พิษ ม.44! สั่งแบน 12 แอร์ไลน์ จอดทิ้ง 53 ลำ ส่อเจ๊ง! ก่อนลุ้นปลดธงแดง

29 ก.ย. 2560 | 09:02 น.
“12 แอร์ไลน์” อ่วม! หลังถูกสั่งหยุดบินเส้นทางระหว่างประเทศ เครื่องบิน 53 ลำ ต้องจอดชั่วคราว จนกว่าจะได้ AOC ใหม่ จับตา! “สายป่านสั้น-กู้แบงก์” อาจปิดกิจการ ลุ้นข่าวดี! ปลดธงแดง

จากกรณีที่ “12 สายการบิน” ได้แก่ เอ็มเจ็ท, โอเรียนท์ ไทย แอร์ไลน์ส, ไทยเวียดเจ็ท, เค-ไมล์ แอร์, เจ็ท เอเชีย, เอซี เอวิเอชั่น, สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง, เอเชีย แอตแลนติก แอร์ไลน์ส, วีไอพี เจ็ทส์, เอช เอส เอวิเอชั่น, แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น และสกาย วิว แอร์เวย์ ถูกสั่งให้หยุดบินเส้นทางบินระหว่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย. 2560 จนกว่าจะได้รับการดำเนินการตรวจประเมิน เพื่อออกใบรับรองผู้ดำเนินการเดินอากาศใหม่ (AOC- Re-certification) แม้จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้โดยสารในวงกว้าง เนื่องจากส่วนใหญ่เป็นสายการบินเช่าเหมาลำ แต่ในด้านธุรกิจ สายการบินเหล่านี้กำลังได้รับผลกระทบเช่นกัน

แหล่งข่าวระดับสูงจากสายการบิน เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า ขณะนี้ สายการบิน 12 สาย ที่ถูกระงับการบิน ได้รับผลกระทบมาก และมีแนวโน้มว่า บางสายการบินที่สายป่านไม่ยาว หรือ ทุนไม่หนาพอ อาจต้องปิดกิจการไป หากกระบวนการออก AOC ใหม่ ของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ยังคงล่าช้า และไม่เป็นไปตามตารางการตรวจสอบที่วางไว้ เนื่องจากการตรวจประเมินเพื่อออก AOC ใหม่ แก่สายการบินต่าง ๆ เหล่านี้ ต้องหยุดลงชั่วคราว เพื่อรอให้ไทย “ปลดธงแดง” จากองค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ICAO)

 

flag_of_icaosvg

 

ทั้งนี้ “การสั่งหยุดบิน” ส่งผลให้เครื่องบินกว่า 53 ลำ ของ 12 สายการบิน “ต้องจอดทิ้ง” โดยเฉพาะเครื่องบินขนาดใหญ่ อาทิ โบอิ้ง 747 หรือ เครื่องบินเจ็ท ที่หรูหราและมีศักยภาพในการบินในเส้นทางระหว่างประเทศเป็นหลัก เพราะไม่คุ้มที่จะนำมาบินเส้นทางบินในประเทศ และอาจมีเพียง “สายการบินไทยเวียดเจ็ท” ใช้เครื่องบินแอร์บัส เอ 320 ที่สามารถปรับมาทำการบินเส้นทางบินในประเทศได้ และยังถือหุ้นโดยสายการบินเวียดเจ็ทของเวียดนาม ซึ่งเงินทุนหนา ก็น่าจะอยู่ได้

“รวมถึงสายการบินที่มีทุนหนา อย่าง ‘เอ็มเจ็ท’ ของนักธุรกิจใหญ่ นายวิลเลียม อีไฮเนกี้ หรือ ‘สยามแลนด์ ฟลายอิ้ง’ ซึ่งเป็นของกลุ่มซีพี ก็คงแบกรับความเสียหายทางธุรกิจที่เกิดขึ้นได้เช่นกัน และล่าสุด ทาง ‘สยามแลนด์’ ยังเสนอขอเพิ่มมาตรการเยียวยากมากกว่าที่คณะกรรมการการบินพลเรือน (กบร.) อนุมัติไปแล้ว โดยขอส่วนลดค่าธรรมเนียมขึ้น-ลง (แลนดิ้ง), ค่าธรรมเนียมภาษีสนามบิน (PSC) และค่านำร่องอากาศยาน ที่น่าห่วง คือ สายการบินที่มีภาระเงินกู้จากแบงก์ หรือ มีสัญญากับคู่ค้า เช่น เค-ไมล์ แอร์ มีสัญญาขนสินค้าทางอากาศให้กับ ‘ดีเอชแอล’ เส้นทางบินในภูมิภาคนี้ การที่ไม่สามารถประกอบธุรกิจได้ หรือ หากต้องถูกยกเลิกสัญญา ก็ทำให้สายการบินบางสายอาจประสบปัญหาได้”

ด้าน นายไชย ณ ศีลวันต์ ประธาน บริษัท แอ็ดวานซ์ เอวิเอชั่น เจ็ท จำกัด เผยว่า ด้วยการที่สายการบินไม่ได้มีภาระเงินกู้ ทำให้เราก็พอไหว แต่หลังจาก ICAO ได้เข้ามาดำเนินการตรวจสอบในไทยแล้วเสร็จ อยากเสนอให้ กพท. เร่งดำเนินการตรวจสอบเพื่อออก AOC ใหม่ กับสายการบินที่ยังค้างการตรวจสอบอยู่ ให้เป็นไปตามตารางการตรวจที่วางไว้ เพื่อให้สายการบินได้รับความสูญเสียน้อยที่สุด

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

 

ดร.จุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการ สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) กล่าวว่า ภายในวันที่ 27 ก.ย. นี้ กพท. จะได้รับทราบผลสรุปอย่างไม่เป็นทางการว่า ไทยจะถูกปลดธงแดงจาก ICAO หรือไม่ จากการที่ ICAO เดินทางเข้ามาตรวจสอบ การแก้ไขข้อบกพร่องด้านการกำกับดูแลด้านการบินพลเรือน หรือ ICVM (ICAO Coordinated Validation Mission) ช่วงวันที่ 20-27 ก.ย. โดยมีการสุ่มตรวจสอบ 2 สายการบิน ที่ได้รับ AOC ใหม่ คือ “สายการบินไทยแอร์เอเชีย" และ “สายการบินนิวเจนแอร์”

ขณะที่ นายเจริญพงษ์ ศรประสิทธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการบิน นิว เจน แอร์เวย์ส กล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ย. ICAO ได้เข้ามาตรวจเยี่ยมการปฏิบัติงานของสายการบินในทางปฏิบัติแล้ว ว่า เราดำเนินการได้จริงตามมาตรฐาน AOC ใหม่ ที่รับรองหรือไม่ ซึ่งใช้เวลาตรวจสอบราว 3-4 ชั่วโมง โดยดูเรื่องวิธีการงานและวิธีการฝึกอบรมนักบิน ลูกเรือ ว่า เป็นไปตามคู่มือหรือไม่ ซึ่งมั่นใจว่า สายการบินปฏิบัติตามมาตรฐานที่ได้รับทุกประการ

นายชาติชาย ทิพย์สุนาวี ปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ไทยจะปลดธงแดงได้หรือไม่ ต้องรอผลเบื้องต้นในวันที่ 27 ก.ย. นี้ ส่วนผลการตรวจสอบอย่างเป็นทางการต้องรอภายใน 30 วัน นับจากวันที่ตรวจเสร็จสิ้น ซึ่งมีแนวโน้มว่า ประเทศไทยน่าจะได้รับข่าวดี

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28-30 ก.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว