ชะลอซื้อน้ำตาล ลอยตัวราคาถูก

01 ต.ค. 2560 | 07:01 น.
อุตสาหกรรมอาหาร-เครื่องดื่มชะลอซื้อนํ้าตาล รอหลัง 1 ธ.ค.ลอยตัว หวังได้ราคานํ้าตาลทรายถูกลงขณะที่วงการนํ้าตาลทั้งภาครัฐ โรงงานนํ้าตาล ชาวไร่อ้อย ระดมวิธีคำนวณราคาอ้อยเบื้องต้น พร้อมถกปัญหาผลที่จะเกิดขึ้นกับการชำระหนี้ชาวไร่ที่เหลือ 5,800 ล้านบาท เพื่อไม่ให้ขัด WTO ยังไม่ได้ข้อยุติ

นับถอยหลังลอยตัวราคานํ้าตาลในประเทศ อิงราคาตลาดโลกนับตั้งแต่วันที่ 1 ธันวาคมนี้ เป็นต้นไป โดยระบบโควตาก. (นํ้าตาลสำหรับบริโภคภายในประเทศ) โควตา ข. (นํ้าตาลดิบที่ส่งออกโดยบริษัทอ้อยและนํ้าตาลไทยฯ) และโควตา ค. (นํ้าตาลดิบหรือนํ้าตาลทรายที่ส่งออกโดยโรงงานนํ้าตาล) จะไม่มีระบบโควตาอีกต่อไป โดยราคานํ้าตาล ที่เคยบริโภคภายในประเทศ จะต้องอิงกับราคาตลาดโลก

ต่อเรื่องนี้แหล่งข่าวจากวงการผลิตนํ้าตาลเปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้คำสั่งซื้อหรือการจองปริมาณนํ้าตาลจากโรงงานอุตสาหกรรมสำหรับปี2560/2561 มีการชะลอการสั่งซื้อหรือจองล่วงหน้า โดยเฉพาะจากโรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่ม สำหรับใช้ตลอดปี จากเดิมทุกปีในช่วงไตรมาส 3 และ 4 จะเริ่มคำสั่งซื้อหรือการจองล่วงหน้าเข้ามาแล้ว โดยสัดส่วนการใช้นํ้าตาลในภาคอุตสาหกรรมมีมากถึง 70% ของปริมาณนํ้าตาลที่บริโภคภายในประเทศที่มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 2.6 ล้านตัน สัดส่วนที่เหลือเป็นการบริโภคในภาคครัวเรือน

ทั้งนี้ในช่วงที่ผ่านมาโรงงานอุตสาหกรรมที่มีการซื้อนํ้าตาลสูงสุดในลำดับต้นๆ เมื่อปี2559 เช่น บริษัทไทยนํ้าทิพย์ฯ 1.79 ล้านกระสอบ, บริษัทโอสถสภาฯ 5.37 แสนกระสอบ, บริษัทเสริมสุขฯ 2.18 แสนกระสอบ, บริษัท เอกชัยฯ 3.53 แสนกระสอบ และบริษัทอายิโนะโมะโต๊ะฯ 3.07 แสนกระสอบ เป็นต้น

app-TP8-3048-A สำหรับสาเหตุที่โรงงานอุตสาหกรรมชะลอการสั่งซื้อนํ้าตาลมาจาก 2 เหตุผลหลักคือ โรงงานผลิตอาหารและเครื่องดื่มรอจังหวะซื้อนํ้าตาลหลังวันที่ 1 ธันวาคม ไปแล้ว เนื่องจากราคานํ้าตาลในประเทศจะลอยตัวตามราคาตลาดโลก สอดคล้องกับจังหวะที่ราคานํ้าตาลในตลาดโลกในขณะนี้มีราคาตกตํ่าลง โดยราคานํ้าตาลทรายขาวที่ใช้ในภาคอุตสาหกรรม ขณะนี้ราคาในตลาดโลกวิ่งอยู่ที่ 380 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ยังไม่รวมไทยพรีเมียม ซึ่งไทยพรีเมียมจะมากหรือน้อยจะขึ้นอยู่กับดีมานด์-ซัพพลายนํ้าตาล ถ้าดีมานด์น้อยไทยพรีเมียมจะลงมาอยู่ที่ 30 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน และถ้าดีมานด์มากไทยพรีเมียมจะอยู่ที่ 70-100 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน ซึ่งหลังประกาศลอยตัวราคานํ้าตาลในประเทศมีการคาดการณ์ว่า แนวโน้มราคานํ้าตาลทรายขาวจะตํ่าลงจากปัจจุบันอีก เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมาราคานํ้าตาลทรายขาวสูงกว่า 400 ดอลลาร์สหรัฐฯต่อตัน

