จี้คลอดพ.ร.บ.อีอีซี หัวใจสำคัญดึงดูดนักลงทุน

27 ก.ย. 2560 | 04:49 น.

Thansettakij เว็บไซต์ข่าวฐานเศรษฐกิจ ผนวกไลฟ์สไตล์ Start up SMEs อสังหาริมทรัพย์ การเงิน การลงทุน การตลาด เศรษฐกิจ เทคโนโลยี Breaking News อัพเดตข่าวล่าสุดที่นี่

ในการประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่ผ่านมา คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกพ.ศ....(อีอีซี) ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาปรับปรุงแล้ว และจะเข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ในวาระแรกวันที่ 28 กันยายนนี้

ทั้งนี้ ความล่าช้าของข้อกฎหมายดังกล่าว จากเดิมที่คาดว่าจะสามารถนำมาใช้ได้ตั้งแต่กลางปีที่ผ่านมา ถือเป็นอุปสรรคใหญ่ของการขับเคลื่อนอีอีซี เนื่องจากนักลงทุนต้องการเห็นความชัดเจนในข้อกฎหมาย ที่จะนำไปสู่การตัดสินใจด้านการลงทุน

++พ.ร.บ.ปลดล็อกการลงทุน
หากมาไล่เลียงสาระสำคัญของพ.ร.บ.ฉบับนี้ ถือเป็นกฎหมายฉบับแรก ที่จะมาปลดล็อกอุปสรรคด้านการลงทุน เพราะจะให้อำนาจเบ็ดเสร็จกับคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ทำหน้าที่ในการกำหนดนโยบาย ให้ความเห็นชอบแผนและแผนผัง อนุมัติแผนงาน โครงการและงบประมาณในการพัฒนารวมถึงออกระเบียบและประกาศตามที่กำหนดไว้ในร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ รวมถึงมีอำนาจอนุมัติอนุญาต ให้สิทธิได้ตามกฎหมาย

ขณะเดียวกันคณะกรรมการนโยบายฯดังกล่าวจะเป็นผู้กำหนด “เขตส่งเสริมพิเศษ”เพื่อวัตถุประสงค์ในการผลักดันการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่ใช้เทคโนโลยีชั้นสูงสร้างนวัตกรรม และมิตรต่อสิ่งแวดล้อมและมีอำนาจในการอนุมัติ อนุญาตออกใบอนุญาต หรือให้ความเห็นชอบตามกฎหมายต่างๆ เช่นเดียวกับหน่วยงานของรัฐหรือคณะกรรมการตามกฎหมายต่างๆ เพื่อให้การดำเนินงานเกิดความสะดวก รวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

P11-3299-B ++สิทธิประโยชน์เพิ่มขึ้น
อีกทั้ง การกำหนดให้ผู้มาลงทุน ได้รับสิทธิประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เช่น สิทธิในการถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ภายในเขตส่งเสริมฯได้โดยไม่ต้องรับอนุญาตตามประมวลกฎหมายที่ดินหรือภายใต้การจำกัดสิทธิของคนต่างด้าวตามกฎหมาย ว่าด้วยอาคารชุด เป็นต้น แต่ต้องอยู่ภายใต้หลักเกณฑ์และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯกำหนด

รวมถึงการเช่าที่ดินหรืออสังหาริมทรัพย์ในเขตส่งเสริมฯ สามารถทำสัญญาเช่าได้ถึง50 ปี และสามารถต่อสัญญาเช่าได้อีกไม่เกิน 49 ปี และยังสามารถนำคนต่างด้าว ซึ่งเป็นผู้มีความรู้เชี่ยวชาญ ผู้บริหาร หรือผู้ชำนาญการ รวมถึงคู่สมรสและบุคคลในอุปการะเข้ามาในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว โดยจะได้รับอนุญาตให้มีสิทธิทำงานได้เฉพาะตำแหน่งหน้าที่การทำงานที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

อีกทั้งผู้ประกอบการที่อยู่ในเขตส่งเสริมฯจะได้รับการยกเว้นหรือลดหย่อนภาษีตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการลงทุน และได้รับประโยชน์เช่นเดียวกับผู้ประกอบการในเขตปลอดอากร คลังสินค้าทัณฑ์บน และเขตประกอบการเสรี ที่สำคัญยังได้รับสิทธิยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมและเปลี่ยนเงิน และสามารถใช้เงินตราต่างประเทศ เพื่อชำระสินค้าหรือบริการระหว่างผู้ประกอบกิจการในเขตส่งเสริมฯได้ ภายใต้หลักเกณฑ์ และเงื่อนไขที่คณะกรรมการนโยบายฯกำหนด ที่สำคัญกฎหมายฉบับนี้ จะช่วยสร้างความมั่นใจประชาชนหรือชุมชนในพื้นที่อีอีซี จะได้รับการดูแลหรือเยียวยาจากการได้รับผลกระทบจากการพัฒนา โดยจะมีการจัดตั้งกองทุนพัฒนาอีอีซีขึ้นมา สามารถนำไปใช้ในการพัฒนาพื้นที่หรือชุมชน ตลอดจนนำไปช่วยเหลือหรือเยียวยาประชาชนและชุมชนที่ได้รับผลกระทบรวมถึงใช้ในการสนับสนุนและส่งเสริมการศึกษาแก่ประชาชนที่อยู่อาศัยในอีอีซีหรืออยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงและได้รับผลกระทบจากการพัฒนา

++นักลงทุนรอกฎหมายคลอด
นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) ชี้ให้เห็นว่า หัวใจสำคัญของการขับเคลื่อนอีอีซีในขณะนี้อยู่ที่พ.ร.บ.อีอีซีว่าจะประกาศใช้ได้เมื่อใด เพราะเท่าที่ได้พบปะนักลงทุนทั้งในและต่างประเทศ และล่าสุดคณะนักลงทุนกว่า 500 รายที่เดินทางมาดูลู่ทางการลงทุนในอีอีซี ก็ยังไม่ทราบในรายละเอียดของข้อกฎหมาย หรือไม่สามารถหารายละเอียดมาศึกษาได้

อีกทั้งถึงแม้ร่างพ.ร.บ.อีอีซีจะผ่านครม.แล้วก็ตามแต่ก็ยังติดขั้นตอนการพิจารณาของสนช.ซึ่งยังไม่ทราบว่าจะมีการแก้ไขในรายละเอียดอีกหรือไม่ ดังนั้นนักลงทุนส่วนใหญ่จึงยังไม่กล้าตัดสินใจจะเข้ามาลงทุน เพียงแต่เป็นการแสดงความสนใจเท่านั้น รวมถึงภาคประชาชนในพื้นที่ ยังไม่มีความมั่นใจว่าจะได้รับการดูแลจากภาครัฐในการพัฒนาพื้นที่อีอีซีหรือไม่

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว