ไทยลงทุนเมียนมา3.7แสนล. รั้งเบอร์3เป็นรองจีนสิงคโปร์-สภาธุรกิจชี้ช่องลุยต่อ

01 ต.ค. 2560 | 02:40 น.
ไทยผงาดอันดับ 3 นักลงทุนรายใหญ่ในเมียนมา ยอดลงทุนสะสมกว่า 3.74 แสนล้าน รายใหญ่รายย่อยแห่ปักฐานแล้ว 112 ราย ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา ชี้ช่องธุรกิจมีศักยภาพ ขณะการออกใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุนในเมียนมาเริ่มอืดรอกฎหมายลูกคลอด

นายปณิธาน ปวโรฬารวิทยา ประธานสภาธุรกิจไทย-เมียนมา เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐ กิจ” ถึงภาพรวมการลงทุนของไทยในเมียนมา ณ ปัจจุบันว่า จากข้อมูลของ Myanmar Investment Commission (MIC) ระบุการลงทุนของบริษัทต่างชาติที่ได้รับใบอนุญาตการลงทุนในเมียนมา ณ วันที่ 31 สิงหาคม 2560 มีทั้งสิ้น 1,366 รายจาก 49 ประเทศ มูลค่าการลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตแล้ว 74,046.76 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2.51 ล้านล้านบาท คำนวณที่ 34 บาท/ดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยนักลงทุนที่ได้รับใบอนุญาตสูงสุด 5 อันดับแรก ได้แก่ จีน สิงคโปร์ ไทย ฮ่องกง และสหราชอาณาจักร (ดูกราฟิกประกอบ)

ทั้งนี้ในส่วนของไทยมีทั้งสิ้น 112 ราย มูลค่าการลงทุน 11,013.02 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ(ประมาณ 3.74 แสนล้านบาท) โดยการลงทุนของต่างชาติในเมียนมาที่มีจำนวนผู้ลงทุนมากที่สุด 5 อันดับแรกอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมการผลิต (801 ราย) นํ้ามันและก๊าซ (154 ราย) โรงแรมและท่องเที่ยว และกิจการเหมืองแร่ (กิจการละ 71 รายเท่ากัน) ขนส่งและโทรคมนาคม (52ราย) และปศุสัตว์และประมง (44 ราย)

“ณ เวลานี้ การลงทุนสะสมของไทยในเมียนมาอยู่อันดับ 3 ทั้งในแง่การได้รับใบอนุญาตและมีการลงทุนจริง จากก่อนหน้านี้ในแง่การลงทุนที่เกิดขึ้นจริงไทยเคยหล่นลงไปอยู่อันดับ 6 แต่ตอนนี้ก็ขึ้นมาอันดับ 3 แล้วโดยเป็นรองจากจีน และสิงคโปร์ ในส่วนของจีนเราเข้าใจได้เพราะเป็นนักลงทุนรายใหญ่อยู่แล้ว ส่วนสิงคโปร์ส่วนหนึ่งเป็นนอมินีของหลายประเทศที่ไปเปิดบริษัทที่สิงคโปร์แล้วใช้ชื่อไปลงทุนในเมียนมา”

TP8-3301-A สำหรับนักลงทุนราย
ใหญ่ของไทยในเมียนมา อาทิ เอสซีจี ซีพี ปตท.สผ. เครือสหพัฒน์ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีการลงทุนของผู้ประกอบการในธุรกิจโรมแรม เหล็ก ก่อสร้าง เครื่องนุ่งห่ม อาหารและอื่นๆ ปัญหาอุปสรรคการลงทุนใน
เมียนมานอกจากระบบสาธารณูป โภค เช่น ไฟฟ้า ประปาที่ไม่เพียงพอแล้ว ยังมีอุปสรรคเรื่องการออกใบอนุญาตการประกอบธุรกิจในเมียนมาที่มีความล่าช้ากว่ารัฐบาลชุดก่อน เนื่องจากเมียนมาเพิ่งมีกฎหมายการลงทุนฉบับใหม่ และกฎหมายลูกยังออกมาไม่ครบ ส่งผลให้ MIC ยังมีความระมัดระวังในการพิจารณาให้ใบอนุญาต ขณะที่ช่วงที่ผ่านมารัฐบาลของนางอองซาน ซูจี ยังเน้นหนักในการแก้ไขปัญหาเรื่องชาติพันธุ์ ยังไม่ได้เน้นเรื่องเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ แต่ล่าสุดเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมานางซูจีได้ประกาศที่จะมาเน้นหนักในเรื่องเศรษฐกิจให้มากขึ้น คาดจะส่งผลให้การลงทุนในเมียนมากลับมามีความคึกคักมากขึ้น

“ธุรกิจที่ไทยมีศักยภาพการลงทุนในเมียนมาผู้ประกอบการไทยคงต้องดูว่ามีธุรกิจใดบ้างที่รัฐบาลเขาให้การส่งเสริม ธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับสาธารณูปโภคพื้นฐาน สินค้าอุปโภคบริโภค อาหาร และการค้าต่าง ๆ ซึ่งเมียนมายังตามหลังเราอยู่ 15-20 ปี สินค้าอะไรที่เคยประสบความสำเร็จในช่วง 15-20 ปีก่อนก็มีโอกาสโตได้ในเมียนมา”

ด้านการค้าไทย-เมียนมาช่วง 8 เดือนแรกปีนี้มีมูลค่า 1.49 แสนล้านบาท ขยายตัวลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 3.3% โดยไทยส่งออก 9.91 หมื่นล้านบาท ขยายตัวเพิ่มขึ้น 0.6% นำเข้า 5.08 หมื่นล้านบาท ลดลง 10.1% โดยสินค้าส่งออกของไทยไปเมียนมา 5 อันดับแรกได้แก่ เครื่องดื่ม นํ้ามันสำเร็จรูป นํ้าตาลทราย เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ โดยมูลค่าการนำเข้าจากเมียนมาของไทยที่ลดลงมีส่วนสำคัญจากก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นสินค้านำเข้าอันดับ 1 ของไทยจากเมียนมา มีราคาปรับตัวลดลง

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว