“ภาษีที่ดิน” กับการสร้างวินัยการใช้เงิน ของ “องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” (จบ)

04 ต.ค. 2560 | 08:30 น.
TP7-3301-A

บทความ โดย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย
| ประการที่ 2 การยกเว้น “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท” จะทำลายแรงจูงใจของ อปท. ในการหารายได้มาใช้พัฒนาท้องถิ่น แม้ว่า อปท. ยังจัดเก็บภาษีได้น้อย แต่สถิติรายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเอง บ่งบอกว่า อปท. มีความพยายามจัดเก็บภาษีมากกว่าที่ อปท. ได้รับจากรัฐบาลกลาง ระหว่างปี 2545-2559 รายได้ที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองเพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 10% ขณะที่รายได้ที่รัฐบาลแบ่งให้ท้องถิ่นและเงินอุดหนุนจากรัฐบาลกลางเพิ่มขึ้นเพียงปีละ 7.6%

ร่างกฎหมาย “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” (มาตรา 28) เปิดโอกาสให้ อปท. สามารถกำหนดอัตราภาษีที่แตกต่างจากอัตราตามพระราชกฤษฎีกาได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กฎหมายกำหนด และมาตรา 44 รัฐบาลสามารถตราพระราชกฤษฎีกา ลดภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ หรือสังคม หรือเหตุการณ์ หรือกิจการ หรือสภาพแห่งท้องถิ่นได้

อำนาจดังกล่าวย่อมทำให้ อปท. มีแรงจูงใจที่จะกำหนดอัตรา “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” ที่สอดคล้องกับสภาพทางเศรษฐกิจ สังคม และความจำเป็นของการใช้เงินในการพัฒนาท้องถิ่น บาง อปท. อาจกำหนดอัตราภาษีให้ต่ำหน่อย บาง อปท. ที่มีความจำเป็น ก็อาจกำหนดอัตราภาษีสูงขึ้น แต่ถ้าหากมีการยกเว้น “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ที่มีคุณค่าต่ำกว่า 50 ล้านบาท” จำนวนผู้อยู่ในข่ายต้องเสียภาษีจะมีจำนวนไม่กี่คน ดังนั้น อำนาจตามมาตราดังกล่าวจึงไม่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินนโยบายการคลังและการพัฒนาท้องถิ่นของ อปท. ยกเว้นว่า อปท. จะมีความจำเป็นต้องหารายได้เพิ่มและกล้าขึ้นภาษีที่เก็บจากคนรวยไม่กี่คนใน อปท. ที่มีฐานภาษีเกิน 50 ล้านบาท

ผลเสียหายสำคัญประการสุดท้าย คือ การยกเว้น “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง มูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท” จะทำลายบทบาทการมีส่วนร่วมของประชาชนในการพัฒนาท้องถิ่น และการส่งเสริมประชาธิปไตยตามกฎหมายกำหนดแผนและขั้นตอนกระจายอำนาจให้แก่ อปท. พ.ศ. 2542 (มาตรา 16)

หากประชาชนทุกคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ไม่ว่าจะมีมูลค่าเท่าไรก็ตาม มีส่วนเสียภาษีให้แก่ อปท. สิ่งที่จะเกิดขึ้น คือ ประชาชนในท้องถิ่นจะมีแรงจูงใจคอยเฝ้าติดตามว่า ผู้บริหารท้องถิ่นเอาเงินภาษีของตนไปใช้ประโยชน์สำหรับคนในท้องถิ่นส่วนใหญ่ หรือใช้ประโยชน์ส่วนตัวและพรรคพวก ผลที่ตามมา คือ ผู้บริหารท้องถิ่นที่นำเงินภาษีไปใช้ส่วนตัว หรือใช้ในโครงการที่ไม่เกิดประโยชน์ต่อส่วนรวม ก็จะไม่ได้รับเลือกตั้ง บรรดานักการเมืองท้องถิ่นจะต้องเริ่มคิดโครงการพัฒนาที่เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมและท้องถิ่น

เมื่อประชาชนส่วนใหญ่มีส่วนติดตามการใช้จ่ายของนักการเมืองอย่างใกล้ชิด เพื่อรักษาผลประโยชน์จากภาษีที่ตนเสีย ในการเลือกตั้งระดับชาติ ประชาชนก็จะเรียนรู้ว่า นโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง นโยบายใดเป็นนโยบายที่ดี คุ้มกับเงินภาษีของตน นโยบายใดเป็นประชานิยมที่จะก่อความเสียหายต่อส่วนรวม