ส่วนราคานํ้าตาลดิบเมื่อปี 2559 อยู่ที่ระดับราคาเฉลี่ย 24 เซ็นต์ต่อปอนด์ ล่าสุดราคานํ้าตาลดิบในตลาดโลกลงมาอยู่ที่ 13-14 เซ็นต์ต่อปอนด์ 2.วิธีการจำหน่ายของโรงงานนํ้าตาลยังไม่ชัดเจน และรอดูว่าภาครัฐจะมีแนวทางอย่างไรกับระบบการขายในประเทศ และการกำหนดราคาในประเทศหลังจากที่ราคานํ้าตาลลอยตัวแล้ว

“เป็นห่วงว่าต่อไปโรงงาน นํ้าตาลอาจจะส่งออกดีกว่าขายในประเทศ เพราะส่งออกขายได้ล็อตใหญ่กว่า”

แหล่งข่าวจากวงการนํ้าตาลอีกรายให้ข้อมูลว่า ในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 ราคานํ้าตาลใน ประเทศจะลอยตัวแล้ว แต่ปัญหาในอุตสาหกรรมอ้อยและนํ้าตาลยังไม่ได้ข้อยุติอีกหลายส่วน เช่น เรื่องการคำนวณราคาอ้อยเบื้องต้นว่าจะเป็นอิงราคาตลาดลอนดอน No.5 บวกราคาไทยพรีเมียม หรือน่าจะใช้การตั้งราคาสินค้าจากต้นทุนบวกกําไร (Cost plus) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ เหล่านี้ยังเป็นเพียงความเห็นจากแต่ละฝ่ายอยู่ และรอเข้าพิจารณาในคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย ภายในเดือนตุลาคมนี้

นอกจากนี้การลอยตัวราคา นํ้าตาลจะทำให้นํ้าตาลในประเทศขาดแคลนไม่ได้ เบื้องต้นก็หารือกันว่าจะต้องใช้วิธีการสต๊อกนํ้าตาลทราย (บัฟเฟอร์ สต๊อก) เพื่อเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงป้องกันภาวะนํ้าตาลทรายในประเทศขาดแคลน ซึ่งจะช่วยสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคภายในประเทศได้ ซึ่งคณะกรรมการอ้อยและนํ้าตาลทราย(กอน.)จะต้องออกระเบียบการสต๊อกนํ้าตาลให้ชัดเจน ซึ่งขณะนี้ยังไม่ชัดเจน ส่วนกระทรวงพาณิชย์จะดูในเรื่องของราคา

แหล่งข่าวกล่าวอีกว่า ปัจจุบันกระทรวงพาณิชย์ควบคุมราคานํ้าตาลทรายขายปลีกอยู่ที่ 23-24 บาทต่อกิโลกรัม ถ้าลบ 5 บาทออกไปราคานํ้าตาลหน้าโรงงานในประเทศจะอยู่ที่ 18-19 บาทต่อกิโลกรัม (ยังไม่รวมค่าขนส่งค่าหีบห่อ) ตรงนี้ที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า ชาวไร่อ้อยจะอยู่ไม่ได้ เพราะที่ผ่านมา เงิน 5 บาทที่บวกอยู่ในราคานํ้าตาลนั้นถูกหักออกไปใช้หนี้ธ.ก.ส.

“หากเงินส่วนนี้หายไป ภาระหนี้ ณ เดือนธันวาคม 2560 จะมียอดหนี้ที่ต้องชำระธ.ก.ส. อีกราว 5,800 ล้านบาท ที่กองทุนอ้อยและนํ้าตาลกู้ธ.ก.ส.มาตั้งแต่ปี2558/2559 วงเงินต้น 15,000 ล้านบาท เพื่อมาเพิ่มค่าอ้อยให้ชาวไร่ 160 บาทต่อตัน แล้วนำเงิน 5 บาทไปชำระหนี้ทุกเดือน ตรงนี้ยังเป็นปัญหาเพราะตามกำหนดจะชำระหมดมิถุนายน 2561 ที่ขณะนี้ยังไม่ได้ข้อสรุป ซึ่งแนวทางทั้งหมดจะต้องอยู่ภายใต้กรอบที่ไม่ขัดกับข้อตกลงองค์การการค้าโลกหรือWTO”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว