ทล.เร่งแจงกรรมการสิทธิฯเหตุประชาชนเดือดร้อนสร้างมอเตอร์เวย์

29 ก.ย. 2560 | 08:02 น.
กรมทางหลวงชี้แจงกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน - นครราชสีมา และสายบางใหญ่ -กาญจนบุรี

นายธานินทร์ สมบูรณ์ อธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยว่าตามที่สื่อมวลชนนำเสนอข้อมูลกรณี นางเตือนใจ ดีเทศน์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ในฐานะประธานอนุกรรมการด้านสิทธิชุมชนและฐานทรัพยากรเผยถึงรายงานผลการตรวจสอบ เรื่องร้องเรียนกรณีประชาชนได้รับความเดือดร้อนจากโครงการก่อสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง(มอเตอร์เวย์) สายบางปะอิน - นครราชสีมา และสายบางใหญ่ -กาญจนบุรี ในประเด็นต่าง ๆ ได้แก่

tanin

(1) มาตรการลดผลกระทบไม่สอดคล้องกับสภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินและสภาพสังคม เนื่องจากรายงาน EIA เป็นข้อมูลที่มีการศึกษามานานกว่า 10 ปี (2) ประชาชนที่ได้รับผลกระทบโดยตรงจากโครงการไม่สามารถเข้าร่วมประชุม เนื่องจากการเชิญประชุมในเวลากระชั้นชิด (3) พื้นที่ Service Area บริเวณ อ.นครชัยศรี (กม.19+500) มีการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์เกินความจำเป็น และ (4) การกำหนดค่าเวนคืนไม่ใช่ราคาที่ดินที่ซื้อขายในปัจจุบัน

กรมทางหลวงได้ตรวจสอบแล้วขอเรียนชี้แจงข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวดังต่อไปนี้
ประเด็นที่ 1 เนื่องจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมของทั้ง 2 โครงการ ดำเนินการศึกษามาแล้วกว่า 10 ปี สภาพแวดล้อมในพื้นที่โครงการอาจเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ดังนั้น ในปี พ.ศ. 2559 กรมทางหลวงจึงได้ว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา ให้ดำเนินการทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ – กาญจนบุรี และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน – นครราชสีมา

tlal

เพื่อทบทวนรายละเอียดโครงการในส่วนที่มีการเปลี่ยนแปลงสาระสำคัญไปจากรายงาน EIA เดิม และทบทวนสภาพสิ่งแวดล้อมให้เป็นปัจจุบัน รวมถึงประเมินผลกระทบที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม และเสนอแนะมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่เหมาะสม โดยรายงานของทั้ง 2 โครงการได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการ พิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานทางบกและอากาศ ในการประชุมครั้งที่ 24/2559 และครั้งที่ 25/2559 ตามลำดับ และคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติมีมติรับทราบเมื่อวันที่ 21 กันยายน 2559

ประเด็นที่ 2 กรมทางหลวงได้จัดให้มีการดำเนินงานด้านการมีส่วนร่วมของประชาชนของโครงการในทุก ๆ ขั้นตอนของการศึกษา และในขั้นตอนที่ผ่านมาเป็นขั้นตอนการทบทวนรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่- กาญจนบุรี และโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางปะอิน -นครราชสีมา ซึ่งในระหว่างการศึกษาได้มีการเข้าพบผู้นำชุมชน (กำนัน/ผู้ใหญ่บ้าน) เพื่อประชาสัมพันธ์โครงการและจัดประชุม เพื่อหารือมาตรการป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อม

tlal2

โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อนำเสนอรายละเอียดแนวเส้นทางโครงการ และรูปแบบในการพัฒนาโครงการ ตลอดจนนำเสนอผลการทบทวนรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมฯ ซึ่งปรับปรุงจากรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมเดิม ให้กลุ่มเป้าหมายที่เกี่ยวข้องได้รับทราบ ตลอดจนเพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะต่อโครงการ โดยการประชุมของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง สายบางใหญ่ - กาญจนบุรี แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มย่อยตามพื้นที่ ในวันที่ 25, 28 และ 29 มีนาคม 2559 มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 5 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 1,142 คน และการประชุมของโครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายบางปะอิน -นครราชสีมา แบ่งออกเป็น 5 กลุ่มย่อย ในระหว่างวันที่ 30 มีนาคม-1 เมษายน 2559 มีผู้เข้าร่วมประชุมทั้ง 5 กลุ่ม รวมทั้งสิ้น 618 คน

ประเด็นที่3 จุดพักรถ อ.นครชัยศรี (กม.19+500) เป็นพื้นที่บริการทางหลวง (Service Area) ที่เป็นองค์ประกอบหลักของทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง ซึ่งในพื้นที่จะประกอบไปด้วยการให้บริการที่สำคัญต่าง ๆ อาทิเช่น พื้นที่จอดรถ, ศูนย์บริการข้อมูลข่าวสาร, ศูนย์กู้ภัยแจ้งเหตุและให้บริการด้านการแพทย์ฉุกเฉิน, สถานีบริการน้ำมัน และห้องสุขา เป็นต้น โดยหลักเกณฑ์ในการออกแบบขนาดของพื้นที่จะวิเคราะห์จากปริมาณจราจร ในช่วงเริ่มต้นโครงการและจากปริมาณจราจรที่คาดการณ์ในอนาคตไม่ต่ำกว่า 15 ปี

tlal3

สำหรับตำแหน่งของพื้นที่บริการทางหลวงนั้น จะพิจารณาจากปัจจัยต่าง ๆ ทางด้านวิศวกรรมประกอบด้วย อาทิ โครงข่ายที่จะเกิดขึ้นในอนาคต ซึ่งกรณีสายทางดังกล่าวจะมีโครงข่ายของทางหลวงพิเศษระหว่างเมืองสายนครปฐม - ชะอำ และโครงการสายวงแหวนรอบนอกกรุงเทพมหานครรอบที่ 3 ต่อเชื่อมในอนาคต เป็นต้น ทั้งนี้ พื้นที่บริการทางหลวงมีพื้นที่ทั้งหมดประมาณ 140 ไร่ เป็นพื้นที่รวม 2 จุด คือ ขาเข้าและขาออก ประกอบด้วยพื้นที่บริการทางหลวงประมาณ 89 ไร่ ทางเข้าออกพื้นที่ดังกล่าวประมาณ 36 ไร่ และทางบริการตามความต้องการในพื้นที่ประมาณ 15 ไร่

ประเด็นที่ 4 การกำหนดค่าเวนคืนที่ดิน เป็นไปตามมาตรา 21 ของ พ.ร.บ.ว่าด้วยการเวนคืนอสังหาริมทรัพย์ พ.ศ. 2530 โดยมีคณะกรรมการกำหนดราคาเบื้องต้น อาทิ ผู้แทนจังหวัด, ผู้แทนสำนักงานที่ดินจังหวัด, ผู้แทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และผู้แทนกรมทางหลวง เป็นต้น ร่วมกันพิจารณากำหนดราคาค่าเวนคืนที่ดิน นอกจากนี้ หากที่ดินส่วนที่เหลือจากการเวนคืนมีราคาลดลง ก็อาจจะพิจารณากำหนดค่าทดแทนสำหรับที่ดินส่วนที่เหลือนี้ให้มีราคาที่เหมาะสมและเป็นธรรม เช่น ที่ดินบริเวณทางยกระดับ, ที่ดินบริเวณโครงการทางหลวงพิเศษ หรือที่ดินส่วนที่เหลือซึ่งมีสภาพด้อยลง เป็นต้น

tlal4

ทั้งนี้กรมทางหลวงขอเรียนว่าการดำเนินการดังกล่าวของกรมทางหลวงนั้น ดำเนินงานตามขั้นตอนทุกประการและคำนึงถึงการมีส่วนร่วมของประชาชนมาโดยตลอด และพร้อมรับฟังความคิดเห็นของผู้ได้รับผลกระทบเพื่อหาทางออกร่วมกัน ทั้งนี้ประชาชนสามารถสอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่สายด่วนกรมทางหลวง 1586 โทรฟรี 24 ชม.

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว