สหประชาชาติ ภาคธุรกิจและโลกปัจจุบัน

25 ก.ย. 2560 | 23:05 น.
P6-3299-A โดยปกติ สัปดาห์ที่ 3 ของเดือนกันยายนเป็นช่วงเปิดการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งจัดขึ้นที่นครนิวยอร์ก ในแต่ละปีผู้แทนระดับสูงของประเทศต่าง ๆ ก็จะเดินทางมาร่วมประชุมกัน ช่วงนี้จึงเป็นโอกาสสำคัญที่ประเทศต่างๆ จะได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนสร้างสัมพันธไมตรีระหว่างกัน และหากท่านได้ติดตามข่าวในแวดวงสหประชาชาติ คงรู้สึกได้ว่าปีนี้การประชุมสมัชชาสหประชาชาติค่อนข้างจะมีสีสันกว่าที่ผ่านมา

ผู้นำของหลายประเทศเข้าร่วมการประชุมในปีนี้ และได้แสดงทรรศนะและท่าทีต่อที่ประชุม เกี่ยวกับประเด็นระดับโลกที่อยู่ในความสนใจอย่างคึกคักเป็นพิเศษ ที่น่าสนใจคือ มีการแสดงจุดยืนที่แตกต่างกันในหลายๆ เรื่อง คล้ายการแลกหมัดกันไปมาเกี่ยวกับวาระต่างๆ ของสหประชาชาติ ผู้ที่กล่าวได้ว่าเป็นศูนย์กลางความสนใจเห็นจะหนีไม่พ้นประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐอเมริกา ซึ่งเข้าร่วมการประชุม เป็นครั้งแรกหลังจากชนะการเลือกตั้ง และได้กล่าวถ้อยแถลงให้เป็นที่ฮือฮา ในหลายประเด็นภายใต้กรอบสหประชาชาติ อาทิ การทดลองอาวุธนิวเคลียร์ของเกาหลีเหนือ ข้อตกลงด้านนิวเคลียร์กับอิหร่าน สถานการณ์ในเวเนซุเอลา และการปฏิรูปสหประชาชาติ

คู่กัดสำคัญที่สื่อมวลชนจับชนกับประธานาธิบดีทรัมป์ ก็คือ ประธานาธิบดีมาครงของฝรั่งเศส ทั้งคู่มาร่วมการประชุม ในฐานะผู้นำประเทศเป็นครั้งแรกหลังชนะการเลือกตั้ง แต่แสดงทรรศนะที่แตกต่างกันต่อที่ประชุมหลายเรื่อง อาทิ ประธานาธิบดีทรัมป์ มองว่าข้อตกลงที่สหรัฐฯ สมัยประธานาธิบดีโอบามา ร่วมกับสมาชิกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติบวกเยอรมนี ทำกับอิหร่านเป็น “ความอับอาย” ขณะที่ประธานาธิบดีมาครง มองว่าข้อตกลงดังกล่าวเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้อิหร่านไม่พัฒนาอาวุธนิวเคลียร์

ประธานาธิบดีทรัมป์ ขู่ใช้กำลังกับเกาหลีเหนือ ขณะที่ประธานาธิบดีมาครง เห็นว่าควรหาทางออกทางการเมือง ประธานาธิบดีทรัมป์ประกาศให้ความสำคัญกับประเทศตนเองที่สุด โดยยํ้าถึงนโยบายอเมริกามาก่อน (America First) ขณะที่ประธานาธิบดีมาครง ชี้ให้เห็นถึงความสำคัญของระบบพหุภาคีและการพึ่งพาซึ่งกันและกันในการแก้ปัญหาระดับโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบริบทของการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ซึ่งฝรั่งเศสสนับสนุนข้อตกลงปารีสเต็มที่และผลักดันให้เดินหน้า แม้สหรัฐฯ จะได้ประกาศถอนตัวจากข้อตกลงดังกล่าวก็ตาม แถมฝรั่งเศสยังเกทับด้วยการจัดงานใหญ่เมื่อวันที่ 19 กันยายนที่ผ่านมา เพื่อเปิดตัวแนวคิดจัดทำความตกลงแม่บทเรื่องสิ่งแวดล้อมให้เสร็จสิ้นภายในปี ค.ศ. 2020 อีกด้วย

คู่กัดอื่น ๆ ที่น่าสนใจก็มี อิสราเอล-อิหร่าน กาตาร์-ซาอุดีอาระเบีย ลิธัวเนีย-รัสเซีย ซึ่งล้วนมองปัญหาต่างมุมกัน และมีส่วนร่วมสร้างสีสันให้กับการประชุม สะท้อนให้เห็นบรรยากาศแย้งการเมืองระหว่างประเทศได้ดี

ทั้งหมดนี้ ดูจะบดบังมิติทางเศรษฐกิจและการค้าไปเลย ที่จริงการประชุมสมัชชาสหประชา ชาติไม่ได้มีเฉพาะเรื่องการเมือง แต่มีประเด็นเศรษฐกิจและการค้า โดยเฉพาะเปิดโอกาสให้ภาคธุรกิจเอกชนเข้าร่วมเป็นผู้สังเกตการณ์และให้ความเห็นอย่างจริงจัง ผ่านกิจกรรมของหน่วยงานที่เรียกว่า “สัญญาโลกของสหประชาชาติ” หรือ “UN Global Compact” ซึ่งมีอาณัติชัดเจนให้ภาคธุรกิจมีส่วนร่วมสร้างธรรมาภิบาลในการค้าและธุรกิจระหว่างประเทศ

อาทิ การเคารพสิทธิมนุษยชน การคุ้มครองสิ่งแวดล้อม การต่อต้านทุจริตฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งภาคธุรกิจของประเทศต่างๆ รวมทั้งไทย ได้มีส่วนร่วมอย่างเป็นรูปธรรมและแข็งขัน โดยเฉพาะในช่วงการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ ซึ่งมีเวทีต่างหากให้ภาคธุรกิจจัดกิจกรรมและร่วมอภิปรายเกี่ยวกับบทบาทของภาคธุรกิจในการไปสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ตลอดจนบทบาทของภาคเอกชนในการสนับสนุนด้านการเงินเพื่อบรรลุเป้าหมายวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 ด้วยการพยายามผลักดันให้การลงทุนของภาคเอกชนสอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืนและการเติบโตทางธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบ

การพูดคุยเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจบที่นิวยอร์กแล้วก็จบกันนะครับ ภาคธุรกิจในบางประเทศ อาทิ เนเธอร์แลนด์ ก้าวหน้าถึงขนาดนำเป้าหมายเพื่อการพัฒนาไปเป็นส่วนหนึ่งของแผนทางธุรกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการลดภาวะโลกร้อน ธุรกิจโลจิสติกส์ซึ่งเนเธอร์แลนด์เชี่ยวชาญ พยายามลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โดยใช้การขนส่งที่ใช้พลังงานไฟฟ้า เช่น รถไฟ แทนการขนส่งด้วยรถบรรทุกที่ใช้นํ้ามันเชื้อเพลิง ให้มากที่สุดแม้จะเป็นการผลักภาระไปให้ภาครัฐที่ต้องหาทางผลิตพลังงานสะอาดให้มากขึ้น

แต่อย่างน้อยการลดก๊าซเรือนกระจกก็ถูกจำกัดไปที่จุดเดียวในการผลิตพลังงานสะอาดสำหรับทุกคน ช่วยให้ใกล้ทางแก้ปัญหาขึ้นอีกนิด หากภาคธุรกิจไม่คำนึงถึงก๊าซเรือนกระจก มองแค่ต้นทุน กำไร ขาดทุน การแก้ปัญหาจะทำได้ยากขึ้น เรื่องนี้ขึ้นอยู่กับการวางแผน และการประชุมสมัชชาสหประชาชาติเป็นเวทีที่ให้ภาพรวมนโยบายระดับโลกที่เป็นประโยชน์
ภาคธุรกิจของไทยก็ไม่น้อยหน้า ได้จัดตั้ง UN Global Compact Network Thailand เพื่อทำงานให้บรรลุเป้าหมายตามอาณัติดังกล่าว มีบริษัทยักษ์ใหญ่เข้าร่วมจำนวนมากและคาดว่าจะเพิ่มขึ้นอีก

การที่ทุกฝ่ายร่วมกันทำงานเพื่อส่วนรวมในระดับระหว่างประเทศเป็นนิมิตหมายที่ดี และสหประชาชาติสามารถเป็นตัวอย่างสำหรับประเทศต่างๆ ได้ แม้สหรัฐฯ ภายใต้รัฐบาลปัจจุบันจะดูเหมือนไม่ใคร่สนับสนุนระบบพหุภาคี แต่มองในมุมกลับ การที่สหรัฐฯ ต้อง การปฏิรูปสหประชาชาติ ก็แปลว่ายังให้ความสำคัญอยู่ และทุกฝ่ายควรทำงานร่วมกัน ให้สหประชาชาติเป็นองค์การที่ตอบสนองความจำเป็นของโลกในปัจจุบันที่แท้จริง ทั้งในเรื่องการเมืองและเรื่องปากท้องของประชาชนครับ

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว