‘เปลี่ยนม้ากลางทาง’สางคอร์รัปชันสะดุด!!

28 ก.ย. 2560 | 08:42 น.
ในวันที่ “คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ” (ป.ป.ช.) ทั้ง 9 คน ตกเป็นเป้าต่อจาก คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน (กสม.) และ คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) 2 องค์กรอิสระที่ สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีมติเซตซีโร่คณะกรรมการทั้งหมดไปแล้วก่อนหน้านี้

[caption id="attachment_211839" align="aligncenter" width="377"] พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช.[/caption]

++ห่วงงานสะดุดหากพ้นเก้าอี้
“บิ๊กกุ้ย-พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ” ประธานคณะกรรมการ ป.ป.ช. ชุดปัจจุบัน ซึ่งเข้ารับตำแหน่งเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 และเป็น 1 ใน 7 กรรมการป.ป.ช.ที่มีแนวโน้มอาจต้องพ้นจากตำแหน่งไป เนื่องจากคุณ สมบัติขัดรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ที่กำหนดไว้ในมาตรา 232 โดย พล.ต.อ.วัชรพล เคยเป็นรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม) เมื่อปี 2557 ทำให้ติดเงื่อนไขพ้นจากข้าราชการการเมืองไม่ถึง 10 ปี

“กรรมการป.ป.ช.ทุกคนเข้ามาตามกฎหมาย ตามรัฐธรรมนูญที่มีผลใช้บังคับ มาตามช่องทางของกฎหมายถูกต้องวันนี้มีรัฐธรรมนูญใหม่ หรือถ้ามีกฎหมายประกอบออกมาว่า ต้องไป ทุกคนก็เคารพในกฎหมายนั้น ขึ้นอยู่กับว่า กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ซึ่งมีหน้าที่ร่างกฎหมายประกอบจะมีมติ ออกมาอย่างไร และเมื่อเสนอเข้า สนช. จะเห็นเป็นอย่างไร กระทั่งออกมาเป็น พ.ร.ป.ป.ป.ช. เชื่อว่าคณะกรรมการ ป.ป.ช. ทุกคนยอมรับกลไกกระบวนการทางกฎหมาย” พล.ต.อ.วัชรพล กล่าวเปิดใจกับ “ฐานเศรษฐกิจ”

พล.ต.อ.วัชรพล ยอมรับว่า หากผลออกมาให้ต้อง “เปลี่ยนม้ากลางทาง” ตามอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป.ป.ช.ซึ่งทำงานเกี่ยวข้องกับกระบวนการไต่สวน การตรวจสอบข้อเท็จจริงต่างๆ เรื่องการทุจริตคอร์รัปชันหากต้องพ้นจากตำแหน่งกรรมการ ป.ป.ช. ย่อมส่งผลต่อการทำงานในทางปฏิบัติได้

“คงต้องสะดุดไปบ้าง เนื่องจากงานของป.ป.ช.นั้นไม่ใช่ว่าใครเข้ามาแล้วจะจับจะทำได้เลย เพราะงานการวินิจฉัยคดีต่างๆ นั้น ต้องใช้ประสบการณ์และอาศัยความเข้าใจในบริบทของการทำงาน ซึ่งเป็นเหตุผลว่า ทำไม? ในรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ถึงเขียนให้คณะกรรมการป.ป.ช. ซึ่งมี 9 คน มีวาระดำรงตำแหน่ง 9 ปี หากดูรัฐธรรมนูญทั้ง 2 ฉบับ การกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งขององค์กรอิสระไม่เท่ากัน ให้ ป.ป.ช.มีวาระ 9 ปี เพื่อให้เกิดความต่อเนื่อง เพราะคดีไม่สามารถที่จะทำให้เสร็จได้ภายในเร็ววัน”

ที่ผ่านมา ปัญหาสำคัญประการหนึ่งของ ป.ป.ช.ที่เกิดความล่าช้าในการทำงาน เนื่องจากมีบุคลากรไม่เพียงพอ พอเจองานหนักก็ลาออกกันไป เราสูญเสียคนตลอดเวลา เขาจบกฎหมาย จบเนติบัณฑิตกันมา เป้าหมายชีวิตเขาอาจอยากจะไปเป็นตุลาการ ไปเป็นอัยการ เมื่อมีการเปิดสอบเขาก็ไป เราก็ต้องสร้างคนใหม่มาเรื่อยๆ งานมันก็ไม่ต่อเนื่อง

++เปลี่ยนคนบ่อยไม่ดี
ยิ่งถ้าเราเปลี่ยนคน เปลี่ยนกรรมการบ่อยๆ มันก็ส่งผลกระทบ ขาดความต่อเนื่อง มันไม่ใช่ว่า วันนี้พรุ่งนี้จะอ่านรู้เรื่อง ไม่ใช่บัญญัติไตรยางค์ว่า มี 10 คดี ทำคดีละ 6 เดือนเสร็จ แต่ละคดีเนื้อหาไม่เหมือนกัน เมื่อขาดความต่อเนื่องของกระบวนการ ข้อมูลการตัดสินใจก็เปลี่ยนไปได้

วันนี้เรากำลังขับเคลื่อนงานได้ดีขึ้น ด้วยองคาพยพหลายๆ เรื่องที่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลทั้งในเรื่องของโครงสร้าง และจำนวนบุคลากรในการทำงาน ซึ่งหลังจากที่รัฐบาลนี้เข้ามาก็ให้การสนับสนุนเพิ่มบุคลากรให้กับ ป.ป.ช. ประมาณ 1 ใน 3 จากที่มีอยู่ในปัจจุบัน และหลังจากนี้ ป.ป.ช.ก็มีหน่วยงานประจำอยู่ในภูมิภาคทุกจังหวัด แม้ว่าอาจจะไม่มากนัก แต่ก็สามารถตอบสนองต่อข้อร้องเรียนต่างๆ ได้รวดเร็วขึ้น และมีประสิทธิภาพมากขึ้นแล้ว

โดยข้อสังเกตต่างๆ เหล่านี้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.ได้ให้ข้อมูลและชี้แจงกับ กรธ. ตลอดช่วงที่ผ่านมา ผมว่าทุกท่านทราบดีอยู่แล้วและเราก็เข้าใจว่า ทาง กรธ.ประสงค์อยากจะให้คุณสมบัติของคนที่จะเข้ามาเป็นกรรมการ ป.ป.ช. มาเป็นแคนดิเดตกรรมการ มีคุณสมบัติที่สูง มีประสบการณ์เป็นที่ยอมรับ เป็นความตั้งใจที่ดีที่ประเทศชาติจะได้คนที่มาทำหน้าที่ตรงนี้มีความภาคภูมิใจที่แท้จริง

ผมยืนยันว่า กรรมการป.ป.ช.ไม่ว่าจะอย่างไร เราก็พร้อม ถามผมวันนี้ ครอบครัวผมจะมีความสุขมาก ตัวผมเองก็จะมีความสุข เพราะเมื่อเรามีโอกาสมาทำงานแล้วเราได้ทำมันเต็มที่ก็เป็นธรรมดาว่า เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อใดก็จะมีจุดห่างที่อาจจะไม่สมดุลบ้างก็เป็นเรื่องธรรมดา

นับตั้งแต่วันที่เข้ามาเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2559 จนถึงวันนี้ ถามว่า พอใจไหม ต้องยอมรับว่า พอใจ ซึ่งก็ต้องขอบคุณเพื่อนข้าราชการ น้องๆ ในป.ป.ช. รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม สื่อสารมวลชนต่างๆ ทุกคนเป็นแรงผลักดันให้การทำงานตรงนี้สำเร็จ

++คุณสมบัติป.ป.ช.ตึงเกินไป
“ถ้าหากมาอยู่ที่นี่จะทราบดีว่า เป็นงานที่ไม่น่าอภิรมย์ เป็นงานที่ต้องเสียสละและต้องทุ่มเท สภาพการทำงานในปัจจุบันที่เราได้รับ อย่างน้อยเราภูมิใจได้ทำในสิ่งที่ถูกต้อง ได้วินิจฉัยอย่างถูกต้อง เมื่อเรามาเป็น ป.ป.ช. มาเป็นประธานกรรมการ ป.ป.ช. เราถูกส่อง

ตอนเป็น สนช. ผมว่าชีวิตผมยังมีอิสรภาพมากกว่าเป็นกรรมการป.ป.ช.ในเวลานี้เสียอีก (อมยิ้ม) ตรงนี้ทำให้เราต้องวางตัวให้ถูกต้อง เพราะว่าสังคมเขาไว้ใจเรา วันนี้โลกไปเร็วมาก ชีวิตวันนี้ต้องเสียสละ ต้องทำหน้าที่ก็เป็นความภูมิใจว่า ครั้งหนึ่งในชีวิตได้เข้ามาทำงานให้ประเทศชาติ ได้มีโอกาสมาร่วมทำให้ประเทศไทย ใสสะอาด เราได้ทำเต็มที่ ทำไปตามข้อจำกัด ทำไปตามพยานหลักฐาน ทำให้ดีที่สุด เมื่อถึงคราวต้องถอดหมวก เราก็จะกลายเป็นประชาชนคนไทยที่มีความมุ่งมั่นอยากให้ประเทศไทยเจริญ อยากเห็นประเทศไทยใสสะอาดเหมือนเดิมในบริบทของประชาชนคนหนึ่งได้ ซึ่งผมเชื่อว่า กรรมการป.ป.ช.ทุกคนคิดแบบนี้”

ก่อนจบการสนทนา พล.ต.อ.วัชรพล ได้ให้มุมมองเกี่ยวกับคุณสมบัติของกรรมการป.ป.ช. ไว้อย่างน่าสนใจ เห็นว่า ด้วยคุณสมบัติที่กำหนดไว้นั้นเป็นเรื่องยากสำหรับทหาร และตำรวจที่จะเข้ามารับการสรรหาเป็น ป.ป.ช.

“ทหาร และตำรวจ ไม่มีโอกาสที่จะเข้ามาเลย จะมาได้ก็จะมีตุลาการ อัยการที่ต้องใช้ระดับอธิบดี ผู้พิพากษา ขณะที่ในระบบของเรานั้น ผู้บัญชาการตำรวจ คุมคน 20,000 คน ดูแลงบประมาณเป็นแสนล้าน หากบอกว่า ผบ.ตร.มาได้ แต่ก็คงไม่มีใครเป็น ผบ.ตร. ถึง 5 ปี ไม่มีทาง คุณสมบัตินี้จึงตึงเกินไป ให้เป็นข้อสังเกตว่า ในอนาคตข้างหน้าจะมีคนในวิชาชีพใดวิชาชีพหนึ่งเข้ามาตรงนี้ได้มากกว่าวิชาชีพอื่น ความหลากหลายของมุมมองที่จะสะท้อนส่วนต่างๆ นั้นจะถูกจำกัด”

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว