นอนแบงก์ก้าวกระโดด ‘หมอยง’อู้ฟู่เก็บ BFIT,GL หวัง 5 ปีกำไรพุ่งเกิน 10 เท่าไม่เพิ่มทุน

30 ก.ย. 2560 | 08:10 น.
ธุรกิจนอนแบงก์ ที่ให้บริการปล่อยสินเชื่อเช่าซื้อ (ลี่สซิ่ง)ไฮเปอร์เชส สินเชื่อบุคคล และสินเชื่อเอสเอ็มอี มีการปรับกลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจใหม่ เพราะหากยังคงดำเนินงานแบบเดิมๆจะไม่สามารถเติบโตก้าวกระโดดในอนาคต ทำให้แต่ละบริษัทต้องหาโอกาสใหม่ทั้งในและต่างประเทศ อาทิ บริษัท ศรีสวัสดิ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)หรือ SAWAD หนึ่งในผู้นำธุรกิจนี้ตัดสินใจใช้เงินลงทุนประมาณ830 ล้านบาท ในการซื้อหุ้น บริษัทเงินทุน (บง.) กรุงเทพธนาทรจำกัด (มหาชน) หรือ BFIT จำนวน72.69 ล้านหุ้น คิดเป็น 36.35%ในราคาหุ้นละ 11.42 บาท ก่อนเปลี่ยนชื่อเป็น บง. ศรีสวัสดิ์ จก.(มหาชน) ในปัจจุบัน

สำหรับข้อดีของการถือหุ้นในธุรกิจบริษัทเงินทุน ที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือให้กับคู่ค้าและลูกค้ามากยิ่งขึ้น และยังสามารถระดมเงินฝากจากประชาชนได้อีกด้วย ทำให้ต้นทุนทางการเงินถูกลง ขณะนี้รับฝากเงินในอัตรา 3.47% ต่อปี แบ่งเป็นอัตราดอกเบี้ย 3% เงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน (FIDF) 0.46%และสถาบันคุ้มครองเงินฝาก(DPA) 0.01% เมื่อเปรียบเทียบกับการออกตั๋วแลกเงิน (บี/อี)หุ้นกู้ และเงินยืมจากสถาบันการเงิน เช่น การออกหุ้นกู้ อายุ 3 ปีจ่ายอัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี

นอกจากนั้น บริษัทศรีสวัสดิ์ฯ ยังขยายการดำเนินธุรกิจออกไปประเทศเพื่อนบ้านโดยไม่ติดกฎหมาย เรื่องการคิดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้จากลูกค้าเกินกว่าที่กำหนดคือ 15% ต่อปี ไม่รวมค่าบริการต่างๆ อีก 3-4%รวมถึงการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพจากสถาบันการเงิน มาบริหารซึ่งสามารถสร้างรายได้และกำไรสุทธิจำนวนมากในช่วงที่ผ่านมา

ขณะเดียวกัน บริษัทเมืองไทย ลิสซิ่ง จำกัด (มหาชน)หรือ MTLS ยังคงดำเนินธุรกิจโดยการขยายสาขาให้ครอบคลุมพื้นที่ประเทศไทยให้มากที่สุดเพราะเชื่อว่าความต้องการใช้สินเชื่อยังมีอยู่อีกจำนวนมาก จึงไม่จำเป็นต้องออกไปลงทุนยังต่างประเทศ และยังคงมีกำไรสุทธิสูงสุด (นิวไฮ) ในไตรมาส 2/2560จำนวน 571 ล้านบาท พุ่งขึ้นประมาณ 90% จากยอดการปล่อยสินเชื่อ เพิ่มขึ้น 61% เป็น 14,102ล้านบาท และขยายสาขาเพิ่มอีก810 สาขา เป็น 2,046 สาขา ณสิ้นเดือนมิถุนายน 2560 โดยยังคงใช้แหล่งเงินทุนจากตลาดทุนและตลาดตราสารหนี้ เช่น ตั๋วบี/อี และหุ้นกู้ ล่าสุดเพิ่งประสบความสำเร็จในการออกและขายหุ้นกู้มูลค่า 3,200 ล้านบาท

สำหรับ บริษัท กรุ๊ปลีสจำกัด (มหาชน) หรือ GLนายทัตซึยะโคโนชิตะ ประธานกรรมการบริหาร กล่าวว่า บริษัทได้ลงทุนระบบไอทีในการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิตอลไฟแนนซ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและลดต้นทุนในการดำเนินงาน สำหรับการดำเนินธุรกิจในประเทศไทยและเพื่อนบ้านอีก 6 ประเทศ ก็สามารถสร้างกำไรสุทธิ 337 ล้านบาท ในไตรมาส 2/2560 ถือเป็นกำไรนิวไฮติดต่อกัน 11 ไตรมาส และยังหวังว่าจะสามารถเติบโตก้าวกระโดด 10 เท่า สำหรับรายได้และมากกว่า 10 เท่าในส่วนของกำไรสุทธิ สำหรับการดำเนินงานในช่วง 5 ปี (2560-2564) เมื่อเปรียบเทียบกับผลงานในปี2549 และไม่จำเป็นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนแต่อย่างใดในช่วง 5 ปีนี้

ทั้งนี้ กำไรประมาณ 90%มาจากต่างประเทศ จากการโตได้ปีละ 50-100% เพราะประชากรมีจำนวนมาก ขณะที่การปล่อยสินเชื่อในเมืองไทยโตปีละ 10-15%ก็พอใจแล้ว

MP17-3300-A “กรุ๊ปลีสตั้งเป้าที่จะพัฒนาขึ้นเป็นผู้นำด้านฟินเทคในภูมิภาคเอเชียได้ และเทียบเคียงบริษัทกูเกิลฯและเฟซบุ๊กได้ส่วนกำไรที่หวังว่าจะโต มากกว่า10 เท่า ก็เป็นไปได้ เพราะได้ลงทุนด้านค่าใช้จ่ายคงที่ไปมากแล้ว เช่น จุดขายที่เมียนมา และอินโดนีเซีย ซึ่งแต่ละจุดมีการลงทุนเพียง 400 ดอลลาร์สหรัฐฯไม่มากเหมือนการเปิดสาขาประมาณ 4 หมื่นดอลลาร์สหรัฐฯต่อสาขา รวมถึงการไม่ใช้เงินสดลูกค้าโอนผ่านมือถือเข้าสำนักงานใหญ่ และที่สำคัญการมีพันธมิตรที่ดีในแต่ละประเทศ และการปล่อยสินเชื่อในอินโดนีเซียใช้เงินทุนของพันธมิตร J Trust Asia ที่ถือหุ้นของกรุ๊ปลิสด้วย โดยบริษัทจ่ายให้ J Trust จำนวน 11% และคิดดอกเบี้ยจากลูกค้าประมาณ36-40%”

สำหรับพันธมิตรในต่างประเทศ เช่นกลุ่มสุรายักษ์ใหญ่AMMK ที่มีเอเยนต์และร้านโชวห่วยประมาณ 2.2 หมื่นรายในเมียนมา รวมถึงบริษัท ทาทามอเตอร์ในอินโดนีเซีย และยังมีข้อตกลงพิเศษในการปล่อยสินเชื่อมอเตอร์ ไซค์กับฮอนด้า คาดว่าพอร์ตสินเชื่อที่เมียนมาใน 5ปี อยู่ที่ประมาณ 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ จากปัจจุบันมีเพียง 1% ของพอร์ตสินเชื่อ ณ สิ้นไตรมาส 2/2560 อยู่ที่ 1.02 หมื่นล้านบาท ส่วนอินโดนีเซียคาดว่าพอร์ตสินเชื่อจะเติบโตได้หลายพันล้านดอลลาร์ โดยแพลตฟอร์มจะเน้นไปที่ลูกค้ารายย่อยที่มีจำนวนมากในชนบทที่ระบบธนาคารเข้าไม่ถึง

ส่วนการปล่อยเงินกู้กระจุดตัวให้กับกลุ่มสิงคโปร์ กลุ่มไซปรัส ปัจจุบันมีมูลหนี้เหลือ 50ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ คาดว่าจะได้รับชำระหนี้หมดในภายในปีนี้หรือปีหน้า และหลักประกันที่มีอยู่ก็สูงกว่ามูลหนี้แล้ว จากนี้จะไม่มีการปล่อยเงินกู้กระจุกตัว จนมีปัญหากระทบความเชื่อมั่นของนักลงทุนอีก และคดีที่ญี่ปุ่น จากก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.ญี่ปุ่นลงโทษทางปกครองด้านการเงินจำนวน 1 พันล้านบาท ไม่ใช่เป็นคดีอาญาส่วนตัวมองว่าไม่ได้ทำอะไรผิดจึงต่อสู้ในชั้นศาล ซึ่งศาลจะต้องมีคำตัดสินภายใน 5 ปี นับจาก เดือนเมษายน 2559 ไม่อย่างนั้นถือว่าคดีสิ้นสุด

ด้านแหล่งข่าวจากโบรกเกอร์ กล่าวว่า นักลงทุนให้ความสนใจเข้าเก็งกำไรในหุ้นลิสซิ่ง โดยเฉพาะ BFIT ที่ราคาขยับตัวขึ้นอย่างรวดเร็วจากไม่ถึง 20 บาทขึ้นมาใกล้ 30 บาท ส่วนหนึ่งเกิดจากกลุ่มนักลงทุนรายใหญ่เข้ามาลงทุน เช่น นายแพทย์บรรยง พันธ์วงกล่อม เข้ามาซื้อหุ้นมากกว่า 1 ล้านหุ้น ได้กำไรจำนวนมาก

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว