“ปราชญ์ชาวบ้าน” จิตรกรการพัฒนา SMEs

01 ต.ค. 2560 | 12:45 น.
TP13-3301-c

SMEs TALKS | การเป็น “ชาวสวน” ตั้งแต่แตกวัยหนุ่ม คุณลุงสมประสงค์ ศรีเทพ แห่ง “บ้านลุงสงค์” อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี จึงมีความคุ้นเคยกับสวนผลไม้เกือบทุกชนิด โดยเฉพาะ “มะพร้าว” วิธีการเกษตรแบบต่าง ๆ และความรู้ด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสวนเกษตร เรียกว่า ความรู้คุณลุงทะลุปรุโปร่ง จนปัจจุบันได้ชื่อว่า “ปราชญ์ชาวบ้าน” ที่คนในสุราษฎร์รู้จักกันดี และวันนี้ แนวคิดของคุณลุงที่ตกผลึกในการพัฒนา “มะพร้าว” พืชสวนที่มีชื่อเสียงและคนปลูกมากที่สุดในจังหวัดนี้ มาเป็นเครื่องจักรหรือเครื่องมือหรือกลไก หรือจะเรียกอะไรก็แล้วแต่ เพื่อการพัฒนาชุมชน สร้างรายได้ให้กับชุมชนเป็นสำคัญ โดยใช้ร่วมกับของดีอื่น ๆ ในพื้นที่

“ลุงสงค์” ใช้ความรู้และประสบการณ์การพัฒนาที่ต่อเนื่อง การค้นคว้าหาความรู้ การเข้าร่วมโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐอย่างสม่ำเสมอ ทำให้พัฒนา “มะพร้าว” พืชสวนที่เห็นดาษดื่นทั่วไปในจังหวัด ให้ออกมาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีมูลค่าสูงขึ้นในรูปแบบต่าง ๆ ที่ใช้ได้ตั้งแต่ศีรษะจนจดเท้า ในรูปน้ำมัน, ครีม, ขนม หรือ เครื่องสำอาง ในชื่อ “พร้าวไทย (Prow Thai)” มูลค่าที่เพิ่มขึ้นจากการขายมะพร้าว 4 บาท/กิโลกรัม มาเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีค่ากว่า 50 บาท ผลิตภัณฑ์ของคุณลุงสงค์มีมาตรฐาน ไม่ว่าจะเป็น OTOP 5 ดาว มาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.) สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) รวมทั้งกระบวนการผลิต ที่ได้ทั้ง GMP และ GAP จนได้รับคำสั่งซื้อผลิตภัณฑ์เพื่อส่งออกไปต่างประเทศ ในรูปแบบ OEM และผลิตภัณฑ์ของตัวเองภายใต้แบรนด์ “พร้าวไทย” ก็แสดงให้เห็นว่า “มีดีพอ” จนสามารถนำตัวเองเข้าสู่ร้านค้าปลีกเชนยักษ์ใหญ่ได้

วันนี้ ลุงสงค์ได้ลูกชายที่มีหัวการค้ายุคใหม่ มองไกลไปกว่าเดิม เข้ามารับผิดชอบด้านตลาดและเทคโนโลยีใหม่ ๆ มาทำการผลิต การทำ “น้ำมันมะพร้าวสกัดเย็น” ที่ใช้แรงเหวี่ยงสูง ที่ทำให้แยกน้ำกับน้ำมันออกมาจากกันได้ โดยใช้สินเชื่อพัฒนา SMEs ตามแนวประชารัฐ รวมทั้งการสร้างเรื่องราวของ “มะพร้าว” และคุณประโยชน์ที่มีต่อผู้บริโภค โดยมีงานวิจัยและการทดลองต่าง ๆ ทั้งจากงานของนักวิชาการและของลุงสงค์เอง มาเป็นพื้นฐานในการบอกเล่า รวมทั้งพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ให้ครอบคลุมทุกผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะ “เครื่องสำอางจากมะพร้าว” การออกแบบหีบห่อ และการวางตลาดผ่านแบรนด์ตัวเอง โดยมองไปยังตลาดส่งออกในอนาคตอันใกล้

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

 

วันนี้ ลุงสงค์มองไปไกล กว้าง และลึกกว่าการสร้างมูลค่าเพิ่ม โดยพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะพร้าว แต่ลุงมองการพัฒนาแบบภาพรวม โดยมองชุมชนเป็นที่ตั้ง มองการพัฒนาพื้นที่ผ่านการท่องเที่ยวชุมชน เพราะมีคนเข้ามาดูผลิตภัณฑ์ของลุงมากขึ้น และชักชวนเพื่อน ๆ ในชุมชนร่วมชุบชีวิตบางใบไม้ในแนวทางนี้ คนละไม้คนละมือ โดยใช้มะพร้าวและผลิตภัณฑ์พร้าวไทยเป็นจุดเริ่มต้น สร้าง “ศูนย์เรียนรู้ลุงสงค์” ขึ้นมา เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กับผู้สนใจทั่วไป นักเรียน นักศึกษา แม้แต่นักวิชาการเข้ามาดูงานด้านมะพร้าว ตั้งแต่การปลูก ทำสวน และการเพิ่มมูลค่าจนมาเป็นผลิตภัณฑ์ต่อยอดต่าง ๆ การเข้ามาในชุมชนเพื่อดูงาน

เพื่อให้ผู้มาเยือนได้ใช้เวลาให้คุ้มค่า พันธมิตรเครือข่ายช่วยกันพัฒนาผลิตภัณฑ์จากมะพร้าวแต่ละคน และสร้างกิจกรรมต่าง ๆ ในที่ต่าง ๆ ในบางใบไม้ เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้เที่ยวชมและมีส่วนร่วม เช่น การกวนกะละแม หรือ ขนมอื่น ๆ จากมะพร้าว หรือแม้แต่การจำหน่ายมะพร้าวสด ฯลฯ มีการวางรูปแบบการท่องเที่ยวเดินทางทางเรือในคลอง เรือกสวนที่เต็มไปด้วยผลไม้ต่าง ๆ รวมทั้งได้เห็นวิถีชีวิตของชุมชนแห่งนี้ ที่เรียงรายตามเส้นทางท่องเที่ยว การพัฒนาแนวทางนี้ ลุงบอกว่า ทำให้สร้างอาชีพให้คนในชุมชนจำนวนมากทวีคูณ จากกิจกรรมที่เกิดจากการท่องเที่ยวชุมชน และเพื่อให้มีการพัฒนาอย่างยั่งยืน ได้มีการหักรายได้บางส่วนที่ได้จากการท่องเที่ยว มาลงขันเพื่อใช้ในกิจกรรมชุมชนและสร้างสาธารณประโยชน์ต่าง ๆ ทำให้ทุกคนรู้สึกภาคภูมิใจที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาและเป็นเจ้าของชุมชน เพื่อแสดงการเป็นเจ้าบ้านที่ดีสำหรับธุรกิจท่องเที่ยวชุมชน และวันนี้ เริ่มมีกิจกรรมโฮมสเตย์และรีสอร์ตแบบวิถีท้องถิ่นขึ้นในชุมชนแห่งนี้มากขึ้น

แนวคิดและวิถีการเดินทางของ “ลุงสงค์” ในข้างต้น คงจุดประกายการพัฒนาวิสาหกิจหลายแห่ง หลายพื้นที่ ว่า หากมองการพัฒนาเป็นส่วน ๆ โดยเน้นเฉพาะผลิตภัณฑ์เท่านั้น ชุมชนอาจได้รับผลประโยชน์แค่กลุ่มเดียว และความแข็งแกร่งในธุรกิจอาจอ่อนไหว แต่ถ้ารวมกับสิ่งอื่นๆ ทั้งจากคนอื่น ๆ ในชุมชน ที่เก่งในเรื่องต่าง ๆ จากธรรมชาติ วิถีชีวิต บรรยากาศ สภาพภูมิประเทศ และวัฒนธรรม เมื่อนำทุกชิ้นมารวมต่อกัน โดยจินตนาการของจิตรกรหรือศิลปินแห่งการพัฒนาแล้ว ก็อาจเป็นพื้นที่ที่น่ารื่นรมย์ในทุกมิติ เหมือนกับที่ลุงสงค์กับเพื่อน ๆ ที่ร่วมกันวาดภาพการพัฒนาที่ ต.บางใบไม้ อ.เมือง จ.สุราษฎร์ธานี ในเวลานี้

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1-4 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว