"ปรีดี"ย้ำ 5แบงก์เงินกองทุนแกร่ง

26 ก.ย. 2560 | 12:28 น.
"ปรีดี "ประธานสมาคมธนาคารไทยประสานเสียงสมาชิกชิก ย้ำ 5แบงก์ใหญ่เงินกองทุนแกร่ง ภายใต้มาตรฐานสากลกำกับบาเซลIII ใช้กับธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบของแต่ละประเทศที่ต้องรัดกุมมากกว่าธนาคารอื่นๆพร้อมประเมินจาก 4 ปัจจัยทั้ง "ขนาดของธนาคาร -ความเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงธุรกรรมกับธนาคารอื่น- ความเป็นไปได้ที่ธนาคารอื่นที่จะมาทดแทน และความซับซ้อนของบริการที่เสนอ"

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย ในนามประธานสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า แถลงข่าวของสมาคมธนาคารไทย เรื่องที่ธปท. กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งเป็นธนาคารพาณิย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ หรือ D-SIBs

ตามที่ ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เมื่อวันที่ 25 กันยายน 2560 ลงนาม โดยผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย เมื่อวันที่ 31 สิงหาคม 2560 ที่ผ่านมา โดยประกาศธปท. 2 ฉบับ ได้แก่ ประกาศเรื่อง “แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ” และประกาศเรื่อง “รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ” ประจำปี 2560 ซึ่งประกอบด้วย 1. ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) 2. ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) 3. ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) 4. ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) และ 5. ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)

สมาคมธนาคารไทย มองว่า ประกาศธปท. เรื่อง “แนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ” (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) และเรื่อง “รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ” ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์ 5 แห่งถูกกำหนดให้เป็น D-SIBs นั้น เป็นไปตามมาตรฐานการกำกับดูแลสถาบันการเงินตามหลักเกณฑ์ Basel III ซึ่งเป็นมาตรฐานสากล ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อลดความเสี่ยงของวิกฤตในอนาคต หลังจากที่ประเทศต่างๆ ได้ผ่านพ้นวิกฤตซับไพร์มมาแล้ว

ดังนั้นสำหรับประเทศไทย ประกาศของธปท. เกี่ยวกับแนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่เป็น         D-SIBs ดังกล่าว จึงเสมือนเป็นจุดเริ่มต้นของการดำเนินการเพื่อป้องกันปัญหาในอนาคตตามมาตรฐานสากล Basel III อันเป็นการช่วยเสริมสร้างเสถียรภาพให้ระบบการเงินของไทย ทั้งนี้ ธนาคารพาณิชย์ทั้ง 5 แห่งที่ธปท. กำหนดให้เป็น “ธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ” มีอัตราส่วนเงินกองทุนฯ ที่สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท. กำหนดทั้งในปัจจุบัน และที่ต้องดำรงในปี 2563 ในขณะเดียวกัน ภาพรวมของระบบธนาคารพาณิชย์ของไทยในปัจจุบัน มีความแข็งแกร่งตามมาตรฐานสากล โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ที่เป็นส่วนของเจ้าของ ณ สิ้นไตรมาส 2/2560 อยู่ที่ 17.9% และ 15.2% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท. กำหนดเช่นเดียวกัน

ตามที่มีลูกค้าสอบถามเกี่ยวกับรายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ ตามที่ระบุในประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย ที่ สนส. ๑๗/๒๕๖๐

ขอเรียนชี้แจงว่าเกณฑ์ดังกล่าวเป็นเกณฑ์สากลที่ใช้กับ "ธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ" (systemically important bank) ของแต่ละประเทศที่ต้องมีการดูแลให้รัดกุมมากกว่าธนาคารอื่นๆ เช่นระดับเงินกองทุนขั้นต่ำที่สูงขึ้น เพื่อให้ระบบการเงินของประเทศในภาพรวมมีความแข็งแรงมากขึ้นและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ฝากเงินมากยิ่งขึ้น โดยธปท.ประเมินจาก 4 ปัจจัย คือ ขนาดของธนาคาร ความเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมโยงธุรกรรมกับธนาคารอื่น ความเป็นไปได้ที่ธนาคารอื่นที่จะมาทดแทน และความซับซ้อนของบริการที่เสนอ

ธนาคารกสิกรไทยเป็น 1 ใน 5 ธนาคารที่ธปท.กำหนดให้เป็นธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ  ซึ่งธนาคารกสิกรไทยมีเงินกองทุนอยู่ในระดับที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับเกณฑ์มาตรฐานใหม่นี้อยู่แล้ว จึงไม่มีผลกระทบใดๆ

ธนาคารกรุงเทพโชว์สถานะความแข็งแกร่ง

จากการที่ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกประกาศแนวทางการระบุ และการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ (Domestic Systemically Important Banks หรือ D-SIBs) และได้ระบุให้ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เป็นหนึ่งในธนาคารที่มีความสำคัญเชิงระบบ

นายชาญศักดิ์ เฟื่องฟู กรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงเทพ ได้ยึดหลักการบริหารฐานะการเงินด้วยความรอบคอบและระมัดระวัง พร้อมทั้งรักษาสภาพคล่องและเงินกองทุนให้อยู่ในระดับที่สามารถรองรับการขยายธุรกิจในอนาคต และความไม่แน่นอนที่อาจจะเกิดขึ้น เพื่อให้ธนาคารมีเสถียรภาพทางการเงินที่ยั่งยืน โดย ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2560 ธนาคารมีอัตราส่วนเงินกองทุนทั้งสิ้น และอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารและบริษัทย่อยอยู่ที่ร้อยละ 18.7 และร้อยละ 16.9 ตามลำดับ ซึ่งครอบคลุมความเสี่ยงในด้านต่างๆ ธนาคารจึงมีความแข็งแกร่ง มีเงินกองทุนอยู่ในระดับสูงกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยกำหนดตามหลักเกณฑ์ Basel III ที่ ร้อยละ 11 และร้อยละ 8.5 ตามลำดับ และเพียงพอที่จะรองรับการดำรงเงินกองทุนส่วนเพิ่ม ตามมาตรการ D-SIBs ดังกล่าวข้างต้น

กรุงศรียืนยันความแข็งแกร่งของเงินกองทุน

กรุงเทพฯ (26 กันยายน 2560)  ตามที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประกาศแนวทางการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีความสำคัญเชิงระบบ (Domestic Systemically Important Banks: D-SIBs) นั้น

กรุงศรี (ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน)) ขอเรียนให้ทราบว่า ธนาคารกรุงศรีอยุธยาเป็นธนาคารพาณิชย์ขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญเชิงระบบในการสนับสนุนและเชื่อมโยงกับระบบเศรษฐกิจของประเทศเป็นอย่างสูง และมีบทบาทต่อระบบการเงินโดยรวมของประเทศ ธนาคารขอเรียนว่า เงินฝากของประชาชนไม่ได้รับผลกระทบใดๆ และจะยิ่งมั่นคงมากขึ้นด้วยเกณฑ์ใหม่นี้ เพราะเป็นการยกระดับความเข้มแข็งของสถาบันการเงินโดยรวม  ทั้งนี้ การกำหนดเกณฑ์ที่สูงขึ้นสำหรับธนาคารขนาดใหญ่เป็นเรื่องการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล ซึ่งต่างประเทศได้ประกาศและปฏิบัติมาก่อนหน้านี้แล้ว

ปัจจุบันธนาคารกรุงศรีอยุธยามีระดับอัตราส่วนเงินกองทุนสูงกว่าอัตราที่ธนาคารแห่งประเทศไทยได้กำหนดไว้ โดยมีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Capital Adequacy Ratio) อยู่ที่ 16.29%

กรุงไทยยันเงินกองทุนแข็งแกร่งตามเกณฑ์ธปท.

กรณีที่มีประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีประกาศธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เรื่อง รายชื่อธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศ  ซึ่งได้มีชื่อของธนาคารกรุงไทย เป็นหนึ่งในธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยต่อความเสี่ยงระบบในประเทศนั้น เนื่องจากเป็นธนาคารขนาดใหญ่ที่จะมีผลต่อระบบการเงินรวม ดังนั้น ธปท.จึงกำหนดอัตราส่วนเงินกองทุนสูงกว่าธนาคารขนาดเล็ก ซึ่งธนาคารเห็นว่า ประกาศของธปท.ดังกล่าว เป็นตามเกณฑ์กฎบาเซิล 3 ที่ใช้ทั่วโลก

นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงานบริหารความเสี่ยง ธนาคารกรุงไทย (Mr. Poonpat Sripleng Senior Executive Vice President - Head of Risk Management Group KTB)เปิดเผยว่า ตามประกาศของธปท.ดังกล่าว ทำให้ในปี 2562 ต้องมีการดำรงเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงขั้นต่ำ เพิ่มขึ้นอีก 0.5% กล่าวคือ ในปี 2562 ธนาคารพาณิชย์ดังกล่าวทั้ง 5 แห่งตามประกาศ ต้องมีเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยง (Total Capital Ratio) ขั้นต่ำอยู่ที่ 11.50% ตามเกณฑ์ธปท. โดยปัจจุบันเงินกองทุนทั้งสิ้นต่อสินทรัพย์เสี่ยงของธนาคารกรุงไทย (ตามเกณฑ์กลุ่มธุรกิจทางการเงิน) ณ สิ้นมิ.ย.2560 อยู่ที่ 16.27%  ของสินทรัพย์ถ่วงน้ำหนักตามความเสี่ยง สูงกว่าเกณฑ์ที่ธปท.กำหนดไว้เช่นกัน

“ ธนาคารมีเงินกองทุนตามเกณฑ์บาเซิล 3 มาแล้วตั้งแต่ปี 2556 ซึ่งขณะนี้เงินกองทุนของธนาคารสูงกว่าเกณฑ์ธปท.กำหนดไว้ ขอยืนยันว่า ขณะนี้ยังไม่มีความกังวลใดๆ เกี่ยวกับเรื่องเงินกองทุนในปัจจุบัน ซึ่งสถานะทางการเงินของธนาคารยังมีความแข็งแกร่ง” นายพูลพัฒน์กล่าว

สำหรับประกาศธปท.เรื่องแนวทางการระบุและการกำกับดูแลธนาคารพาณิชย์ที่มีนัยสำคัญต่อความเสี่ยงเชิงระบบในประเทศนั้น ก่อนหน้านี้ธปท.ยังได้กำหนดให้ธนาคารพาณิชย์ดำรงอัตราส่วนเงินกองทุนส่วนเพิ่ม เพื่อรองรับผลขาดทุนในภาวะวิกฤต(Conservation buffer) โดยให้ทยอยดำรงส่วนเงินกองทุนเพิ่มเติมจากอัตราส่วนเงินกองทุนขั้นต่ำอีก ปีละ 0.625% ตั้งแต่ 1 ม.ค.2559 จนครบ 2.50% ในวันที่ 1 ม.ค.2562   ซึ่งในปัจจุบันธนาคารได้มีการตั้งสำรองตามเกณฑ์ของธปท.ครบถ้วน

นายพูลพัฒน์ ศรีเปล่ง กล่าวในตอนท้ายว่า ธนาคารมีความเชื่อมั่นว่า เงินกองทุนตามเกณฑ์ดังกล่าว จะสามารถรองรับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคตได้ ส่งผลให้สถานะทางการเงินของธนาคารมีความแข็งแกร่ง และสามารถรองรับการขยายธุรกิจได้ในอนาคต e-book