นิด้าโพลเผยผลสำรวจการรับรู้ฟินเทคประชาชนรับรู้น้อย-ไม่เคยใช้บริการ-ไม่มั่นใจ

24 ก.ย. 2560 | 12:08 น.
ศูนย์สำรวจความคิดเห็น “นิด้าโพล” สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เปิดเผยผลสำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง “การสำรวจการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: Fintech)” ทำการสำรวจระหว่างวันที่ 18 – 21 กันยายน 2560 โดยสอบถามความคิดเห็นจากประชาชนทั่วประเทศ กระจายทุกภูมิภาค ระดับการศึกษา และอาชีพ รวมทั้งสิ้น จำนวน 2,000 หน่วยตัวอย่าง เกี่ยวกับการสำรวจการรับรู้ของประชาชนเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน (Financial Technology: Fintech)

การสำรวจ ใช้การสุ่มตัวอย่างด้วยความน่าจะเป็น จากบัญชีรายชื่อฐานข้อมูลตัวอย่างหลัก (Master Sample) ของ “นิด้าโพล” ด้วยวิธีแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) โดยแบ่งชั้นภูมิตามภูมิภาค จากนั้นในแต่ละภูมิภาค สุ่มตัวอย่างด้วยวิธีแบบอย่างง่าย (Simple Random Sampling) เก็บข้อมูลด้วยวิธีการสัมภาษณ์ทางโทรศัพท์ โดยกำหนดค่าความเชื่อมั่นที่ร้อยละ 95.0 และมีค่าความคลาดเคลื่อนมาตรฐาน (Standard Error: S.E.) ไม่เกิน 0.6

 

จากการสำรวจการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับเทคโนโลยีทางการเงิน หรือ Fintech พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 69.45 ระบุว่า ไม่เคยรับรู้ และร้อยละ 30.55 ระบุว่า เคยรับรู้

เมื่อถามถึงช่องทางในการรับรู้ข่าวสารเกี่ยวกับ Fintech ของประชาชนที่ระบุว่าเคยรับรู้ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 58.10 ระบุว่า ทางโทรทัศน์ รองลงมา ร้อยละ 31.10 ระบุว่า สื่อสังคมออนไลน์ ร้อยละ 9.82 ระบุว่า เว็บไซต์ ร้อยละ 9.00 ระบุว่า เพื่อน / ญาติ / คนในครอบครัว ร้อยละ 8.67 ระบุว่า วิทยุ ร้อยละ 7.36 ระบุว่า เจ้าหน้าที่ของธนาคาร ร้อยละ 1.96 ระบุว่า หนังสือพิมพ์ ซึ่งในจำนวนผู้ที่ระบุว่ารับข่าวสาร ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ พบว่า ร้อยละ 93.16 ระบุว่า ผ่านทาง Facebook รองลงมา ร้อยละ 19.47 ระบุว่า Line ร้อยละ 4.74 ระบุ Twitter และร้อยละ 0.53 ระบุว่า IG

NIDA

ด้านความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับความหมายของคำว่า “เทคโนโลยีทางการเงิน หรือ Fintech” พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 38.39 ระบุว่า เป็นการนำเทคโนโลยีดิจิทัลมาประยุกต์ใช้กับบริการทางการเงินในรูปแบบต่างๆ รองลงมา ร้อยละ 23.21 ระบุว่า เป็นบริษัทที่ใช้เทคโนโลยีเพื่อสร้างระบบการเงินและการนำเสนอบริการทางการเงินอย่างมีประสิทธิภาพ ร้อยละ 21.76 ระบุว่าเป็นการเคลื่อนไหวมาบรรจบกันระหว่างการให้บริการทางการเงินและเทคโนโลยี และร้อยละ 36.53 ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ

เมื่อถามความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับ Fintech ว่าครอบคลุมการบริการเรื่องใดบ้าง พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 53.20 ระบุว่า การชำระเงิน/โอนเงิน (Payment/Transfers) รองลงมา ร้อยละ 24.00 ระบุว่า การให้สินเชื่อและเงินทุน (Lending & Financing) ร้อยละ 19.95 ระบุว่า การลงทุน (Investments) และร้อยละ 31.40 ไม่ระบุ / ไม่แน่ใจ

ด้านรูปแบบของ Fintech ที่ประชาชนเคยใช้บริการ พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ ร้อยละ 74.24 ระบุว่า ไม่เคยใช้บริการเลย รองลงมา ร้อยละ 13.46 ระบุว่า Mobile Banking / Internet Banking ร้อยละ 3.70 ระบุว่า พร้อมเพย์ (PromptPay) ร้อยละ 2.70 ระบุว่า Wallet by TrueMoney ร้อยละ 2.25 ระบุว่า สินเชื่อระหว่างบุคคลกับบุคคล (P2P Lending) ร้อยละ 1.95 ระบุว่า Line Pay ร้อยละ 1.70 ระบุว่า Paypal ร้อยละ 1.20 ระบุว่า AIS Mpay ร้อยละ 0.55 ระบุว่า การพิจารณาคะแนนเครดิต (Credit Scoring) ร้อยละ 0.50 ระบุว่า Alipay ร้อยละ 0.30 ระบุว่า Paysbuy ร้อยละ 0.25 ระบุว่า Jaew Wallet และร้อยละ 0.15 ระบุว่า ร้านจำนำออนไลน์ (Online Pawnshop)

ท้ายที่สุด เมื่อถามถึงความเชื่อมั่นของประชาชน เกี่ยวกับความปลอดภัยของระบบการบริการทางการเงินของ Fintech พบว่า ร้อยละ 40.05 ระบุว่า เชื่อมั่นปานกลาง รองลงมา ร้อยละ 17.45 ระบุว่า เชื่อมั่นมาก ร้อยละ 10.20 ระบุว่า เชื่อมั่นน้อย ร้อยละ 2.80 ระบุว่า เชื่อมั่นมากที่สุด ร้อยละ 8.50 ระบุว่า เชื่อมั่นน้อยที่สุด และร้อยละ 21.00 ไม่ระบุ/ไม่แน่ใจ

fin

เมื่อพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่าง พบว่า ตัวอย่างร้อยละ 8.85 มีภูมิลำเนาอยู่กรุงเทพฯ ร้อยละ 25.50 มีภูมิลำเนาอยู่ปริมณฑล และภาคกลาง ร้อยละ 18.15 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคเหนือ ร้อยละ 34.00 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และร้อยละ 13.50 มีภูมิลำเนาอยู่ภาคใต้ ตัวอย่าง ร้อยละ 51.90 เป็นเพศชาย และร้อยละ 48.10 เป็นเพศหญิง ตัวอย่าง ร้อยละ 6.95 มีอายุต่ำกว่า 25 ปี ตัวอย่าง ร้อยละ 18.40 มีอายุ 26 – 35 ปี ร้อยละ 22.20 มีอายุ 36 – 45 ปี ร้อยละ 30.70 มีอายุ 46 – 59 ปี ร้อยละ 16.85 มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และร้อยละ 4.90 ไม่ระบุอายุ

ตัวอย่าง ร้อยละ 88.10 นับถือศาสนาพุทธ ตัวอย่างร้อยละ 3.40 นับถือศาสนาอิสลาม ตัวอย่างร้อยละ 1.30 นับถือศาสนาคริสต์/ฮินดู/ซิกข์/ยิว/ไม่นับถือศาสนาใด ๆ และร้อยละ 1.30 ไม่ระบุศาสนา ตัวอย่าง ร้อยละ 24.45 ระบุว่าสถานภาพโสด ร้อยละ 63.30 สมรสแล้ว ร้อยละ 4.20 หม้าย หย่าร้าง แยกกันอยู่ และร้อยละ 8.05 ไม่ระบุสถานภาพการสมรส ตัวอย่างร้อยละ 25.35 จบการศึกษาประถมศึกษาหรือต่ำกว่า ร้อยละ 29.10 จบการศึกษามัธยมศึกษาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 7.30 จบการศึกษาอนุปริญญาหรือเทียบเท่า ร้อยละ 24.20 จบการศึกษาปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ร้อยละ 5.10 จบการศึกษาสูงกว่าปริญญาตรีหรือเทียบเท่า และร้อยละ 8.95 ไม่ระบุการศึกษา
ตัวอย่างร้อยละ 12.15 ประกอบอาชีพข้าราชการ/ลูกจ้าง/พนักงานรัฐวิสาหกิจ ร้อยละ 11.85 ประกอบอาชีพพนักงานเอกชน ร้อยละ 18.65ประกอบอาชีพเจ้าของธุรกิจ/อาชีพอิสระ ร้อยละ 14.60 ประกอบอาชีพเกษตรกร/ประมง ร้อยละ 13.50 ประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไป/ผู้ใช้แรงงาน ร้อยละ 17.35 เป็นพ่อบ้าน/แม่บ้าน/เกษียณอายุ/ว่างงาน ร้อยละ 2.55 เป็นนักเรียน/นักศึกษา ร้อยละ 0.05 เป็นพนักงานองค์กรอิสระที่ไม่แสวง หากำไร และร้อยละ 9.30 ไม่ระบุอาชีพ

ตัวอย่างร้อยละ 14.10 ไม่มีรายได้ ร้อยละ 25.10 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 10,000 บาท ร้อยละ 21.80 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 10,001 – 20,000 บาท ร้อยละ 10.15 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 20,001 – 30,000 บาท ร้อยละ 5.35 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือน 30,001 – 40,000 บาท ร้อยละ 8.75 มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนมากกว่า 40,001 บาทขึ้นไป และร้อยละ 14.75 ไม่ระบุรายได้

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว