กล้วยหอมทองปลุกศก.อีสาน ‘ญี่ปุ่น จีน เกาหลี’นิยมบริโภค-ออร์เดอร์ไม่อั้น

04 ต.ค. 2560 | 09:07 น.
กลุ่มจังหวัดอีสานบน1 ชูยุทธศาสตร์แหล่งปลูกกล้วยหอมทองปลอดสารผ่านวิสาหกิจชุมชน เน้นตลาดส่งออกไปญี่ปุ่นจีนและเกาหลี มั่นใจกลายเป็นพืชเศรษฐกิจตัวใหม่

นายจักร์รินทร์ โพธิ์เพิ่ม ประธานกลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทอง จ.อุดรธานี เปิดเผยว่าการปลูกกล้วยหอมทองในจังหวัดอุดรธานี มีมาตั้งแต่ปี 2537 หรือเมื่อ 23 ปีที่แล้วในพื้นที่อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี ในพื้นที่ 3 ไร่ และนำไปวางขายตามตลาดริมทางจนกลายเป็นที่รู้จัก และได้มีการขยายพื้นที่ปลูกไปตามอำเภอและในพื้นที่ใกล้เคียง กระทั่งปี 2552 ทางสำนักงานเกษตรได้เข้ามาส่งเสริมให้มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขึ้น และต่อมาได้มีโอกาสส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น โดยผ่าน บริษัท แพน แปซิฟิค จำกัด และขณะนี้ได้มีแผนการขยายตลาดต่างประเทศไปที่ประเทศจีน เกาหลี โดยขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้นในกลุ่มจังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน 1 รวม 7 จังหวัด คือ อุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย สกลนคร ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์

ในส่วนของตลาดรับซื้อ สำหรับกล้วยหอมทองของจังหวัดอุดรธานีเน้นตลาดต่างประเทศเป็นหลัก โดยมีความต้องการประมาณ 10 ตัน/สัปดาห์ ซึ่งขณะทางกลุ่มวิสาหกิจฯได้รับงบประมาณ จำนวนกว่า 14 ล้านบาท เพื่อจัดสร้างโรงงานคัดแยกมาตรฐาน 1 หลัง งบ 8.4 ล้านบาท ที่เหลือนำเอาไปสนับสนุนสมาชิก ในการพัฒนาประสิทธิภาพ
การปลูก การผลิต การขนส่งบรรจุตู้คอนเทนเนอร์ที่โรงงานคัดแยก ที่ อ.สร้างคอม จ.อุดรธานี

ขณะนี้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่างได้มีการขยายเครือข่ายไปยังพื้นที่ต่างๆ เพื่อร่วมกันปลูกและผลิตกล้วยหอมทองที่ได้มาตรฐานกำหนดของตลาดในประเทศและต่างประเทศ จากครั้งแรก คือ จังหวัดอุดรธานี หนองคาย หนองบัวลำภู เลย สกลนคร ศรีสะเกษ และบุรีรัมย์ จนขณะนี้มีหลายจังหวัดที่มีพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองและมีผลผลิตมากขึ้น แต่ก็ยังไม่เพียงพอกับตลาด สำหรับตลาดในประเทศ ได้แก่ ร้านสะดวกซื้อ เซเว่นอีเลฟเว่น ที่เป็นตลาดหลักอีกแห่งรองลงมาตลาดต่างประเทศ

MP21-3301-A สำหรับจังหวัดอุดรธานีและกลุ่มจังหวัดอีสานตอนบน 1 มีการวางแผนการปลูกให้กับสมาชิกเครือข่าย การปลูกในแต่ละจุดจะต้องมีพื้นที่ปลูกกล้วยรวมกันอยู่ที่ 5,000-1 หมื่นหน่อ หรือประมาณ 15-25 ไร่ หรือ 350-400 หน่อ/ไร่ ส่วนระยะเวลาการเก็บผลผลิตจะอยู่ที่ประมาณ 9-10 เดือน ซึ่งตลอดเวลาที่กล้วยหอมทองออกเครือจนเก็บผลผลิตได้ ต้องดูแลอย่างใกล้ชิด การเก็บกล้วยหอมทองต้องกะเวลาที่กล้วยจะสุกประมาณ 80% เมื่อเดินทางถึงประเทศปลายทาง ส่วนการบ่มให้สุกเต็มที่เป็นเรื่องผู้รับปลายทาง นํ้าหนักต่อลูกจะต้องไม่ตํ่ากว่า 120 กรัม และที่สำคัญการดูแลกล้วยหอมทองจะต้องไม่ใช้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายอย่างเด็ดขาด

นายจักร์รินทร์ กล่าวเพิ่มเติมว่า พื้นที่อีสานได้เปรียบตรงที่เป็นพื้นที่ใหม่ในการปลูกกล้วย การสะสมของโรค-แมลงยังน้อย ระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมยังสมบูรณ์ ขณะที่ในพื้นที่ที่ปลูกกล้วยมานานการเจริญเติบโตจะสู้พื้นที่ใหม่ไม่ได้ กล้วยปลูกซํ้าที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค การให้ผลผลิตก็ไม่ค่อยดี อีสานได้เปรียบในเรื่องของการจัดการที่ง่าย ต้นทุนค่าปุ๋ยและสารเคมีน้อยกว่าเขตอื่น แต่พื้นที่ของภาคอีสานก็เสียเปรียบตรงที่หาพื้นที่ปลูกกล้วยหอมทองค่อนข้างยากเนื่องจากพื้นที่ส่วนใหญ่แห้งแล้ง การลงทุนในเรื่องของระบบนํ้าก็อาจจะสูงกว่าพื้นที่อื่น การวางแผนการผลิตต้องสัมพันธ์กับพื้นที่

การปลูกกล้วย ควรใช้ระยะปลูก 2x2 เมตร พื้นที่ 1 ไร่ ปลูกได้ 350-400 หน่อ หน่อที่นำมาปลูกต้องเป็นหน่อจากต้นที่มีอายุ 1 ปีขึ้นไป และกล้วยจะเริ่มออกปลีเมื่ออายุ 6 เดือน จากนั้นหุ้มเครือด้วยถุงพลาสติกสีฟ้า (เอทิลีนโพลีน) แบบเปิดปลายด้านล่าง โดยหุ้มทั้งเครือ เพื่อให้ผิวกล้วยสวย และป้องกันแมลงทำลายหวีกล้วย โดยเก็บเกี่ยวได้หลังเริ่มปลูก 9-10 เดือน การปลูกกล้วยเพื่อส่งออกจะหลีกเลี่ยงการใช้สารเคมีให้มากที่สุด ประกอบกับที่นี่เป็นพื้นที่ใหม่จึงไม่ค่อยมีปัญหาเรื่องโรค-แมลง ก็ไม่ค่อยมีการใช้สารเคมีกันอยู่แล้ว

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,301 วันที่ 1 - 4 ตุลาคม พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว