อี-คอมเมิร์ซไทยแรงไม่ตก! “เอ็ตด้า” ชี้สิ้นปีแตะ 2.81 ล้านล้าน

01 ต.ค. 2560 | 05:30 น.
“เอ็ตด้า” เผย ผลสำรวจ “อี-คอมเมิร์ซไทย” ปี 59 มูลค่า 2.56 ล้านล้านบาท คาดปี 60 มูลค่าพุ่งแตะ 2.81 ล้านล้านบาท พร้อมเผยพฤติกรรมการใช้เน็ตคนไทยเจนวาย ใช้งานสูงสุดเฉลี่ย 7.12 ชั่วโมง/วัน ... “ยูทูบ-เฟซบุ๊ก” กิจกรรมยอดนิยม สินค้าแฟชั่นเครื่องแต่งกายครองใจนักช็อปออนไลน์

นางสุรางคณา วายุภาพ ผู้อำนวยการ สำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (องค์การมหาชน) (สพธอ.) หรือ ETDA (เอ็ตด้า) เปิดเผยว่า ผลสำรวจมูลค่า อี-คอมเมิร์ซ ในไทย ปี 2559 จากการสำรวจเป็นผู้ประกอบการทั้งสิ้น 592,996 ราย พบว่า มีมูลค่าประมาณ 2.56 ล้านล้านบาท เติบโต 14.03% แบ่งเป็นมูลค่า อี-คอมเมิร์ซ ประเภทธุรกิจต่อธุรกิจ (B2B) 1,542,167.50 ล้านบาท หรือคิดเป็น 60.24%, ประเภทธุรกิจต่อผู้บริโภค (B2C) มูลค่า 703,331.91 ล้านบาท หรือ 27.47% และประเภทธุรกิจต่อรัฐ (B2G) มูลค่า 314,603.95 ล้านบาท หรือ 12.29%

โดยอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า อี-คอมเมิร์ซ สูงที่สุด คือ ค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 713,690.11 ล้านบาท สัดส่วน 31.78% รองลงมา คือ บริการที่พัก มีมูลค่า 607,904.89 ล้านบาท สัดส่วน 27.07% และการผลิต มีมูลค่า 428,084.73 ล้านบาท สัดส่วน 19.06%

สำหรับปี 2560 คาดการณ์มูลค่า อี-คอมเมิร์ซ ของไทย จะมีมูลค่า 2.81 ล้านล้านบาท เติบโต 9.86% แบ่งเป็น อี-คอมเมิร์ซ ประเภท B2B จำนวน 1,675,182.23 ล้านบาท สัดส่วน 59.56% เพิ่มขึ้น 8.63%, ประเภท B2C จำนวน 812,612.68 ล้านบาท สัดส่วน 28.89% เพิ่มขึ้น 15.54% และประเภท B2G จำนวน 324,797.12 ล้านบาท สัดส่วน 11.55% เพิ่มขึ้น 3.24%

สำหรับอุตสาหกรรมที่มีมูลค่า อี-คอมเมิร์ซ มากที่สุด คือ ค้าปลีกและการค้าส่ง มีมูลค่า 869,618.40 ล้านบาท สัดส่วน 34.96% รองลงมา คือ บริการที่พัก มีมูลค่า 658,131.15 ล้านบาท สัดส่วน 26.45% และการผลิต มีมูลค่า 417,207.07 ล้านบาท สัดส่วน 16.77%

นางสุรางคณา กล่าวต่อไปอีกว่า เอ็ตด้ายังได้ดำเนินการสำรวจพฤติกรรมผู้ใช้อินเตอร์เน็ตในปี 2560 โดยผลการสำรวจพบว่า กลุ่ม “เจน วาย” (เกิดปี 2524-2543) เป็นกลุ่มที่ใช้อินเตอร์เน็ตต่อวันสูงสุด เฉลี่ย 7.12 ชั่วโมง/วัน นอกจากนี้ ยังพบว่า 61.1% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่า ใช้อินเตอร์เน็ตเพิ่มขึ้นจากปีก่อน เฉลี่ย 3.06 ชั่วโมง/วัน, 30.8% มีปริมาณการใช้เท่าเดิม ส่วนสถานที่ที่นิยมใช้อินเตอร์เน็ตมากที่สุด คือ ที่บ้าน คิดเป็น 85.6% รองลงมา คือ ที่ทำงาน 52.4% ตามมาด้วยการใช้ระหว่างเดินทาง 24% เพิ่มขึ้นจาก 14% ในปีก่อน ส่วนกิจกรรมที่นิยม คือ การใช้โซเชียลมีเดีย (86.9%) การค้นหาข้อมูล (86.5%) การรับส่ง อี-เมล์ (70.5%) การดูทีวีและฟังเพลงออนไลน์ (60.7%) และการซื้อสินค้าออนไลน์ (50.8%) โดยเป็นครั้งแรกที่การซื้อสินค้าออนไลน์ขึ้นมาติด 1 ใน 5 กิจกรรมยอดฮิต นั่นแสดงให้เห็นถึงการยอมรับในการทำ อี-คอมเมิร์ซ มากขึ้นในสังคมไทย


TP-5-3301-A



ส่วนโซเชียลมีเดียที่คนไทยนิยมใช้มากที่สุด คือ ยูทูบ (YouTube) มีสัดส่วน 97.1%, เฟซบุ๊ก (Facebook) มีสัดส่วน 96.6%, ไลน์ (Line) มีสัดส่วน 95.8%, อินสตาแกรม (Instagram) สัดส่วน 56%, พันทิป (Pantip) สัดส่วน 54.7% และทวิตเตอร์ (Twitter) 27.6%

ขณะที่ สินค้าและบริการที่คนไทยนิยมซื้อออนไลน์มากที่สุด คือ 1.สินค้าแฟชั่นและเครื่องแต่งกาย สัดส่วน 44%, 2.สินค้าด้านสุขภาพและความงาม สัดส่วน 33.7%, 3.อุปกรณ์ไอที สัดส่วน 26.5%, 4.เครื่องใช้ภายในบ้าน สัดส่วน 19.5%, 5.บริการสั่งอาหารออนไลน์ สัดส่วน 18.7% และ 6.บริการเกี่ยวกับการเดินทางและท่องเที่ยว สัดส่วน 17.9%

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1-4 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว