เชฟกระทะเหล็กสู่ มาสเตอร์เชฟ บทพิสูจน์ความต่างที่ประสบความสำเร็จ

30 ก.ย. 2560 | 01:04 น.
ในยุคที่ทีวีมีมากมายหลายช่อง เขาก็พูดกันว่า คนที่มีคอนเทนต์หรือสามารถผลิตคอนเทนต์ดีๆ โดนๆ ได้ จะเป็นผู้ประสบความสำเร็จ เรื่องนี้อาจไม่จริงเสมอไป เพราะหากเป็นคอนเทนต์เดิมๆ ซํ้าๆ กับชาวบ้าน ก็คงไม่สามารถผงาดอยู่ในเวทีได้นาน ด้วยตรรกะของการอยู่รอดในธุรกิจสื่อ ผู้สร้างความต่าง ที่ฉีกและแหวกแนวก่อนคนอื่น นั่นจึงจะถือว่าประสบความสำเร็จ เฉกเช่น รายการ “เชฟกระทะเหล็ก”ของ “คุณหนุ่ม-กิติกร เพ็ญโรจน์” ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเฮลิโคเนีย เอชกรุ๊ปฯ

“คุณหนุ่ม” บอกเลยว่า มันไม่ง่ายที่จะเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ในยุคที่โลกเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไปตามเทคโนโลยี…“อาชีพเราก็ยังเป็นคนผลิตรายการทีวี แต่ต้องดูว่า เมื่อเรามีคู่แข่งเยอะ มีช่องเยอะในตลาดเราก็ต้องหาความชัดเจนให้กับตัวเอง เราเลยเซ็กเมนต์ตัวเองมาที่ Food Content เราจะโฟกัสตัวเองที่อาหาร ถ้าเป็นรายการอาหาร ก็ต้องมีเรา”

ผู้บริหารคนนี้ ดูที่ความชอบและความถนัดของตัวเองเป็นหลัก เขาเชื่อว่า คนเราถ้าได้ทำในสิ่งที่ชอบสิ่งที่รัก ก็จะทำให้งานนั้นออกมาได้ดี และสิ่งที่เขารักก็มีอยู่ 2 อย่าง คือดนตรี และอาหาร

[caption id="attachment_212415" align="aligncenter" width="503"] กิติกร เพ็ญโรจน์ กิติกร เพ็ญโรจน์[/caption]

สำหรับดนตรี เขาเคยทำมันมาแล้วตอนที่ทำบริษัท แฮฟ อะ กู๊ด ดรีมฯ ทำหน้าที่เป็นอาร์ติสต์แมเนจเมนท์ บริหารศิลปินให้กับทรู วิชั่นส์ กับศิลปินที่ออกมาจากการประกวดเอเอฟ อะคาเดมี่ รวมถึง เดอะเทรนเนอร์ และเขามองว่า สำหรับรายการเพลงในเวลานี้ ไม่ใช่จังหวะที่เหมาะ ดูได้จากรายการทีวีเห็นๆ กันอยู่ในปัจจุบัน หรือแม้แต่ช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมามีรายการเพลงเยอะมาก และมีรูปแบบที่ไม่ค่อยต่างกันสักเท่าไร

เมื่อคู่แข่งเยอะ ความต่างไม่มี ก็เปลี่ยนแนวมาอีกสายที่ชอบเหมือนกัน คือ อาหาร แม้เขาจะไม่มีประสบการณ์ทำรายการอาหารมาก่อน แต่การได้ลิขสิทธิ์รายการ อย่าง เชฟกระทะเหล็ก (Iron Chef) จากฟูจิทีวี ประเทศญี่ปุ่น และเมื่อได้นำมาลงจอวิก 7 สี ก็ประสบความสำเร็จจริงๆ จนตอนนี้ เขาสามารถเปิดเพิ่มอีก 1 บริษัท ชื่อ ไอออนเชฟ เอช กรุ๊ปเป็นบริษัทที่ทำเกี่ยวกับร้านอาหารทั้งหมด ภายใต้ เอช กรุ๊ป ซึ่งขณะนี้ มี 3 ร้าน เป็นร้านไอออนเชฟ เทเบิล 1 ร้าน และ ไอออนเชฟคาเฟ่อีก 2 ร้าน รวมทั้งเขายังได้ลิขสิทธิ์รายการดังของเกาหลี ที่ไปมีชื่อเสียงมากที่จีน ชื่อรายการ มาสเตอร์เชฟ มาอีก 1 รายการ และเพิ่งเปิดตัวไปไม่นานที่ช่อง 7 อีกเช่นกัน เป็นรายการที่นำคนธรรมดาที่ชื่นชอบการทำอาหารมาแข่งกัน ก็ถือว่าตอนนี้เขามีรายการที่สนองตอบทั้งกลุ่มคนที่มีความสามารถระดับมืออาชีพ และมือสมัครเล่นด้านอาหารอย่างครบ ถ้วน แถมยังมีร้านอาหารสำหรับคนที่อยากลองลิ้มชิมรสฝีมือเชฟกระทะเหล็ก ให้ได้ไปสัมผัสด้วยตัวเองได้ที่ร้านของไอออนเชฟอีกด้วย

และเขายังมีแนวคิดที่จะแตกไลน์ไปทำโปรดักต์ที่เกี่ยวกับอาหาร เช่น ซอสปรุงรส และอื่นๆ ตามความเหมาะสม รวมถึงการขยายร้านไอออนเชฟ ไปในรูปแบบอื่นๆ ที่สนองตอบความต้องการของผู้บริโภค ที่ชื่นชอบรายการ โดยเป้าหมายหลักของเขา ยังคงเป็น King Of Food Contentที่มีธุรกิจเป็นผู้ผลิตรายการ แต่สามารถต่อยอดธุรกิจจากอาหารไปสู่ธุรกิจอื่นๆ ได้ตามความเหมาะสม โดยรายได้หลักยังมาจากธุรกิจผลิตรายการ 70% และร้านอาหาร 30%

“คุณหนุ่ม” เล่าว่า การทำทีวียุคนี้ต้องนำเสนอความต่าง เพราะทีวีเป็นขาลง ไม่เหมือนสมัยก่อนที่มีเพียงรายการเดียวที่ประสบความสำเร็จอย่างเชฟกระทะเหล็กก็สามารถอยู่ได้แล้ว แต่ยุคนี้ต่อให้มี 5-6 รายการ ก็ยังลำบาก เพราะเม็ดเงินในอุตสาหกรรมโฆษณาลดลง และกระจายตัวค่อนข้างมาก

[caption id="attachment_212418" align="aligncenter" width="414"] กิติกร เพ็ญโรจน์ กิติกร เพ็ญโรจน์[/caption]

นอกจากเม็ดเงินที่น้อยลง แถมเทคโนโลยีเข้ามาทำให้พฤติกรรมการชมทีวีของคนปัจจุบันเปลี่ยนไป หันไปดูยูทูบกันเสียเยอะ ไม่ดูรายการตามวันเวลาที่ออกอากาศทางทีวี ทำให้เรตติ้งรายการไม่ขึ้น และผู้ผลิตจะไม่อัพโหลดรายการขึ้นยูทูบก็ไม่ได้เพราะคนดูจะโวยผ่านโลกโซเชียลและทำให้รายการขาดกระแส ในขณะที่เอเยนซีจะซื้อโฆษณาก็ต่อเมื่อเรตติ้งดี ผลสรุปคือ ความลำบากตกอยู่กับผู้ผลิต และสถานีโทรทัศน์

สิ่งที่ผู้ผลิตรายการอย่าง “คุณหนุ่ม” ทำได้คือ การสร้างคอนเทนต์ที่แข็งแรง มีคุณภาพ เมื่อทำรายการอาหารก็ต้องคอนเทนต์รายการอาหารที่ดี มีการส่งเสริมอาชีพ และทำให้อาหารไทยมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น

การเป็นผู้ผลิตคอนเทนต์ ความต่างระหว่างคอนเทนต์เพลง และอาหาร มีไม่มาก มันอยู่ที่การครีเอทีฟ การสร้างสรรค์รายการให้น่าสนใจชวนติดตาม แต่งานต่อยอด สำหรับเพลง คือ การออกอัลบั้ม ทำคอนเสิร์ต ตรงนั้นเมื่อเติมความคิดสร้างสรรค์ และการติดต่อประสานงานให้ลงตัวแล้ว ทุกอย่างก็ออกมาได้ แต่สำหรับร้านอาหารเป็นอะไรที่ยากกว่า ต้องอาศัยการบริหารจัดการเยอะกว่า เพราะมันเป็นงานที่เกี่ยวกับคนทุกส่วนซึ่งส่วนนี้ “คุณหนุ่ม” ก็มอบหมายงานให้ทีมรับผิดชอบทำไป ส่วนตัวเขาเองถนัดเรื่องความคิดสร้างสรรค์ และการตลาด ก็รับผิดชอบงานในส่วนนี้โดยตรง

เรื่องการบริหารธุรกิจ ในวันนี้ถือว่าเอช กรุ๊ป ประสบความสำเร็จมาแล้วระดับหนึ่ง มีรายการและมีร้านอาหารที่เป็นที่ชื่นชอบ อนาคต“คุณหนุ่ม” ยังยืนยันที่จะทำธุรกิจอยู่ตรงนี้ แม้จะลำบากและอยู่ยากกว่าเก่าเยอะ แต่นี่คืองานที่เขารัก และสนุกที่จะทำ แต่สิ่งหนึ่งที่ผู้ชายคนนี้ยํ้าคือ… การสร้างธุรกิจของเขาจะไม่ทำอะไรเยอะรายการก็ไม่เยอะมาก ทำตามกำลังที่มี เพื่อคุณภาพของรายการ ส่วนของร้านอาหาร ก็ไม่จำเป็นต้องมีมากสาขา ทำแบบค่อยเป็นค่อยไป ตามความต้องการของตลาด ตามที่ลูกค้าพอใจ… เราจะทำเท่าที่เราทำได้ แต่ทุกอย่างที่ทำ เราจะใส่ความพยายาม และความตั้งใจไปให้เยอะที่สุด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,300 วันที่ 28 - 30 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1