สกัดนิติบุคคลโกงชาติ! ป.ป.ช. ออกกฎเข้ม จ่ายสินบนรัฐ โดนหนัก!

28 ก.ย. 2560 | 12:22 น.
ป.ป.ช.เดินหน้าสกัด “นิติบุคคล” โกงชาติ คลอดกฎหมายจี้ออกมาตรการป้องกันเจ้าหน้าที่บริษัทติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐแลกกับโครงการ ระบุหากพบกระทำผิดต้องจ่ายชดเชยความเสียหายที่เกิดขึ้น

สำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ได้ออกแนวทางปฏิบัติสำหรับนิติบุคคลที่ต้องรับผิดชอบในกรณีที่เจ้าหน้าที่ไปให้สินบนเจ้าหน้าที่รัฐ ตาม พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2542 (แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2558) ซึ่งมีการเพิ่มเติมบทบัญญัติมาตรา 123/5 สาระสำคัญเพื่อกำหนดความรับผิดสำหรับบุคคลที่ให้สินบนเจ้าหน้าที่ของรัฐ เจ้าหน้าที่ของรัฐต่างประเทศ และเจ้าหน้าที่ขององค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งกำหนด ความรับผิดเฉพาะสำหรับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน ซึ่งเดิมกฎหมายเอาผิดเฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐไทย และไม่มีบทบัญญัติชัดเจนในการเอาผิดกับนิติบุคคลที่เกี่ยวข้องกับการให้สินบน

วันที่ 27 กันยายนนี้ ป.ป.ช. ได้จัดสัมมนาเรื่อง “รัฐเอกชนร่วมใจ ขับเคลื่อนธุรกิจไทยไร้สินบน” เพื่อทำความเข้าใจและชี้แจงแนวทางปฏิบัติสำหรับนิติบุคคล แนะนำหลักการ ระบบควบคุมภายในที่เหมาะสม จากข้อสรุป 8 ประการ ซึ่งผ่านความเห็นชอบของ ครม. โดยเชิญ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวสุนทรพจน์ และจะแจกคู่มือ ที่ระบุถึงความเป็นมา คำแนะนำ และมีตัวอย่างสำหรับนิติบุคคล

พล.ต.อ.วัชรพล ประสาร-ราชกิจ ประธานกรรมการป.ป.ช. กล่าวกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เดิมป.ป.ช.ดูแลงานด้านป้องกันและปราบปรามด้านการทุจริต เฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ และนักการเมืองที่ทุจริต ดำเนินการสอบสวน ถ้ามีความผิดจริงก็ต้องรับผิดชอบตามกฎหมาย ลงโทษผู้กระทำผิดในฐานะตัวบุคคล ซึ่งที่ผ่านมานิติบุคคลอาจไม่กระทบอะไร เพราะเมื่อนิติบุคคลได้โครงการขนาดใหญ่ของรัฐ ผลประกอบการก็จะดีขึ้น ผลกำไรจะดีขึ้น เมื่อผลกำไรดีขึ้นผู้ถือหุ้นได้เงินปันผลก็ได้ประโยชน์ไป การที่ตนเองได้ประโยชน์จากการได้เงินปันผล ได้จากบริษัทที่ตนถือหุ้นใช้มาตรการที่ไม่ถูกต้อง เพราะไปแย่งชิงโครงการเขามาโดยไม่โปร่งใส

สำหรับกฎหมาย ป.ป.ช. มาตรา 123/5 นี้ เจตนารมย์เป็นไปตามพันธกรณีที่ป.ป.ช.มีตามอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการต่อต้านการทุจริต ซึ่งเป็นหลักทั่วไปที่ต้องให้ภาคเอกชน นิติบุคคลที่สมรู้ร่วมคิด ต้องส่งเสริมให้นิติบุคคลได้มีกระบวนการป้องกันตนเอง ถ้าเจ้าหน้าที่นิติบุคคลกระทำผิด ไปติดสินบนเจ้าหน้าที่รัฐ เจ้าหน้าที่คนนั้นไม่ต้องรับผิด ถ้ามีมาตรการในการควบคุมเพียงพอที่เหมาะสมในการป้องกันการทุจริต ป้องกันการติดสินบน ก็ไม่ต้องรับผิด แต่ถ้ามีความผิดก็อาจจะลงโทษตํ่า นิติบุคคลจะถูกลงโทษขั้นตํ่า คือ 1 เท่า แต่ไม่เกิน 2 เท่า ของผลประโยชน์แห่งความเสียหายที่เกิดขึ้น

tp16-3300-a เมื่อถามว่า ในกรณีที่บุคคลทั่วไปประกาศเจตนารมย์ร่วมต่อต้านการทุจริต หรือเข้าไปร่วมในพันธภาคีกรณีต่อคอร์รัปชัน รวมถึงประกาศตนไม่สนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชัน ถือว่าเพียงพอหรือไม่ ประธานป.ป.ช.อธิบายว่า เป็นกระบวนการหนึ่ง แต่ประกาศแล้วทำหรือไม่ หรือทำอย่างไร ใครทำ ต้องมีแนวปฏิบัติให้บริษัทเดินตาม คำว่าระบบการควบคุมภายในที่เหมาะสม มีหลักการพื้นฐานที่ได้ข้อสรุปออกมา 8 หลักการสำคัญ ถ้านิติบุคคลเดินตามหลักการนี้ นิติบุคคลก็จะสบายใจว่าได้มีมาตรการควบคุมภายในที่เหมาะสม

“ยกตัวอย่างเราเป็นบริษัทก่อสร้างขนาดใหญ่ระดับแนวหน้าของประเทศ และมีโครงการของรัฐใหญ่ๆ อันนี้จะมีความเสี่ยงมาก เราอยากให้โครงการใหญ่ๆ ที่มีการลงทุนมากมาย เพื่อเราจะได้มีงาน มีกำไรสำหรับผู้ลงทุน เราต้องวิเคราะห์ความเสี่ยง จากนั้นเราต้องมีกระบวนการในการป้องกัน นอกจากบริษัทเราที่มีมาตรการตรวจสอบภายในแล้ว บริษัทคู่ค้าหรือพันธมิตรทางการค้าใช้ไม่ได้ ไม่มีมาตรการ แต่เรายังเป็นคู่ค้ากับเขา ตัวเราเองก็อาจจะเปรอะเปื้อนไปด้วย ขณะเดียวกันเราก็ต้องปิดช่องโหว่ช่องว่าง ให้เห็นว่าเรามีความตั้งใจจริงในการป้องกันสินบน”

ประธานป.ป.ช.ระบุอีกว่า ป.ป.ช.ต้องการดึงนิติบุคคลทุกระดับของธุรกิจ ในการป้องกันสินบน นิติบุคคลขนาดใหญ่อาจจะมีไม่มาก แต่ในเอสเอ็มอีมีเป็นแสนราย ถ้าทุกคนตระหนักในเรื่องนี้ ก็จะช่วยเป็นพลังในการป้องกันทุจริต และเห็นความสำคัญ ในเรื่องนี้ แต่ก่อนไปเอาผิดเฉพาะผู้รับ แต่วันนี้ถ้าไม่มีผู้ให้ ผู้รับก็จะไม่มี ต้องให้ทุกคนมีมาตรฐานเดียวกัน ถ้าทุกคนมั่นใจว่าจะต่อสู้กันด้วยความโปร่งใส ซื่อสัตย์ บริสุทธิ์ การซื้อขายตามระบบธุรกิจ มีความโปร่งใส มีธรรมาภิบาล ทุกคนมีความมั่นใจในการแข่งขัน ประโยชน์ก็จะตกกับรัฐ กับประชาชนที่มาใช้บริการ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1