มอ’ไซค์ไฟฟ้าบุกตลาด ‘อีทราน’จับมือพันธมิตรใหม่เจาะกลุ่มแมส

30 ก.ย. 2560 | 10:42 น.
เทรนด์ของรถพลังงานไฟฟ้า (อีวี)ไม่ได้จำกัดเฉพาะรถยนต์เท่านั้น แต่ในกลุ่มมอเตอร์ไซค์หลายค่ายผู้ผลิตต่างให้ความสนใจทำตลาดเช่นเดียวกัน อย่างไรก็ดีแม้จะมีความสนใจจากค่ายใหญ่ๆอย่างแบรนด์ญี่ปุ่น แต่ข่าวคราวความคืบหน้ายังคงถูกอุบไต๋ ไม่มีรายละเอียดออกมาชัดเจน

แตกต่างจากค่ายเล็กๆแบรนด์น้องใหม่ ที่ให้ความสนใจและประกาศตัวจะบุกตลาด 2 ล้อไฟฟ้า เริ่มตั้งแต่ค่าย “อีทราน” กลุ่มสตาร์ตอัพที่มีธนาคารไทยพาณิชย์หนุนหลัง ได้ประกาศเมื่อเดือนเมษายนว่าจะผลิตรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้าแบรนด์คนไทย ภายใต้ชื่อรุ่น “อีทราน พร้อม” หวังเจาะกลุ่มลูกค้ามอเตอร์ไซค์รับจ้าง-รถสาธารณะ ซึ่งความคืบหน้าของแผนงานในตอนนี้มีการจับมือกับพันธมิตรเพิ่มอีก 2 รายใหญ่ และกำลังเจรจากับพันธมิตรไทยเพิ่มอีก 1 ราย คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในสิ้นปีนี้

“เดิมทีเราจะเปิดตัวสู่ตลาดในช่วงปลายปีนี้ แต่เนื่องจากมีพันธมิตรจากต่างประเทศให้ความสนใจทำให้โปรเจ็กต์นี้ต้องมีการพูดคุยเพิ่มเติม โดยจากเดิมที่เราทำตลาดคนเดียว ก็จะมีจอยต์เวนเจอร์เพิ่มอีก 2 รายคือ พันธมิตรที่ผลิตมอเตอร์จากไต้หวัน และ พันธมิตรที่ผลิตแบตเตอรี่จากญี่ปุ่น ซึ่งเร็วๆนี้เราจะเซ็นสัญญาเอ็มโอยูร่วมกัน นอกจากนั้นแล้วเรายังมีการพูดคุยกับพันธมิตรในไทยอีก 1 ราย คาดว่าทุกอย่างจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้” นายสรณัญช์ ชูฉัตร ประธานเจ้าหน้าที่ บริษัท อีทราน (ไทยแลนด์) จำกัด กล่าวและว่า

การจับมือกับพันธมิตรใหม่ทำให้แผนการเปิดตัวล่าช้าไปบ้าง แต่ผู้ปลุกปั้นอย่างนายสรณัญช์ ยืนยันว่าแผนงานในส่วนอื่นๆ ยังคงเหมือนเดิม ทั้งตัวโมเดล ที่ใช้ชื่อรุ่นว่าอีทราน พร้อม ที่มีขนาดมอเตอร์ 5Kw ความเร็วสูงสุด 80 กิโลเมตรต่อชั่วโมง แบตเตอรี่ชนิด LiFePO4 ขนาดความจุ 3Kwh วิ่งได้ 60 กิโลเมตร (ที่ความเร็วคงที่ 70 กิโลเมตรต่อชั่วโมง) ส่วนอัตราสิ้นเปลือง ใช้ไฟฟ้า 25 สตางค์ต่อกิโลเมตร และจะทำตลาดในรูปแบบที่ให้เช่าก่อนในช่วงเริ่มแรก เฉลี่ย 3,500 บาทต่อเดือน รวมค่าชาร์จไฟแล้ว

MP32-3300-A โดยมีกลุ่มเป้าหมายอย่างวินมอเตอร์ไซค์ในกรุงเทพฯหลังจากนั้นจะพัฒนาต่อไปยังกลุ่มแทกซี่ ,เรือยอชต์ และเรือเฟอร์รี่ข้ามฟาก

ขณะที่เป้าหมายยอดขายในช่วงเริ่มแรก 200 คัน หลังจากนั้น 1 หมื่นคัน ในปี 2562 หรือภายใน 3 ปีที่เริ่มขาย ส่วนโรงงานผลิตและประกอบจะตั้งอยู่ที่นิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง 
ย่านร่มเกล้า คาดว่าหลังจากนี้อีก 6 เดือนจะเริ่มเดินหน้า และเปิดตัวสู่ตลาดในไตรมาส 3 ของปี

“เราไม่แน่ใจว่าราคาจะถูกลงหรือแพงขึ้น หลังจากที่เราได้จับมือกับพันธมิตร แต่เบื้องต้นจะให้เช่าก่อนตามที่เราได้บอกไว้ และเมื่อพร้อมก็จะขายเป็นเชิงแมส ซึ่งเราประเมินว่าหากทำตลาดได้เร็ว เป้าหมาย 1 หมื่นคันภายใน 3 ปีอาจจะถึงเร็วกว่ากำหนด ส่วนเรื่องสถานีชาร์จไฟมีการจับมือพันธมิตรทั้งรัฐและเอกชน ที่จะตั้งในบริเวณแนวรถไฟฟ้า คาดว่าจะมีจำนวน 60 สถานีภายใน
สิ้นปีนี้หรือปีหน้า” นายสรณัญช์ ชูฉัตร กล่าว

นอกจากแบรนด์สตาร์ตอัพไทยที่เตรียมเอาจริงเอาจังกับตลาดรถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า ยังมีกลุ่มทุนที่ดูแลตลาด“ดูคาติ” ในปัจจุบัน เตรียมแตกไลน์สยายปีกรับทิศทางนี้เช่นกัน จากการสำรวจของ “ฐานเศรษฐกิจ” พบว่า รถมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้ารุ่นนี้เป็นแบรนด์ที่ขายดีที่สุดในเยอรมนี โดยเป็นรถกลุ่มพรีเมียม มาพร้อมแอพพลิเคชันที่บอกสถานะตัวรถได้เหมือนรถยนต์ไฟฟ้าระดับพรีเมียม ส่วนเมืองไทยเตรียมนำเข้ามาเปิด2-3รุ่นอย่างเป็นทางการต้นปีหน้า เบื้องต้นได้ทำโชว์รูมแบบป๊อป-อัพ ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกับโชว์รูมดูคาติ ถนนวิภาวดีรังสิต ส่วนรายละเอียดเชิงลึกทางบริษัทยังไม่พร้อมเปิดเผยในเวลานี้

...เรียกว่าเป็นเทรนด์ที่จะเปิดโอกาสทางธุรกิจให้ผู้ประกอบการทั้งรายเล็กรายใหญ่ หน้าใหม่และหน้าเก่า ขณะเดียวกัน หากรัฐบาลมีความชัดเจนในการสนับสนุนมอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า สถานีชาร์จไฟแพร่หลายเป็นสาธารณะ ย่อมมีส่วนให้ตลาดนี้เติบโตอย่างรวดเร็ว ส่วนบรรดาค่ายใหญ่สัญชาติญี่ปุ่นที่ยังเงียบอยู่ คาดว่าปีหน้าจะมีความเคลื่อนไหวออกมาแน่นอน

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1