เคนยา ประตูการค้า-ลงทุน‘แอฟริกา’

03 ต.ค. 2560 | 23:05 น.
TP10-3301-1C ภาพทุ่งหญ้า ป่าไม้ และการดำรงชีวิตของสัตว์ป่าน้อยใหญ่ตามรายการสารคดี คงเป็นภาพคุ้นตาที่คนไทยได้เห็นเกี่ยวกับประเทศ เคนยา ประเทศหนึ่งในทวีปแอฟริกา แต่ถ้ามีโอกาสมองลึกๆ หันมาสังเกตการพัฒนาของเคนยาในด้านอื่นๆ ก็จะเห็นได้ว่า เคนยาไม่ใช่ประเทศที่จะมีความน่าสนใจเฉพาะด้านทรัพยากร ธรรมชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืชเท่านั้น เพราะในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เคนยาได้พัฒนาประเทศให้มีบทบาททางเศรษฐกิจ สามารถดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ รวมถึงพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศให้เป็นประตูสู่การค้าการลงทุนในภูมิภาคแอฟริกาตะวันออก เห็นได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของเคนยาในปี 2559 ที่มีการเติบโตสูงถึง 7% เมื่อเทียบกับปี 2558 โดยมีกลุ่มอุตสาหกรรมสำคัญ ได้แก่ การเกษตร แร่ธาตุ ก่อสร้าง เทคโนโลยี และธุรกิจ SMEs

[caption id="attachment_214177" align="aligncenter" width="503"] 31 พ.ค. ที่ผ่านมา เคนยาเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงสาย “มาดารากา เอ็กซ์เพรส” วิ่งระหว่างเมืองหลวงไนโรบีกับเมืองท่าเรือมอม บาซาเป็นครั้งแรก โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและเคนยา มูลค่าการลงทุนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 31 พ.ค. ที่ผ่านมา เคนยาเปิดบริการรถไฟความเร็วสูงสาย “มาดารากา เอ็กซ์เพรส” วิ่งระหว่างเมืองหลวงไนโรบีกับเมืองท่าเรือมอมบาซาเป็นครั้งแรก โครงการดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างรัฐบาลจีนและเคนยา มูลค่าการลงทุนกว่า 3,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ[/caption]

ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ส่งเสริมการพัฒนาของเคนยา คือ ความมีเสถียรภาพทางการเมืองอันส่งผลให้การดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจเป็นไปอย่างต่อเนื่อง รวมทั้งแผนการพัฒนาของรัฐบาลเคนยา ภายใต้การนำของนายอูฮูรู มุยไก เคนยาตา ประธานาธิบดีเคนยา ระหว่างปี 2556 - 2560 มุ่งเน้นการพัฒนาเคนยาให้กลายเป็นศูนย์กลางด้านการค้าและการลงทุนของแอฟริกา ด้วยการดึงดูดนักลงทุนจากต่างชาติ การอำนวยความสะดวกเพื่อการลงทุนต่างๆ การมีมาตรการคุ้มครองการลงทุนต่างชาติเพื่อสร้างความมั่นใจแก่นักลงทุน การส่งเสริมความหลากหลายทางเศรษฐกิจ และการให้ความสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการ SMEs เพื่อผลักดัน ให้ตัวเลขจากการค้าการลงทุนจากภาคเอกชนทั้งในและต่างประเทศมีมูลค่าเป็น 32% ของตัวเลข GDP รวมถึงแผนการพัฒนาโครงสร้างสาธารณูปโภคต่างๆ โดยเฉพาะด้านชลประทานและระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในประเทศ อาทิ การสร้างท่าเรือที่เมืองลามู (LAMU) และเพิ่มท่าเทียบเรือขนถ่ายตู้สินค้าแห่งที่ 2 ที่เมืองมอมบาซา (Mombasa) ซึ่งเป็นเมืองท่าที่สำคัญ ทำให้เพิ่มโอกาสให้กรุงไนโรบีเป็นเมืองหลวงที่มีการลงทุนอันดับต้นๆ จากนักลงทุนต่างชาติสำหรับการเข้ามาลงทุนในแอฟริกา และกรุงไนโรบียังได้รับการพัฒนาให้มีจุดแข็งในฐานะศูนย์กลางการบินในภูมิภาคอีกด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบัน เคนยามีการลงทุนจากต่างชาติแล้วประมาณ 1.5 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยเป็นการลงทุนจากบริษัทชั้นนำทั้งจากเอเชีย ยุโรป รวมถึงจากประเทศไทย อาทิ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เข้าไปลงทุนทางด้านพลังงาน และบริษัทในเครือดุสิตธานี ลงทุนในกลุ่มโรงแรม

นอกจากนี้ รัฐบาลเคนยายังได้กำหนดนโยบาย Vision 2030 เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจในสาขาต่างๆ อาทิ การเงิน แร่ธาตุ ก๊าซธรรมชาติ นํ้ามัน เป็นต้น มุ่งส่งเสริม การส่งออกของภาคอุตสาหกรรมในประเทศเพื่อให้มีสัดส่วนเพิ่มเป็น 7% ของ GDP และเพิ่มโอกาสการลงทุนในสาขาที่เคนยายังต้องการพัฒนา อาทิ เกษตร สิ่งทอ เคมี เหล็ก ยา ยานยนต์ เพื่อกระตุ้นภาคการค้าระหว่างประเทศ

ฉบับหน้าเราจะมาต่อกันด้วยเรื่องโอกาสทางการค้าและการลงทุนของไทยในเคนยาที่ว่ายังเปิดกว้างนั้น มีด้านใดกันบ้าง โปรดติดตาม

พบกับอัพเดตความเคลื่อน ไหวและโอกาสในตลาดต่างประเทศที่สถานทูตไทยทั่วโลกตั้งใจติดตามมาให้ภาคเอกชนไทยได้ที่เว็บไซต์ www.globthailand.com หากมีข้อคิดเห็นหรือข้อเสนอแนะเพิ่มเติม สามารถเขียนมาคุยกันได้ที่ [email protected]

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว