จับชีพจรไทย‘IoT’

24 ก.ย. 2560 | 09:53 น.
P5-3299-B เมื่อไม่นานมานี้ประมาณช่วงกลางเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา กสทช. มีมติเห็นชอบให้ใช้คลื่นความถี่ย่าน 920-925 MHz เพื่อรองรับเทคโนโลยี Internet of Things (IoT) ถือเป็นการเบิกฤกษ์นำประเทศไทยเข้ายุค IoT นับเป็นจุดเริ่มต้นการเปลี่ยนสถานะ Proof of Concept หรือโครงการต้นแบบที่ใช้ IoT เข้าสู่การให้บริการเชิงพาณิชย์เต็มรูปแบบ

กระแสการตื่นตัวของเทคโนโลยี IoT ในประเทศไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ประชากรมีความตื่นตัวสูง เนื่องจากความพร้อมของโครงข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงประกอบกับเทคโนโลยีคลาวด์คอมพิวติ้งที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น ช่วยให้ทั้งผู้พัฒนาอุปกรณ์สมองกลฝังตัวอัจฉริยะ ผู้ค้าอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่หน่วยงานวิจัยและการศึกษา รวมถึงภาคอุตสาหกรรม การเกษตรและสาธารณสุข รวมทั้งภาครัฐที่มีการผุดโครงการสมาร์ทซิตีในหลายจังหวัด ซึ่งใช้ IoT เป็นหนึ่งในโครงสร้างพื้นฐาน

อานิสงส์จากการอนุมัติคลื่นสำหรับ IoT ส่งผลบวกต่อธุรกิจการให้บริการคลาวด์คอมพิวติ้งในประเทศไทย เนื่องจากหากมีปริมาณการใช้ IoT ที่มากขึ้น ก็จะเพิ่มปริมาณ การรับส่งข้อมูลผ่านคลาวด์ให้สูงขึ้นตามไปด้วย

IoT ถือเป็นเทคโนโลยียุทธศาสตร์ที่จะช่วยให้ธุรกิจเกิดการปรับตัวเปลี่ยนเป็นธุรกิจรับดิจิตอล หรือดิจิตอล ทรานส์ฟอร์เมชัน และสร้างรูปแบบธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของไทย เช่น ภาคการผลิต และยานยนต์ ที่จะใช้ IoT เซ็นเซอร์ตรวจจับการทำงานของเครื่อง จักรการผลิต เป็น Preventive or Predictive Maintenance ซึ่งเป็นการเก็บข้อมูลเครื่องจักรที่อยู่ในกระบวนการผลิต และที่เห็นในชัดในการใช้ IoT คือ ภาคอุตสาหกรรมขนส่งและโลจิสติกส์ ใช้ติดตามยานพาหนะและทรัพย์สินต่างๆ ลดการสูญหายและสูญเสีย รวมถึงช่วยบ่งบอกตำแหน่งที่อยู่ และช่วยบริหารเส้นทางให้มีประสิทธิภาพ

ปัจจุบันเทคโนโลยี IoT มีระดับความ mature มากขึ้น รัฐบาลและเอกชน ต้องตระหนักและหาแนวทางปรับใช้ที่เหมาะสมกับบริบทของตนเอง เพื่อความอยู่รอด และไม่ให้ธุรกิจถูก disrupt จากเทคโนโลยีเป็นอันขาด

จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24 - 27 กันยายน พ.ศ. 2560
ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว