SCBโอดรายได้ดบ.วูบ

24 ก.ย. 2560 | 12:43 น.
ไทยพาณิชย์รุก“บัตรเครดิตรายใหม่-กระตุ้นใช้จ่ายบัตรเดิม”ชดเชยรายได้ดอกเบี้ยหด 10% หลังรับผลกระทบจากเกณฑ์คุมสินเชื่อคลีนโลนแบงก์ชาติ งัด“SCB My Travel” รุกตลาดท่องเที่ยว เจาะกลุ่มรายได้ 5 หมื่นบาท ตั้งเป้า 3 ปี โกย 1.5 แสนใบ

นางสาวผกาฉัตร เตชาบูรพานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย FIRST และผู้บริหารสาย PRIME ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า ผลจากหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน (สินเชื่อบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล)ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่มีผลบังคับใช้วันที่ 1 กันยายนที่ผ่านมา ธนาคารไทยพาณิชย์คาดว่าจะกระทบต่อรายได้ดอกเบี้ยจากธุรกิจบัตรเครดิตประมาณ 10% จากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยลงจาก 20% เหลือ 18% เพราะหลักเกณฑ์ดังกล่าวมีผลทั้งลูกค้าเก่าและลูกค้าใหม่

[caption id="attachment_211872" align="aligncenter" width="295"] ผกาฉัตร เตชาบูรพานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย FIRST และผู้บริหารสาย PRIME ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ผกาฉัตร เตชาบูรพานนท์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสาย FIRST และผู้บริหารสาย PRIME ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน)[/caption]

ส่วนหลักเกณฑ์การกำหนดวงเงินตามรายได้ผู้กู้นั้นไม่มีผลกระทบ เนื่องจากธนาคารอนุมัติวงเงินตามสัดส่วนของรายได้ และส่วนใหญ่จะให้ไม่เกินวงเงินตามเพดานกำหนด

เพื่อเป็นการลดผลกระทบ ธนาคารจึงมุ่งเน้นการหาฐานลูกค้าใหม่ และเพิ่มยอดใช้จ่ายผ่านบัตร เพราะมองว่าตลาดบัตรเครดิตภาพรวมยังมีโอกาสขยายตัวได้อีกกว่า 50% หากดูตัวเลขผู้ถือบัตรปัจจุบันจะเหลือเพียง 19 ล้านใบ เมื่อเทียบกับประชากรที่มีศักยภาพสามารถถือบัตรเครดิตได้

ขณะที่ภาพรวมการใช้จ่ายผ่านบัตรปัจจุบันเมื่อเทียบกับการใช้เงินสดยังถือว่าการใช้บัตรเครดิตยังมีสัดส่วนน้อย จึงมีโอกาสที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายผ่านบัตรได้มากขึ้น แม้ว่าในตลาดจะแข่งขันสูง

ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาธนาคารโฟกัสในกลุ่มลูกค้ามั่งคั่ง จนแข็งแกร่งและเป็นที่รู้จัก โดยแบ่งลูกค้าออกเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่ม Prime ที่มีเงินฝากและลงทุน (AUM) ตั้งแต่ 2-10 ล้านบาท กลุ่ม SCB First ที่มี AUM ตั้งแต่ 10-50 ล้านบาท และกลุ่ม Private Banking ที่มี AUM ตั้งแต่ 50 ล้านบาทขึ้นไป ซึ่งปัจจุบันมีฐานลูกค้า Wealth ที่ถือบัตรเครดิต มีอยู่ประมาณ 1 แสนใบ จากฐานลูกค้า Wealth ทั้งหมดที่มีอยู่ 4 แสนราย โดยฐานลูกค้ารวมทั้งธนาคารอยู่ที่ 14 ล้านราย

อย่างไรก็ตามปีนี้ธนาคารต้องการเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไปมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มลูกค้าผู้มีรายได้ขั้นตํ่า 5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ธนาคารยังไม่เน้นหรือมีบัตรเครดิตรองรับกลุ่มลูกค้า หลังจากมีบัตรเครดิตสำหรับกลุ่มเริ่มต้นทำงานรายได้ขั้นตํ่า 1.5 หมื่นบาทต่อเดือน และกลุ่มรายได้ 3 หมื่นบาท ตลอดจนกลุ่มลูกค้าที่มีเงินแต่ไม่ได้มี AUM กับธนาคาร หรือมีรายได้เฉลี่ย 7.5 หมื่นบาท

ดังนั้นธนาคารจึงออกบัตร “SCB My Travel รักจะเที่ยว...บัตรเดียวพอ” ซึ่งเป็นบัตรมาสเตอร์การ์ดใบเดียวที่ทำให้การท่องเที่ยวครบวงจร และมีสิทธิประโยชน์เกี่ยวกับการท่องเที่ยวเต็มรูปแบบและคุ้มค่าที่สุด ประกอบกับกลุ่มท่องเที่ยวถือเป็นกลุ่มที่มียอดใช้จ่ายผ่านบัตรติด 1 ใน 5 อันดับแรก มีสัดส่วนประมาณ 15% ของการใช้จ่ายภาพรวมสิ้นปี 2559 อยู่ที่ 2.03 แสนล้านบาท คาดว่าสิ้นปีเพิ่มเป็น 2.35 แสนล้านบาท เติบโต 10% ทั้งนี้ ธนาคารตั้งเป้าสมัครบัตรใหม่นี้กว่า 6.5 หมื่นใบ และภายใน 3 ปี จะเพิ่มเป็น 1.5 แสนใบ คาดมียอดใช้จ่ายผ่านบัตรเฉลี่ยอยู่ที่ 5-6 หมื่นบาทต่อเดือน

สำหรับภาพรวมธุรกิจบัตรเครดิตของธนาคารไทยพาณิชย์ปีนี้ ตั้งเป้าออกบัตรใหม่ 4 แสนใบ จากฐานลูกค้าบัตรปัจจุบันอยู่ที่ 2 ล้านใบ เติบโต 100% จากปีที่ผ่านมา โดย 25% หรือประมาณ 1 แสนราย จะเป็นลูกค้าใหม่ หรือ New to Bank และอีก 3 แสนราย จะเป็น New to Card ทั้งนี้ในจำนวนเป้าบัตรใหม่จะเป็นลูกค้า Wealth จำนวน 6-7 หมื่นราย

ขณะที่ยอดใช้จ่ายผ่านบัตรตั้งเป้าเติบโต 10% จากปีก่อนอยู่ที่ 2.03 แสนล้านบาท ปัจจุบันมียอดใช้จ่ายเติบโตแล้วประมาณ 6-7% ถือว่าค่อนข้างดีเมื่อเทียบกับระบบที่เติบโตเพียง 3-4% โดยธนาคารยังคงเป็นผู้นำด้านยอดการใช้จ่ายต่อบัตรอันดับ 3 ของตลาด ส่วนแนวโน้มหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) คาดว่าจะทรงตัวอยู่ที่ 1.02% ตํ่ากว่าทั้งระบบที่อยู่กว่า 3% ส่วนยอดอนุมัติสินเชื่อทรงตัวอยู่ที่ระดับ 50%

“ตอนนี้ตลาดบัตรเครดิต ถือเป็นตลาดที่ค่อนข้างหิน การแข่งขันรุนแรงในด้านโปรโมชันลดแลกแจกแถม เพื่อกระตุ้นยอดใช้จ่าย แต่เราก็ยังมองว่าไทยยังมีโอกาสในการเติบโตอีกมากทั้งในแง่จำนวนผู้ถือบัตร และยอดการใช้จ่าย ซึ่งปีนี้เราจะเน้นเจาะกลุ่มลูกค้าทั่วไปรายได้ 5 หมื่นบาท ซึ่งเป็นกลุ่มที่ยังไม่มีบัตรเครดิตมารองรับ รวมถึงพยายามกระตุ้นบัตรที่มีให้แอกทีฟเพิ่มขึ้นผ่านแคมเปญต่างๆ จากตอนนี้แอกทีฟอยู่ 60% หากเพิ่มได้ 1-2% ถือว่าดีมากแล้ว”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว-9-1-11