ก.พลังงานนำผู้ประกอบการไทยบุกฟิลิปปินส์

28 ก.ย. 2560 | 04:57 น.
- 28 ก.ย. 60 - พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยภายหลังการประชุมรัฐมนตรีพลังงานอาเซียน ครั้งที่ 35  ASEAN Energy Awards 2017 ณ กรุงมะนิลา สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ว่า การประชุมครั้งนี้นับเป็นก้าวสำคัญของไทย ในแผนปฎิบัติการพลังงานอาเซียน  ที่ขณะนี้ประเทศไทยถือเป็นผู้นำในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนในอาเซียน มุ่งสู่การส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ โดยได้วางยุทธศาสตร์การพัฒนาพลังงานระยะ 20 ปี (ปี 2558-2579) โดยเฉพาะ แผนอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ.2558–2579 (EEP 2015) และแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก (AEDP 2015) ซึ่งจะเป็นส่วนหนึ่งในการตอบโจทย์นโยบาย Energy 4.0

ทั้งนี้ มีเป้าหมายสำคัญ 4 ด้านได้แก่ 1.ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์ ตามข้อผูกพันของการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 หรือ Cop21 2.ลดการพึ่งพาพลังงานฟอสซิล 3.การสร้างกลไกการแข่งขันไปสู่เสรีเพื่อราคาเป็นธรรม และ 4.การพัฒนาพลังงานชุมชนเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชน

"การอนุรักษ์พลังงาน และการส่งเสริมพลังงานทดแทน ตลอดเวลาที่ผ่านมานโยบายของประเทศไทยได้ให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่องทำให้ไทยนั้นนับว่าเป็นผู้นำในเรื่องดังกล่าวในภูมิภาคอาเซียน ขณะเดียวกันเวทีพลังงานอาเซียนได้มุ่งเน้นการสร้างความมั่นคงภูมิภาคและการบูรณาการด้านพลังงานผ่านการซื้อขายไฟฟ้าพหุภาคี การเชื่อมสายส่งและระบบท่อก๊าซ โดยหนึ่งในแผนสำคัญคือด้านพลังงานทดแทนและประสิทธิภาพและอนุรักษ์พลังงานนั้นอาเซียนมีเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนให้ได้ 23% ของการใช้พลังงานขั้นสุดท้ายภาย ในปี 2568 จากปัจจุบันมีสัดส่วนอยู่ที่ 12-13% เป็นต้น" รมว.พลังงานกล่าว ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว

สำหรับกิจกรรมสำคัญในการส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนร่วมกันตระหนักถึงการอนุรักษ์พลังงานและการ   ใช้พลังงานทดแทนในไทยนั้น กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) กระทรวงพลังงาน ได้จัดประกวด Thailand Energy Awards  ขึ้นเป็นประจำทุกปี โดยในปี 2560 จัดขึ้นเป็นปีที่ 18  หรือ  Thailand Energy Awards 2017 สุดยอดพลังงานไทยระดับสากลโดยแบ่งรางวัลออกเป็น 5 ด้านได้แก่ 1.  พลังงานทดแทน 2.อนุรักษ์พลังงาน   3.บุคคลากร 4.พลังงานสร้างสรรค์และ 5.ผู้ส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทน

โดยในปี 2560 มีผู้ส่งผลงานเข้าประกวด 262 ราย มีผู้ได้รับการคัดเลือกชนะการประกวด 66 ราย  ซึ่งจากผลจากโครงการต่างๆที่ผู้ประกอบการได้เข้าร่วมการประกวด เป็นผลให้ผู้ประกอบการสามารถประหยัดพลังงาน ได้มากกว่า 420 ล้านบาทต่อปี ลดก๊าซคาร์บอนด์ไดออกไซด์ได้ กว่า 2.9 แสนตันต่อปี

สำหรับผู้ที่ชนะการประกวดในเวที Thailand Energy Awards จะถูกนำเสนอเข้าประกวดต่อในเวทีระดับอาเซียนคือ  ASEAN Energy Awards นอกจากนี้ยังได้มีการมอบรางวัลประเภทบุคคลที่มีความเป็นเลิศด้านการจัดการพลังงานของอาเซียนให้กับ นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ปลัดกระทรวงพลังงาน และนายดนัย เอกกมล รองอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) อีกด้วย

ส่วนรางวัล ASEAN Energy Awards ไทยสามารถคว้ารางวัลมาได้ 19 รางวัล ซึ่งถือเป็นประเทศที่คว้ารางวัลสูงสุดต่อเนื่อง  ขณะเดียวกันยังได้รับรางวัล ASEAN Coal Awards 2017 จํานวน 6 รางวัล จาก Thailand Coal Awards 2017 แสดงถึงความตั้งใจและการสนับสนุนต่อผู้ประกอบการ ให้มีการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ ส่งเสริมการประกอบการที่ดีด้านถ่านหินในอาเซียน แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ01-3-1

สำหรับ 19 รางวัล ASEAN Energy Awards 2017 แบ่งเป็น ด้านพลังงานทดแทน จำนวน 9 ผลงาน ประกอบด้วย โครงการพลังงานหมุนเวียนที่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (ON-Grid)  จำนวน 2 ผลงาน  ได้แก่        1. บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด(มหาชน)  ดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงขยะ (RDF) 60 เมกกะวัตต์ รับรางวัลรองชนะเลิศ อันดับ 1  ,2.วิทยาลัยพลังงานทดแทน มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ดำเนินโครงการ ระบบผลิตไฟฟ้าด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ร่วมกังหันลมแบบไม่เชื่อมต่อสายส่งสำหรับชุมชนบนพื้นที่สูงในหุบเขาภาคเหนือ รับรางวัล   รองชนะเลิศอันดับ 1

โครงการพลังงานหมุนเวียนที่ไม่เชื่อมโยงกับระบบสายส่งไฟฟ้า (off – Grid ) จำนวน 3 ผลงาน ประกอบด้วย 1. บริษัท ไทยอีสเทิร์น ไบโอ พาวเวอร์ จำกัด ดำเนิน โครงการพลังงานเชื้อเพลิงก๊าซชีวภาพรับรางวัลชนะเลิศ  2. บริษัท นทีชัย จำกัด ดำเนินโครงการนำก๊าซชีวภาพจากการบำบัดน้ำกากส่ามาทดแทนน้ำมันเตา รองชนะเลิศดันอับ 1  และ 3. เครือข่ายร่วมใจตามรอยพ่อ ดำเนินโครงการส่งเสริมพลังานทดแทนในชุมชน รับรางวัลชนะเลิศ

โครงการพลังงานความร้อนร่วมจากพลังงานหมุนเวียน (Cogeneration)  จำนวน 1 ผลงาน ได้แก่  บริษัท บุรีรัมย์พลังงาน จำกัด ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม รับรางวัลชนะเลิศ

โครงการเชื้อเพลิงชีวภาพ (Biofuel) จำนวน 2 ผลงาน ได้แก่ 1. บริษัทมิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด (สาขาชัยภูมิ) ดำเนินโครงการโรงเอทานอลมิตรผล ภูเขียว  รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1  และ 2. บริษัทซีพีเอฟ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ดำเนินโครงการผลิตน้ำมันไบโอดีเซลจากน้ำมันพืชใช้แล้ว รับรางวัลชนะเลิศ

โครงการประยุกต์ใช้พลังงานทดแทน (Special Submission) จำนวน 1 ผลงาน ได้แก่ โครงการชุมชนแปลงชีวมวลสู่พลังงานและไบโอชาร์ (มูลนิธิเบ๊บซี เอ็นเซฟไลฟ) รับรางวัลชนะเลิศ ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว