เกาะติดอีอีซี | “บีโอไอ” ประเดิมส่งเสริมผลิต “ยาชีววัตถุ” ครั้งแรกในไทย

04 ต.ค. 2560 | 10:46 น.
เกาะติดอีอีซี | “บีโอไอ” ส่งเสริมประเดิมโครงการตาม พ.ร.บ.ใหม่ ผลิต “ยาชีววัตถุ” ครั้งแรกในไทย! ... “บีโอไอ” ให้การส่งเสริมการลงทุนกิจการวิจัยพัฒนาและผลิตยาชีววัตถุ สำหรับรักษา “โรคมะเร็ง-รูมาตอยด์-ภูมิแพ้-สะเก็ดเงิน” พร้อมร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อทำการวิจัยพัฒนา ถ่ายทอดเทคโนโลยี และพัฒนาการผลิต ถือเป็นโครงการแรกที่ได้รับส่งเสริมตาม พ.ร.บ.ส่งเสริมการลงทุนฉบับใหม่ โครงการแรกที่ได้รับยกเว้นภาษีเงินได้ 10 ปี

น.ส.ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาโครงการด้านการพัฒนาเทคโนโลยีเป้าหมาย ได้พิจารณาให้การส่งเสริมแก่กิจการพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพเพื่อผลิตเภสัชชีววัตถุ แก่บริษัท เอบินิส จำกัด ซึ่งเป็นกิจการของคนไทย ถือหุ้นโดย บริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ จำกัด ร่วมมือกับบริษัท ซิมับ จำกัด บริษัทภายใต้การดูแลของรัฐบาลประเทศคิวบาและเป็นผู้ผลิตยากลุ่มชีวเภสัชภัณฑ์ (BIOPHARMACEUTICALS) ชั้นนำของโลก เงินลงทุนทั้งสิ้น 2,266 ล้านบาท

โครงการนี้ เป็นการวิจัยพัฒนาและผลิตเภสัชชีววัตถุและยาชีววัตถุใน “กลุ่มโมโนโคลนอล แอนติบอดี (Monoclonal Antibody)” ที่ผลิตจากเซลล์สัตว์ และยังไม่เคยมีการผลิตในประเทศไทยมาก่อน เพื่อใช้สำหรับรักษาโรคในคน ได้แก่ โรคมะเร็ง (มะเร็งต่อมน้ำเหลือง, มะเร็งเต้านม, มะเร็งลำไส้) และโรคแพ้ภูมิตัวเอง (โรครูมาตอยด์, โรคภูมิแพ้ และโรคสะเก็ดเงิน)

“ยาชีววัตถุส่วนใหญ่เป็นโปรตีนที่เป็นส่วนประกอบสำคัญในร่างกาย มีหน้าที่ในการควบคุมระบบต่าง ๆ ในร่างกาย และสามารถบำบัดรักษาอาการผิดปกติต่าง ๆ ได้ จึงสามารถรักษาอาการป่วยต่าง ๆ ได้โดยการฉีด ‘ยาชีววัตถุ’ เข้าสู่ร่างกายผู้ป่วย ‘ยาชีววัตถุบางกลุ่ม’ ก็สามารถรักษามะเร็งได้อย่างจำเพาะเจาะจง ทำลายเฉพาะเซลล์มะเร็งและไม่ได้ออกฤทธิ์ต่อเซลล์ทุกชนิดในร่างกายเหมือนยาเคมีบำบัดในรุ่นเดิม ๆ แต่ยาในกลุ่มนี้เป็นยาสมัยใหม่ จึงมีราคาสูงมาก และที่สำคัญโครงการนี้จะมีการวิจัยพัฒนาและผลิตยาชีววัตถุต้นแบบหนึ่งรายการ ที่สามารถใช้รักษาโรคแพ้ภูมิตนเอง ที่ทำงานโดยหยุดการโจมตีของเซลล์เม็ดเลือดขาวไม่ให้ไปทำลายเซลล์ปกติอื่น ๆ ด้วยกลไกการออกฤทธิ์แบบใหม่ โดยคนไข้สามารถนำมาฉีดเองที่บ้านได้ ถือว่าเป็น ‘ยาต้นแบบครั้งแรกของโลก’ ที่มีการทำงานในลักษณะดังกล่าว และสะดวกต่อการใช้งาน ไม่ต้องไปโรงพยาบาล” น.ส.ดวงใจ กล่าว

ทั้งนี้ ที่ประชุมเห็นว่า โครงการนี้เป็นการผลิตยาแนวใหม่โครงการแรกในประเทศไทย ช่วยเพิ่มโอกาสการเข้าถึงตัวยาชีววัตถุของผู้ป่วยในประเทศไทย ช่วยยกระดับเทคโนโลยี และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับต่างประเทศ เพื่อสนับสนุนการลดการนำเข้าและเพิ่มการส่งออกยาชีววัตถุในอนาคต


ดวงใจ2

นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยี โดยมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อสร้างบุคคลากรที่มีคุณภาพ การวิจัยพัฒนาขั้นตอนการผลิต สูตรการผลิต และการควบคุมการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงพิจารณาให้การส่งเสริม และให้ได้รับสิทธิและประโยชน์ยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงถึง 10 ปี เป็นโครงการแรกด้วย


ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1