“ภาษีที่ดิน” จึงเป็นภาษีที่ฝึกให้คนไทยคอยสอดส่องการใช้เงินของนักการเมืองอย่างใกล้ชิด เป็นภาษที่ป้องกันมิให้นักการเมืองใช้นโยบายประชานิยมแบบขาดความรับผิดชอบทางการคลังมาหาเสียง เป็นเครื่องมือสร้างวินัยการเงินการคลังให้กับพรรครัฐบาล ดีกว่าการตรากฎหมายห้ามพรรคการเมืองใช้นโยบายประชานิยมหาเสียง

[caption id="attachment_214138" align="aligncenter" width="503"] ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย[/caption]

คำถามสุดท้าย คือ “ใครควรเสียภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง?” ผมขอเสนอให้สมาชิกของ สนช. ใช้แนวคิดเรื่อง “ทุกคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องเสียภาษี ‘เสียน้อย หรือ เสียมาก ก็ต้องเสียภาษี’” เพราะคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างต้องใช้บริการสาธารณูปโภค/สาธารณูปการ ถนนหนทาง บริการเก็บขยะ ฯลฯ ซึ่งล้วนแต่ต้องใช้เงินภาษี ท่านที่วิ่งเต้นขอยกเว้นไม่ให้รัฐบาลเก็บภาษีสำหรับที่ดินมูลค่าไม่เกิน 50 ล้านบาท ท่านไม่ละอายใจหรืออย่างไร? ท่านต้องการบริการสาธารณูปโภค สาธารณูปการ แต่ท่านไม่ยอมเสียภาษีทางตรงที่จะนำมาจัดหาบริการเหล่านี้

ผมขอยกตัวอย่าง ประชาชนใน อบต.โพรงมะเดื่อ ที่มีที่ดินเกษตร 20 ไร่ เสียภาษีปีละ 110 บาท แต่เขาก็มีส่วนเสียภาษีให้ อบต.

ข้อเสนอของผม คือ ทุกคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่อยู่อาศัย ตั้งแต่ 1,000,000 บาทขึ้นไป ต้องเสียภาษีบ้าง เช่น ถ้ามูลค่าที่ดินรวมกับบ้านที่อยู่อาศัยมีมูลค่า 1-20 ล้านบาท ขอให้เสียภาษีปีละ 50 บาท/มูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง 1,000,000 บาท ถ้ามูลค่าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างของท่านมีมูลค่า 20,000,000 บาท ท่านก็เสียภาษีปีละ 1,000 บาทเท่านั้น

ส่วนผู้มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างรวมกันมูลค่า 20.1-50 ล้านบาท ขอให้เสียภาษี 100 บาท/มูลค่าที่ดิน-สิ่งปลูกสร้าง 1,000,000 บาท ดังนั้น ถ้าที่ดินและบ้านของท่านมีมูลค่า 50 ล้านบาท ท่านก็เสียภาษีเพียง 100 บาท x 50 = 5,000 บาทต่อปี

ถ้าที่ดินและสิ่งปลูกสร้างมีมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท ก็ให้เสียภาษีในอัตราที่กำหนดในร่างกฎหมายที่กำลังพิจารณา แต่ผมมีข้อสังเกตว่า ในปีแรกที่มีการประกาศใช้กฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ผมไม่อยากให้รัฐบาลเก็บภาษีจนเกิดรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนมาก เพราะรายได้จากภาษีนี้ย่อมเป็นภาระต่อประชาชนและภาคธุรกิจ ทางที่ดี คือ ในปีแรกที่เริ่มบังคับใช้กฎหมาย รัฐบาลควรมีเป้าหมายว่า รายได้รวมจาก “ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง” จะต้องไม่เพิ่มขึ้นจากรายได้รวมในปี 2560 เกินกว่า 3-3.5% ที่เป็นอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจ แล้วจึงค่อย ๆ ปรับฐานภาษีขึ้นไปในเวลา 5 ปีแรก แต่อัตราการปรับฐานภาษีนี้ต้องเป็นอัตราที่กำหนดตายตัวในพระราชบัญญัติ มิใช่ปล่อยให้รัฐบาลในอนาคตเป็นผู้กำหนด

ผมหวังว่า ฯพณฯ นายกรัฐมนตรี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และสมาชิก สนช. ทุกท่านจะมีความกล้าหาญ เรียกร้องให้ทุกคนที่มีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างร่วมกันเสียภาษีตามหน้าที่ของพลเมือง “เสียน้อย เสียมาก ไม่ว่ากัน แต่ขอให้ร่วมกันเสีย” ครับ

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1-4 ต.ค. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว