‘เอ็กโก’เจรจาป้อนLNGกฟผ.

04 ต.ค. 2560 | 06:59 น.
เอ็กโก กรุ๊ป เร่งเจรจา กฟผ. ป้อนแอลเอ็นจีให้โครงการ FSRU ขนาด 5 ล้านตัน พร้อมลุยขยายโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศ เผยเงินลงทุนปีนี้ 2 หมื่นล้านบาท เป็นการลงทุนในต่างประเทศเกือบทั้งหมด ล่าสุดเตรียมสรุปโรงไฟฟ้าสตาร์ 3 ที่อินโดนีเซีย

นายชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป เปิดเผย “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างการเจรจากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เพื่อจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ป้อนให้กับโครงการแอลเอ็นจีลอยนํ้า Floating Storage and Regasification Unit (FSRU) พื้นที่อ่าวไทยตอนบน ขนาด 5 ล้านตันต่อปี ซึ่งบริษัทมีความสามารถในการจัดหาแอลเอ็นจีเพื่อป้อนให้กับโครงการดังกล่าวมากกว่า 1 ล้านตันต่อปี

[caption id="attachment_214149" align="aligncenter" width="503"] ชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป ชนินทร์ เชาวน์นิรัติศัย รักษาการกรรมการผู้จัดการใหญ่บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็กโก กรุ๊ป[/caption]

โดยการจัดหาแอลเอ็นจีของเอ็กโกจะอยู่ในรูปแบบตลาดจร (สปอต) ซึ่งจะต้องมีการซื้อ/เช่าเรือเพื่อขนส่งแอลเอ็นจี ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปจากทาง กฟผ. แต่ตามกำหนด กฟผ. จะต้องนำเข้าแอลเอ็นจีล็อตแรกภายในปี 2566 ส่วนโครงการ FSRU ทาง กฟผ. จะเป็นผู้ลงทุน

“หลังนโยบายภาครัฐเปิดเสรีก๊าซธรรมชาติ เอ็กโกสนใจที่จะเข้าลงทุนในธุรกิจนี้ ซึ่งตอนนี้กำลังเจรจากับทาง กฟผ. เพื่อจัดหาแอลเอ็นจีป้อนโครงการ FSRU ของกฟผ. สำหรับใช้ในโรงไฟฟ้าพระนครใต้และพระนคร
เหนือ ส่วนตัวเลขจะเท่าไรนั้น จะต้องรอข้อสรุปจากทาง กฟผ. ส่วนตลาดแอลเอ็นจีปัจจุบันยังเป็นช่วงของผู้ซื้อ เจรจาต่อรองราคาได้ และมีแหล่งแอลเอ็นจีจำนวนมากโดยเฉพาะในตะวัน ออกกลาง” นายชนินทร์ กล่าว

นอกจากนี้บริษัทยังขยายการลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าของประเทศ (พีดีพี 2015) ยังไม่เปิดรับซื้อไฟฟ้าจากโครงการใหม่เพิ่มในช่วง 10 ปีข้างหน้า ดังนั้นเงินลงทุนของเอ็กโกปีนี้ ตั้งไว้ที่ 2 หมื่นล้านบาท ส่วนใหญ่จะใช้สำหรับลงทุนโครงการโรงไฟฟ้าในต่างประเทศเกือบทั้งหมด

ซึ่งล่าสุดอยู่ระหว่างการเจรจา 4-5 โครงการ อาทิ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพ สตาร์ เอนเนอร์ยี่ ส่วนขยายหน่วยที่ 3 และ 4 กำลังการผลิตหน่วยละ 60 เมกะวัตต์ ในประเทศอินโดนีเซีย อยู่ระหว่างการเจาะสำรวจแหล่งไอนํ้าเพิ่มเติมเพื่อยืนยันปริมาณไอนํ้า
สำหรับโรงไฟฟ้าหน่วยที่ 3 และการเจรจาค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าอินโดนีเซีย หลังจากก่อนหน้านี้ทำแล้ว 2 หน่วย กำลังการผลิตหน่วยแรก 110 เมกะวัตต์ และหน่วยที่ 2 กำลังการผลิต 117 เมกะวัตต์

ขณะที่โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกวางจิ ประเทศเวียดนาม อยู่ระหว่างการเตรียมการเพื่อ
เริ่มเจรจาสัญญาหลักต่างๆ เช่น สัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าเวียดนาม สัญญาเช่าที่ดิน สัญญาสัมปทานและสัญญารับประกัน กับรัฐบาลเวียดนาม นอกจากนี้ยังมีโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้าปากแบง กระบวนการรับฟังความคิดเห็น โดยคณะกรรมาธิการแม่นํ้าโขง (MRC) ได้ดำเนินการเสร็จสิ้นแล้ว และอยู่ระหว่างการเตรียมข้อมูลเพื่อเริ่มเจรจาค่าไฟฟ้า (Tariff MOU) กับ กฟผ.

“โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพสตาร์ หน่วยที่ 3 ในอินโดนีเซีย น่าจะมีความชัดเจนก่อน เพราะก่อนหน้านี้เจาะไปแล้ว 1 หลุม และเตรียมจะเจาะเพิ่มอีก 1 หลุมในปีถัดไป คาดว่าจะเริ่มทำสัญญากู้เงินในปี 2562 จากนั้นจะ
เริ่มก่อสร้าง ใช้เวลา 4 ปี” นายชนินทร์ กล่าว

ส่วนโครงการโรงไฟฟ้าพลังนํ้า นํ้าเทิน 1 ในสปป.ลาว (บริษัทถือหุ้นสัดส่วน 25%) ได้ลงนามสัญญาระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัท นํ้าเทิน 1 เพาเวอร์ จำกัด โดยบริษัท พอนสัก กรุ๊ป จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 60% 
และบริษัท อีดีแอล เจเนอเรชั่น จำกัด ถือหุ้นในสัดส่วน 15% 
โดยบริษัท นํ้าเทิน 1 เพาเวอร์ จำกัด ได้ลงนามสัญญาซื้อขาย
ไฟฟ้ากับกฟผ. จำนวน 514.3 
เมกะวัตต์ และกับรัฐวิสาหกิจ
ไฟฟ้าลาว จำนวน 130 เมกะวัตต์ ซึ่งสัญญาซื้อขายไฟฟ้าทั้ง 2 
ฉบับ มีอายุสัญญา 27 ปี นับจากวันเริ่มเดินเครื่องเชิงพาณิชย์
ในปี 2565

นายชนินทร์ กล่าวอีกว่า สำหรับความคืบหน้าการขายโรงไฟฟ้าระยองซึ่งหมดอายุสัญญาเมื่อ 3 ปีที่ผ่านมา อยู่ระหว่างประกาศขายเครื่อง ส่วนที่ดิน 500 ไร่ บริษัทอยู่ระหว่างการศึกษาเพื่อการก่อสร้างนิคมอุตสาหกรรมที่จ.ระยอง ซึ่งกำลังศึกษาว่าจะสร้างเป็นนิคม หรือสวนอุตสาหกรรม เพื่อรองรับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) คาดว่าจะได้ข้อสรุปกลางปี 2561

ปัจจุบันเอ็กโก กรุ๊ป มีโรงไฟฟ้าเดินเครื่องเชิงพาณิชย์แล้ว 27 โครงการ กำลังการผลิตรวม 4,352 เมกะวัตต์ และอยู่ระหว่างก่อสร้างอีก 6 โครงการ กำลังการผลิตรวม 911 เมกะวัตต์ รวมกำลังการผลิตทั้งหมด 5,263 เมกะวัตต์ภายในปี 2562

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว