สศอ.เผย MPI เดือนสิงหาคม ขยายตัวร้อยละ 3.74 ส่งสัญญาณเศรษฐกิจไทยขยายตัวต่อเนื่อง

29 ก.ย. 2560 | 06:50 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม  เผยดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม ประจำเดือนส.ค.60 ขยายตัวร้อยละ 3.74 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อน ส่งสัญญาณการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของเศรษฐกิจไทย โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวก ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และน้ำมันปิโตรเลียม

นายวีรศักดิ์ ศุภประเสริฐ รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม (สศอ.) เปิดเผยว่า ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) ประจำเดือนสิงหาคม 2560  ขยายตัวขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.74 เมื่อเทียบจากช่วงเดียวกันในปีก่อนและเพิ่มขึ้นร้อยละ 3.77 เมื่อเทียบจากเดือนก่อน ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม 8 เดือนแรกของปี 2560 ขยายตัวร้อยละ 1.00 ส่งสัญญาณบ่งบอกว่าเศรษฐกิจไทยกำลังขยายตัวอย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกันกับการส่งออกสินค้าอุตสาหกรรม (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึง ร้อยละ 8.50 รวมถึงการนำเข้าสินค้าทุนที่ขยายตัวร้อยละ 6.10 และการนำเข้าสินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป (ไม่รวมทองคำแท่ง) ที่ขยายตัวถึงร้อยละ 9.20 โดยอุตสาหกรรมสำคัญที่ส่งผลบวกต่อ MPI ได้แก่ เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ รถยนต์ ผลิตภัณฑ์ยาง ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ และน้ำมันปิโตรเลียม

อุตสาหกรรมหลักที่ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตอุตสาหกรรม (MPI) มีการขยายตัว ได้แก่  เครื่องยนต์สำหรับรถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 38.39 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์เครื่องยนต์ดีเซลที่ได้รับคำสั่งซื้อจากผู้ผลิตในประเทศเพื่อตอบสนองการผลิตรถยนต์ที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการส่งออกต่างประเทศ โดยเฉพาะลูกค้าในกลุ่มประเทศ AEC (อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์)

รถยนต์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 11.28 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์รถปิคอัพและรถยนต์นั่งความจุกระบอกสูบไม่เกิน 1,800 cc. เนื่องจากผู้ผลิตบางรายมีเปิดตัวรถยนต์รุ่นใหม่ และมีงานมหกรรมรถยนต์ Big motor sale กระตุ้นตลาดในประเทศเพิ่มขึ้นทำให้ปริมาณจำหน่ายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.83 ส่วนการส่งออกรถยนต์ปรับเพิ่มขึ้น จากรถปิคอัพที่ส่งออกไปในตลาดกลุ่มอาเซียน

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์ยาง ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.74 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์ยางแผ่น โดยในปีนี้วัตถุดิบ (น้ำยาง) ออกสู่ตลาดมากขึ้นเนื่องจากสภาพอากาศที่ฝนตกตลอดปีส่งผลให้ต้นยางสมบูรณ์เต็มที่ รวมถึงหลายบริษัททำการขยายตลาดใหม่ได้มากขึ้น

ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 5.51 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ในผลิตภัณฑ์ PCBA รองลงมาเป็นสินค้า Other ICs เนื่องจากแนวโน้มความต้องการใช้ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ที่เป็นไปตามเทรนด์เทคโนโลยี IOT ที่เติบโตอย่างรวดเร็วต่อเนื่องจากปีก่อน

น้ำมันปิโตรเลียม ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.44 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน จากผลิตภัณฑ์น้ำมันดีเซลหมุนเร็ว น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 และน้ำมันเครื่องบิน เนื่องจากในปีก่อนโรงกลั่นมีการซ่อมบำรุงบางส่วน ทำให้กำลังการผลิตในสินค้าดังกล่าวของปีก่อนลดลง แต่ในปีนี้สามารถกลั่นได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตามยังมีบางอุตสาหกรรมที่หดตัว ได้แก่  เครื่องประดับ ปรับตัวลดลงร้อยละ 40.21 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากนโยบายการคืนสินค้าจากแฟรนไชส์ในสหรัฐฯ สภาพเศรษฐกิจที่ผันผวนและภัยก่อการร้ายที่เกิดขึ้นในหลายประเทศที่ส่งผลให้ผู้สั่งซื้อชะลอการนำเข้า

เครื่องปรับอากาศและส่วนประกอบ ปรับตัวลดลงร้อยละ 28.84 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากสภาพอากาศที่แปรปรวนและมีฝนตกอย่างต่อเนื่องในทุกภูมิภาค

เหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็ก ปรับตัวลดลงร้อยละ 6.17 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากประสบปัญหาเหล็กแผ่นเคลือบนำเข้าราคาถูกเข้ามาตีตลาดจำนวนมาก ถึงแม้ว่าราคาเหล็กจะมีทิศทางปรับตัวสูงขึ้น แต่ความต้องการใช้เหล็กเส้นเพื่อการก่อสร้างกลับมีน้อยลง เนื่องจากฝนที่ยังตกชุกในทุกภูมิภาคที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าด้วย

การปั่นเส้นใยสิ่งทอ ปรับตัวลดลงร้อยละ 14.44 จากช่วงเดียวกันของปีก่อน เนื่องจากตลาดในประเทศประสบปัญหาการนำเข้าสินค้าราคาถูกมาจำหน่ายมากขึ้น ส่วนการส่งออกจะมีผู้ผลิตที่เป็นคู่แข่งในกลุ่มอาเซียนซึ่งได้รับสิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร (GSP) ในการส่งออกไปยุโรปและสหรัฐฯ ทำให้สินค้ามีราคาถูกกว่า ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว