ตื่น! คุม 5 แบงก์ ธปท. การันตีฐานะแข็งโป๊ก

28 ก.ย. 2560 | 13:15 น.
“คลัง-ธปท.” ประสานเสียง “5 แบงก์ใหญ่” ฐานะมั่นคง! เงินกองทุนสูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำ หลังออกมาตรการคุมความเสี่ยง เพิ่มความเข้มแข็งทางการเงิน จนคนแตกตื่น ... แบงก์ร่อนหนังสือแจงฐานะแข็งโป๊ก! พร้อมเดินหน้ารับบาเซล III

ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ออกมาดับความตื่นตระหนกของประชาชนในโลกโซเชียล ต่อกรณีการประกาศชื่อ “5 ธนาคารใหญ่” ที่ต้องเข้มงวดเป็นพิเศษ ว่า การประกาศชื่อ 5 ธนาคารใหญ่ ประกอบด้วย ธนาคารกรุงเทพ, กรุงไทย, กรุงศรีอยุธยา, กสิกรไทย และไทยพาณิชย์ เพราะเป็นธนาคารที่มีนัยสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจ หลังเข้าโมเดล D-SIBs ตามกติกาที่ต้องปฏิบัติตามเกณฑ์ Basel III ... 5 ธนาคารดังกล่าว เป็นผู้เล่นหลักในระบบเศรษฐกิจไทย และมีธุรกรรมเชื่อมโยงกันมาก โดยสิ้นไตรมาส 2/2560 มีสินทรัพย์รวมกันกว่า 13.45 ล้านล้านบาท เกือบเท่ากับขนาดของเศรษฐกิจ (จีดีพี) ประเทศที่ 13.47 ล้านล้านบาท

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

 

ขณะที่ สัดส่วนของเงินกองทุนต่อทรัพย์สินของทั้ง 5 ธนาคาร สูงกว่าเกณฑ์ขั้นต่ำทั้งสิ้น อยู่ที่ 16.93% เป็นกองทุนขั้นที่ 1 ถึง 14.25% โดยธนาคารกรุงเทพอยู่ที่ 17.9%, ธนาคารกสิกรไทย 16.9%, ธนาคารไทยพาณิชย์อยู่ที่ 16.8%, ธนาคารกรุงไทย 16.7% และธนาคารกรุงศรีอยุธยา 16.0%

ตามเกณฑ์ที่ ธปท. ประกาศกำหนดสัดส่วนของเงินกองทุนต่อทรัพย์สินทั้ง 5 แห่ง ในสิ้นปี 2560 จะมีสัดส่วนที่ 9.75% และเพิ่มเป็น 10.375% ในปี 2561, ปี 2562 จะเพิ่มเป็น 11.5% ก่อนจะแตะที่ 12% ในปี 2563

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ธปท. กล่าวว่า ภายใต้หลักเกณฑ์การกำกับดูแล D-SIBs เป็นหลักเกณฑ์เพิ่มเติม เพื่อความแข็งแกร่งให้ธนาคารทั้ง 5 แห่งตามประกาศ โดยจะต้องดำรงเงินกองทุนสูงกว่าธนาคารพาณิชย์ทั่วไปเฉลี่ย 0.5-1%

ธปท. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 5 แห่ง เริ่มดำรงเงินกองทุนเพิ่มขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. 2562 อยู่ที่ 0.5% และวันที่ 1 ม.ค. 2563 เพิ่มขึ้นเป็น 1% ทำให้เงินกองทุนของธนาคารพาณิชย์ทั้ง 5 แห่ง ในปี 2562 ขึ้นมาอยู่ที่ 9% ขณะที่ BIS จะอยู่ที่ 11.5% ซึ่งแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ทั่วไป ที่ดำรงเงินกองทุนขั้นที่ 1 อยู่ที่ 7.25% และ BIS ที่ 11% และในปี 2563 เงินกองทุนของธนาคาร 5 แห่ง จะขึ้นมาอยู่ที่ 9.5% และ BIS อยู่ที่ 12% โดยจะมีการทบทวนรายชื่อทุก 2-3 ปี

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ประเทศที่บังคับใช้แนวทาง D-SIBs แล้วคือ สิงคโปร์, เกาหลี, ญี่ปุ่น, ฮ่องกง, ฟิลิปปินส์, ออสเตรเลีย และเนเธอร์แลนด์ ซึ่งไทยเองแม้จะประกาศใช้ในปีนี้ แต่มีผลบังคับใช้ในปี 2562 ซึ่งเห็นว่า เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสม เพราะธนาคารพาณิชย์ในระบบมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนขั้นต่ำสูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดค่อนข้างมาก

“คำว่า นัยสำคัญระบบ คือ เป็นผู้เล่นรายใหญ่และสำคัญของประเทศ เช่น ในธุรกรรมเพย์เมนต์ ธุรกรรมอินเตอร์แบงก์ ต้องมีเงินกองทุนรองรับเพิ่ม เปรียบเหมือนประเทศขนาดใหญ่จามจะเป็นหวัด ประเทศข้างเคียงอาจได้รับผลกระทบอาจจะติดหวัดไปด้วย จึงต้องดูแลประเทศใหญ่ก่อนจะเป็นหวัด ซึ่งย่อมจะสร้างความมั่นใจให้ประชาชน โดยประชาชนไม่ต้องกังวลกับหลักเกณฑ์นี้”

นายสมชัย สัจจพงษ์ ปลัดกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การดำเนินการของ ธปท. เพื่อปรับเกณฑ์ให้เป็นไปมาตรฐานสากลตามหลักสากล ในการเตรียมความพร้อมการกำกับดูแลสถาบันการเงินมากขึ้น ซึ่งไม่ใช่เป็นการออกเกณฑ์เพื่อแก้ปัญหาและดูแลสถาบันการเงินให้เข้มงวดขึ้น เพราะธนาคารขนาดใหญ่ที่มีรายชื่อนั้น มีสัดส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงสูงกว่ามาตรฐาน BIS Ratio ที่ 9%

ขณะที่ 5 ธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ ได้ออกหนังสือชี้แจงและยืนยันสถานะของแต่ละธนาคารมีความแข็งแกร่ง ยืนยันว่า เงินฝากของประชาชนไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ และจะยิ่งมั่นคงมากขึ้นด้วยเกณฑ์ใหม่นี้ เพราะเป็นการยกระดับความเข้มแข็งของสถาบันการเงินโดยรวม

หุ้นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ 5 แห่ง ณ วันที่ 27 ก.ย. ราคาลดลงทั้ง 5 แห่ง โดยธนาคารกรุงเทพ ปิดที่ 186 บาท ลดลง 0.50 บาท, ธนาคารกรุงไทย ปิด 18.80 บาท ลดลง 0.20 บาท, ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ปิดที่ 37.50 บาท ลดลง 0.50 บาท, ธนาคารกสิกรไทย ปิด 208 บาท ลดลง 1 บาท และธนาคารไทยพาณิชย์ ปิด 154 บาท ลดลง 0.50 บาท

บล.เอเซียพลัสฯ มองว่า การประกาศเกณฑ์ D-SIBs ของ ธปท. ไม่กระทบ พื้นฐาน 5 แบงก์ใหญ่ เนื่องจากทุกแบงก์ดำรงเงินกองทุนที่เข้มงวดกว่าเกณฑ์อยู่แล้ว ไม่ต้องเพิ่มทุนใหม่ และยังให้น้ำหนักการลงทุนกลุ่มแบงก์ “มากกว่าตลาด”

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28-30 ก.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว