“ถอดบทเรียนจำนำข้าว” ... รัฐสภาต้องเข้มตรวจสอบงบ

01 ต.ค. 2560 | 13:36 น.
ภายหลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง มีคำพิพากษาสั่งจำคุก “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นเวลา 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา ในคดีละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยทุจริต ไม่ระงับยับยั้งความเสียหาย “โครงการรับจำนำข้าว” โดยเฉพาะการระบายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี)

นายอัมมาร สยามวาลา นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ให้สัมภาษณ์พิเศษในรายการ “บ่วงกรรม จำนำข้าว” ออกอากาศทางสถานีโทรทัศน์สปริงนิวส์ ทีวีดิจิทัล ช่อง 19

ย้ำ! “ทักษิณ” คิด “ยิ่งลักษณ์” ทำ
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ ชี้ชัดว่า โครงการจำนำข้าว น.ส.ยิ่งลักษณ์ ไม่ได้เป็นคนคิด แต่ “คุณทักษิณ” เป็นคนคิด แล้ว “ยิ่งลักษณ์” ทำ ปัญหาส่วนใหญ่อยู่ที่การออกแบบในการดำเนินนโยบายให้เป็นรูปธรรม แล้วเธอก็เดินหน้าตามนโยบายที่แถลงไว้ต่อรัฐสภา และการเดินหน้านโยบายและสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นนั้น ไม่คิดว่า “มาจากสมองของเธอ” ทั้งเคยทักท้วงก่อนหน้านี้ว่า โครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลยิ่งลักษณ์จะสร้างความเสียหายมากที่สุดในประวัติศาสตร์

นายอัมมาร ขยายความ ในช่วงที่รัฐบาลหาเสียง ตนเองไม่ได้พูดอะไร เพราะเป็นเรื่องทางการเมือง แต่เมื่อรัฐบาลประกาศนโยบายอย่างเป็นทางการ ว่า จะทำโครงการรับจำนำข้าว จึงบอกว่า มีปัญหาเยอะ แต่ไม่คาดคิดว่า จะขาดทุนมากมายมหาศาล อีกทั้งมีคนเห็นเอกสารที่ว่อนอยู่ในวงราชการ ซึ่งได้คำนวณว่า โครงการจำนำข้าวจะไม่มีทางขาดทุน แต่ไม่ได้รับการเสนอต่อรัฐสภา

รัฐสภาต้องเข้มตรวจสอบงบ!
นายอัมมาร ตั้งข้อสังเกตว่า ระบบของเมืองไทย ถ้าโครงการใดอยู่ในงบประมาณแผ่นดิน จะมีรายละเอียดต่าง ๆ ค่อนข้างแน่นหนา แต่บังเอิญ โครงการนี้รัฐบาลเป็นผู้กู้เงินจากธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) มาดำเนินการแล้วมันมีช่องโหว่ ซึ่งได้สังเกตเห็นว่า ไม่เห็นรายละเอียดในงบประมาณว่า รัฐบาลจะใช้เงินเท่าใด และคิดว่า รัฐสภาก็ไม่เห็นรายละเอียดจำนวนเงิน เวลาที่ยกมือให้ผ่าน ทุกคนเห็นด้วย รู้แต่ว่า ชาวนาจะได้เงิน 1.5 หมื่นบาท/ตัน และได้ 20,000 สำหรับข้าวหอมมะลิ

ขณะที่ ทาง ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล ก็เฮที่จะได้คะแนนเสียงจากชาวนา จะได้เข้ามานั่งในรัฐสภาจากการประกาศนโยบายนี้ ซึ่งจริง ๆ แล้ว การที่รัฐบาลจะดำเนินนโยบายอะไร ต้องมีวินัยทางการคลังด้วย ตนเองรู้สึกว่า ไม่ได้มีคำพูดชัดเจนว่า ข้อบกพร่องก็คือ ไม่ได้เสนอให้รัฐสภาทราบวงเงิน รู้เฉพาะภายในฝ่ายบริหารทั้งสิ้น ที่กล่าวกับรัฐสภาก็บอก 1.5 หมื่นบาท/ตัน จะเห็นเฉพาะสิ่งที่ทำให้เกษตรกรแฮปปี้ แต่ต้นทุนที่จะเกิดขึ้นไม่มีใครทราบ และปลายเปิดไว้ใช้เท่าใดก็ได้ ที่บอกว่า รัฐสภาต้องทำหน้าที่ตรงนี้ เพราะวงเงินนั้นรัฐบาลกำหนดเอง รัฐบาลจะลบล้างเมื่อใดก็ได้ ตอนท้าย เมื่อใช้เงินถึง 500,000 ล้าน แล้วมีปัญหา ก็จะขยาย แต่ปรากฏว่า ขยายไม่ได้ บังเอิญมีข้อกำหนดในรัฐธรรมนูญ ปี 2550 ระบุว่า ถ้ายุบสภาแล้วขยายวงเงินไม่ได้ ทำให้ชาวนาเดือดร้อนมาก ทำให้รัฐบาลไปเอาเงินจากธนาคารกรุงไทยและธนาคารออมสิน

“ผมคิดว่า รัฐสภามีส่วนสำคัญในการปฏิบัติหน้าที่ในการดูแลการดำเนินนโยบายของรัฐบาล ทั้งยังไม่ได้เข้าไปตรวจสอบและไม่ได้ซักถามเท่าที่ควร เรื่องนี้ผมถือมาก เพราะเป็นหลักการในทุกประเทศ ทั้งอังกฤษและอเมริกา ที่มีระบบรัฐสภา ถือว่ารัฐสภาเป็นฝ่ายอนุมัติการใช้เงิน หมายถึง เมื่อทำโครงการก็ต้องเสนอเม็ดเงินเข้าไปด้วย”


TP14-3301-A

จำนำข้าวผิดทุกขั้นตอน!
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ สะท้อนว่า ต่อไปการดำเนินนโยบายช่วยเหลือเกษตรกรไม่ให้เกิดปัญหาอีก รัฐบาลต้องไม่หลงไปเซ็งลี้ข้าว ไม่ควรไปสู้กับเอกชน เพราะสู้เอกชนไม่ได้ รวมทั้งคนที่เซ็งลี้ข้าวกับรัฐบาล ขายได้แต่ข้าวปลอม จริง ๆ รัฐบาลไม่ได้ขายข้าวมาก ไม่ได้ขายเอ็กซ์ปอร์ต เพราะจริง ๆ แล้ว นโยบายจำนำข้าวทำตามความเชื่อของ นายทักษิณ ชินวัตร บอกว่า ถ้าเราไม่ขายข้าว เราจะได้ราคา แต่ในที่สุด เมื่อเก็บข้าวแล้ว ราคาข้าวในตลาดโลกก็หาได้ขึ้นไม่ ขึ้นนิดเดียวในช่วงแรก 3-4 เดือน แต่ขึ้นไม่มาก การส่งออกก็ลดลง รายได้ก็ลดลง ไม่ได้เงินจากราคาข้าว แต่กอดสต๊อกข้าวไว้ในมือ และกอดไปเรื่อย ๆ จนข้าวเน่า

นายอัมมาร กล่าวอีกว่า โครงการรับจำนำข้าว โดยทั่วไปผิดทุกขั้นตอน รวมทั้งขั้นตอนการซื้อ แต่ขั้นตอนการซื้อจะผิดน้อยหน่อย รัฐบาลจ่ายถึงมือเกษตรกรจริง มีรั่วไหลไปเบี้ยรายทางบ้าง ไม่มากก็น้อย แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ได้ 1.5 หมื่นบาท/ตัน ไม่ปฏิเสธ แต่เมื่อข้าวมาอยู่ในโกดังแล้ว กระบวนการรั่วไหลมันเปิดหมด

“กรณี ‘ข้าวจีทูจี’ เป็นกรรมของกระทรวงพาณิชย์ ผู้รับจำนำไม่ได้ดูแลในการระบายข้าว คนดูแลทรัพย์ที่รับระบายกลับเป็นกระทรวงพาณิชย์ ทาง ธ.ก.ส. จ่ายเงินอย่างเดียว ความรั่วไหลเกิดขึ้นอย่างมหาศาลเกิดในขั้นตอนนี้ ข้าวหลุดจาก ธ.ก.ส. ไปอยู่ในมือของกระทรวงพาณิชย์ กระทรวงพาณิชย์ก็มีข้าวกองพะเนินเทินทึก ที่ตัวเองไม่ได้ควักกระเป๋าสักแดงเดียว

เหตุการณ์ครั้งนี้ คงทำให้เหล่านักการเมืองทั้งหลายเข็ด ส่วนข้าราชการได้ประโยชน์ก่อน เจ็บทีหลัง นักการเมืองได้ก่อน แล้วเจ็บทีหลัง ผู้เสียภาษีเจ็บตลอดกาล ทุกวันนี้ก็ยังเป็นหนี้สินกันอยู่”

ประเมินความต้องการชาวนา
นายอัมมาร ยังได้แนะช่องทางช่วยเหลือเกษตกร ว่า ถ้าไม่ทะเยอทะยาน ก็จะแก้ปัญหาเกษตรกรได้ อาทิ ให้เงินเข้ากระเป๋าเกษตรกรเป็นกอบเป็นกำ ซึ่งมีหลายรูปแบบ โครงการจำนำข้าวซับซ้อนมาก ธ.ก.ส. รับจำนำ แต่ข้าวไปอยู่กับกระทรวงพาณิชย์ และจัดการเรื่องระบายข้าว สังเกตดูว่า ถ้าข้าวราคา 1.5 หมื่นบาท สำหรับเกษตรกร ราคาข้าวสารจะพุ่งสูงขึ้นมาก แต่ปรากฏว่า ระหว่างก่อนหน้ารัฐบาลยิ่งลักษณ์กับรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ราคาข้าวสารสำหรับคนเมืองไม่กระเพื่อมมากนัก ตรงนี้สำคัญมาก เพราะกระทรวงพาณิชย์เป็นห่วงค่าครองชีพประชาชนสูงขึ้น แล้วนำมาขายราคาถูก ข้าวจีทูจี 8-9 ล้านตัน ส่วนใหญ่ระบายภายในประเทศ ต้องพูดตรง ๆ ว่า “เสี่ยเปี๋ยง” (นายอภิชาติ จันทร์สกุลพร) ไม่มีปัญญาขายข้าวออกต่างประเทศ ทุกครั้งที่ขายส่งออกต่างประเทศ เขาจะโดนฟ้องเรื่องข้าวไม่ได้มาตรฐาน

“มีทางอื่นหรือไม่ ที่จะให้ชาวนาได้ โดยไม่ต้องมีเบี้ยบ้ายรายทาง เวลาเราให้เงินแก่เกษตรในรูปของราคาข้าว พอได้เงินมา เกษตรกรก็ต้องนำไปซื้อปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เยอะไปหมด ช่วงนั้นผู้ที่ขายเคมีภัณฑ์ ขายเครื่องจักรกลต่าง ๆ อิ่มหมีพีมัน ต้นทุนผลิตข้าวก็สูงขึ้นโดยไม่จำเป็น เราต้องมาพิจารณากันว่า สุทธิแล้วเกษตรกรได้เท่าไร เมื่อทราบแล้ว เขียนเช็คจ่ายเลย

ถ้ารัฐบาลแถลงต่อรัฐสภาว่า ต้นทุนประมาณเท่านี้ รัฐบาลก็เอาส่วนนั้นไปจ่าย ก็จะมีระบบบัญชีที่จะเช็กว่า จ่ายจริง ถ้าเรามีการจัดซื้อหนทางรั่วไหลก็จะน้อยลง เราไม่ได้ไปซื้อปุ๋ยให้เกษตรกร เป็นการจ่ายขาดไปเลย ให้รู้ว่า จ่ายต่อหัวเท่าใด ถือเป็นสวัสดิการ เป็นการให้เงินอุดหนุนแก่เกษตรกรแบบให้เปล่า โดยอ้างว่า ให้เกษตรกรมีรายได้ดีขึ้น มีชีวิตที่ดีขึ้น เหมือนกรณีจำนำข้าวทุกอย่าง ด้วยจำนวนเงินไม่ถึง 800,000 ล้านบาท” นายอัมมาร กล่าว

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1-4 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว