แมร์เคิลพ่ายกระแสชาตินิยม จุดเปลี่ยนหลังการเลือกตั้ง

30 ก.ย. 2560 | 11:14 น.
เยอรมนีกำลังก้าวเข้าสู่ยุคสมัยแห่งการถ่วงดุลอำนาจ เนื่องจากชัยชนะจากการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 24 กันยายนที่ผ่านมาของนางอันเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีหญิงเหล็ก ผู้นำพรรค CDU (Christian Democratic Union) ซึ่งมีแนวคิดขวากลางนั้น เป็นผลงานที่ตกตํ่ากว่าที่เคยทำไว้ แม้ว่าเธอจะชนะการเลือกตั้งเป็นสมัยที่ 4 แต่คะแนนที่ได้รับนั้นก็ถูกพรรคชาตินิยมขวาจัดอย่าง AfD (Alternative for Germany) เข้ามาเบียดและคว้าเสียงโหวตไปกว่า 13% ทำให้เกิดคำถามว่า ด้วยแนวคิดที่แตกต่างกันสุดขั้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าประชาชนเริ่มหันมองหาความเปลี่ยนแปลงจากรัฐบาลผสมภายใต้การนำของ CDU ใน 3 สมัยที่ผ่านมานั้น จะเป็นอุปสรรคต่อการบริหารประเทศของนางแมร์เคิลภายในช่วง 4 ปีข้างหน้าอย่างไรบ้าง

TP10-3300-4 ความวิตกกังวลดังกล่าวสะท้อนให้เห็นชัดในตลาดทุน โดยหลังจากที่มีผลเอ็กซิตโพลล์ ซึ่งเป็นการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการหน้าคูหาเลือกตั้งออกมา นักลงทุนก็เทขายเงินยูโรทำให้ค่าเงินร่วงลงทันที จากที่เคยอยู่ในระดับ 1.21 ดอลลาร์ต่อยูโร ก็ปรับลงมาที่ 1.17 ดอลลาร์ การเจรจากับพันธมิตรทางการเมืองเพื่อร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมของนางแมร์เคิลในครั้งนี้ ทำให้เกิดคำถามขึ้นว่า นโยบายของเยอรมนีที่มีต่อการโอบอุ้มกลุ่มยูโรโซนซึ่งหลายประเทศสมาชิกประสบวิกฤติการเงินในช่วงหลายปีที่ผ่านมา จะต้องมีการปรับเปลี่ยนและยืดหยุ่นผิดไปจากที่เคยเป็นมาหรือไม่ นอกจากนี้นโยบายรับมือกับ ปัญหาผู้อพยพที่ทะลักเข้าประเทศกว่า 1 ล้านคนจะต้องปรับเปลี่ยนไปเช่นไร เมื่อพรรคชาตินิยมขวาจัดที่นิยมลัทธินาซีและสนับสนุนการแยกตัวออกจากกลุ่มยูโรโซน กลับขึ้นมาผงาดในรัฐสภาภายหลัง การเลือกตั้งครั้งนี้

อันเกลา แมร์เคิล ในวัย 63 นั้น ครองตำแหน่งผู้นำรัฐบาลเยอรมนีมาเป็นเวลา 12 ปีแล้ว ภารกิจหนักหน่วงนับจากนี้คือการระดมหาพันธมิตรมาจัดตั้งรัฐบาลผสม เนื่องจากพรรค CDU คว้าชัยชนะด้วยคะแนนเพียงกว่า 30 % ซํ้าล่าสุด พรรค SPD (Social Democrat) ที่เคยร่วมรัฐนาวากันมาและได้คะแนนเลือกตั้งมาเป็นอันดับ 2 (กว่า 20%) ก็ยังออกมาแสดงความผิดหวังและประกาศจะไม่เข้าร่วมรัฐบาลกับ CDU อีก เป็นที่คาดหมายว่า กระบวนการเจรจาเพื่อหาพรรคการเมืองขนาดเล็กกว่ามาร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมจะใช้เวลายาวนานนับเดือน อย่างไรก็ตาม แมร์เคิลยอมรับเกี่ยวกับเรื่องนี้ว่า เธอจะยอมเปิดรับความคิดเห็นจากทุกฝ่าย ซึ่งรวมถึงเสียงของประชาชนที่ไม่โหวตให้พรรคของเธอ โดยเฉพาะในประเด็นการเปิดรับผู้อพยพของเยอรมนีที่หลายฝ่ายออกมาคัดค้านและมองว่า นโยบายของแมร์เคิลทำให้เยอรมนีต้องแบกรับภาระมากเกินไปอีกทั้งยังทำให้ประเทศสุ่มเสี่ยงกับปัญหาทางสังคม เช่น อาชญากรรมมากขึ้นด้วย

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1