสู้ก็ยั่งยืนต่อไปนโยบายกรมจะดูนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลเกิดขึ้นที่ไหนจะทำแผนบริหารจัดการนํ้าควบคู่กันไปโดยแผนทั้งหมดนี้บรรจุอยู่ในแผนยุทธศาสตร์บริหารจัดการนํ้า 20 ปี”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9