ตลาดยีนส์ฮึดสู้ศก.ชูนวัตกรรมคอลเลกชันปั๊มยอดไตรมาส4

03 ต.ค. 2560 | 12:30 น.
“ตลาดยีนส์” ฮึดสู้!กำลังซื้อซบ ชูนวัตกรรมหัวหอกปลุกยอดขายไตรมาส 4 พร้อมกระหนํ่ากิจกรรมตลาดขยายฐานลูกค้า หวังพยุงตลาดหมื่นล้านเติบโต

ผลมาจากสภาพเศรษฐกิจและกำลังซื้อที่ชะลอตัว บวกกับกระแสแฟชั่นในเมืองไทยที่มีผู้เล่นแบรนด์ต่างชาติหลายแบรนด์เข้ามาทำตลาด ทำให้เกิดการแข่งขันสูง ตลาดยีนส์ถือเป็นหนึ่งในเซ็กเมนต์ที่ได้รับผลกระทบเห็นได้จากภาพรวมธุรกิจที่ทรงตัว ไม่มีการเติบโตตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ทำให้ตลาดยีนส์มูลค่ากว่า 1 หมื่นล้านบาทถูกจับตามองว่าจะเป็นอย่างไร โดยเฉพาะการแข่งขันในไตรมาสสุดท้ายนี้

โดยนายพรเทพ กมลวิศิษฎ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท บีเจ ยีนส์ (ไทยแลนด์) จำกัด ผู้ผลิตและจำหน่าย “บีเจ ยีนส์” เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ยีนส์ทุกแบรนด์ได้รับผลกระทบหมด รวมถึงกลุ่มสินค้าแฟชั่น กำลังซื้อที่ชะลอตัวทำให้ตลาดยีนส์ทรงตัวไปด้วย โดยในปีนี้พบว่าพฤติกรรมผู้บริโภคใช้จ่ายรอบคอบขึ้น ทำให้ตลาดยีนส์ไม่โตแบบหวือหวาเช่นในหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นในไตรมาสสุดท้ายนี้จะเกิดการแข่งขันที่รุนแรง เพื่อกระตุ้นตลาดและยอดขายให้มีการเติบโต
“ไตรมาส 4 เดือนตุลาคม-พฤศจิกายนจะเห็นคอลเลกชัน Born ยีนส์สำหรับผู้หญิงตั้งครรภ์”

จากก่อนหน้านี้บีเจ ยีนส์ ได้เปิดตัวคอลเลกชันใหม่ “ยีนส์กันแดด” ออกในกลางปีที่ผ่านมา พร้อมกับการจัดกิจกรรมโรดโชว์ในต่างจังหวัดต่อเนื่องทั้งที่เชียงราย ลำปาง อุดรธานี และนครราชสีมา เพราะตลาดภาคเหนือและอีสานถือเป็นตลาดสำคัญ

“จุดเด่นของยีนส์กันแดดคือ นวัตกรรมผ้าที่มี SPF ซึ่งในต่างประเทศจะมีราคา 4,000-5,000 บาทต่อตัว แต่บริษัทสามารถทำต้นทุนได้และขายในราคา 2,000-2,200 บาท ซึ่ง 3 เดือนที่ออกวางจำหน่ายได้รับการตอบรับดีเกินคาด และการออกคอลเลกชันใหม่ในไตรมาส 4 เชื่อว่าทำให้จนถึงสิ้นปีจะเติบโตได้ 5-10%”

นายพรเทพ ยังบอกว่า นวัตกรรมถือเป็นสิ่งสำคัญในตลาดยีนส์ วันนี้หลายแบรนด์จึงต้องพัฒนาสินค้าต่อเนื่อง

เช่นเดียวกับนางสาวนันทพร ประเสริฐบดินทร์ ผู้จัด การฝ่ายการตลาดแบรนด์ “ลี” ในกลุ่มบริษัท เซ็นทรัลมาร์เก็ตติ้ง กรุ๊ป จำกัด หรือซีเอ็มจี กล่าวว่า ลีให้ความสำคัญกับการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ เพื่อตอบสนองความต้องการด้านเครื่องแต่งกาย นวัตกรรมที่ว่า คือ ตู้คีออส “ลี” เครื่องขายเสื้อผ้าอัตโนมัติเป็นครั้งแรกในไทยและการเปิดตัวเสื้อยืดที-เชิ้ตเทคโนโลยีวิกกิ้ง วินโดว์ส นวัตกรรมบนผ้าฝ้ายสำหรับคอลเลกชัน ลี เออร์เบิน ไรเดอร์สซึ่งได้รับกระแสตอบรับที่ดีในช่วงที่ผ่านมา

MP36-3301-A นอกจากนี้บริษัทเตรียมใช้งบการตลาดกว่า 60 ล้านบาทในการเปิดตัวคอลเลกชันใหม่ร่วมกับ คอตตอน ยูเอสเอ ในชื่อ “CMG x Cotton Incorporated x COTTON USATM” ภายใต้ 
3 แบรนด์ไลเซนซีของทางซีเอ็มจี ทั้งลี, ลี คูเปอร์และแรงเลอร์ โดยจะเน้นทำการสื่อสารไปยังกลุ่มเป้าหมายผ่านช่องทางต่างๆ โดยเฉพาะการสื่อสารแบรนด์ผ่านช่องทางการจัดจำหน่ายตามห้างสรรพสินค้าทั่วประเทศที่มีกว่า 200 แห่ง และในช่องทางออนไลน์ ซึ่งมั่นใจว่ายอดขายคอลเลกชันใหม่นี้จะเติบโตขึ้น 5% เมื่อเทียบกับ คอลเลกชันสปริง/ซัมเมอร์

“สภาพเศรษฐกิจที่ไม่ดี ทำให้ผู้ประกอบการออกมาจัดแคมเปญพร้อมเปิดตัวนวัตกรรมกระตุ้นตลาดในช่วงโค้งท้าย กอปรกับอัตราการใช้จ่ายในช่วงสิ้นปีของผู้บริโภคซึ่งเป็นช่วงที่ผู้บริโภคมีการเปลี่ยนเสื้อผ้ามากที่สุด จะมียอดซื้อเสื้อผ้าในเซ็กเมนต์ยีนส์จะเฉลี่ย 1,800-2,300 ต่อคนต่อใบเสร็จ ซึ่งหากกระตุ้นตลาดได้จะช่วยให้ตลาดยีนส์มีการเติบโต 5-6%”

ด้านนางสาวสุดาทิพย์ แสงประเสริฐ ผู้จัดการฝ่ายการตลาดแบรนด์ “ลีคูเปอร์และแรงเลอร์” ในกลุ่มซีเอ็มจี กล่าวแสดงความคิดเห็นว่า การพัฒนา
สินค้าให้มีนวัตกรรมที่มีความโดดเด่นเฉพาะตัวและสามารถตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ความต้องการของผู้บริโภคที่แท้จริง จะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายเฉพาะได้มากยิ่งขึ้น เห็นได้จากคอลเลกชัน
ใหม่ที่ออกมา “เดนิม เพอร์ฟอร์แมนซ์” ที่ตอบโจทย์ทั้งเรื่องดีไซน์ และฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะกับการเดินทางในทุกรูปแบบ

เพราะลี คูเปอร์เป็นแบรนด์แฟชั่นยีนส์ จากประเทศอังกฤษ กลุ่มเป้าหมายหลักคือ คนรุ่นใหม่ที่มีอายุระหว่าง 18 - 24 ปี มีแนวคิดลํ้าสมัย ไม่ยึดติดอยู่กับกรอบเดิมๆ กางเกงยีนส์สกินนี่ทรง
เฮนรี่ (Henry) ของสุภาพบุรุษ และกางเกงยีนส์เข้ารูปทรงเพิร์ล (Pearl)ของสุภาพสตรีที่มีการใช้เทคโนโลยีทัฟ คอตตอน นวัตกรรมยีนส์ป้องกันรอยขีดข่วน ลดการถลอก และทำให้สีคงสภาพได้นานขึ้นจึงน่าจะเหมาะกับกลุ่มเป้าหมาย

ดังนั้นกลยุทธ์การทำตลาดจึงเน้นสร้างการรับรู้ในแบรนด์ให้กว้างขึ้นอาทิ การจัดแคมเปญ “แรงเลอร์ ทรูวันเดอเรอร์” ขยายฐานของลูกค้าไปยังกลุ่มไบค์เกอร์ และผู้ที่ชื่นชอบการเดินทางให้รู้จักกับแบรนด์ และเกิดการทดลองสินค้าของแรงเลอร์ได้มากยิ่งขึ้น ควบคู่กับการมุ่งเน้นสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งด้วย

อย่างไรก็ตามในส่วนของแบรนด์ลีวางเป้าหมายการเติบโตในสิ้นปีนี้ไว้ที่ 7% จากปีที่ผ่านมาหรือ 2,300 ล้านบาทส่วน ลี คูเปอร์ และ แรงเลอร์ ตั้งเป้าเติบโตที่ 5-6% โดยทั้งสองแบรนด์มีมูลค่ารวมกันที่ 2,000 ล้านบาทในปีนี้

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว