ร้อง ‘อาคม’ เบรกเหล็กก่อสร้างจีน! หวั่นไม่ปลอดภัย

26 ก.ย. 2560 | 08:26 น.
ผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทย-กลุ่มเหล็ก ส่งหนังสือถึง “อาคม” เตือน! ระวังนำเข้าโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูปจากจีน ป้อนอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 อาจไม่ปลอดภัย วันที่ 2 ต.ค. นี้ 7 สมาคมเหล็ก จับเข่า “อาคม” หาวิธีส่งเสริมใช้เหล็กในประเทศป้อนงานรัฐ

งานโครงสร้างพื้นฐานรัฐหลายโครงการเริ่มคืบหน้า ในแง่การประมูลผู้รับเหมาก่อสร้าง รวมไปถึงการจัดซื้อวัสดุก่อสร้าง โดยเฉพาะเหล็กชนิดต่าง ๆ ที่กลุ่มผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทยและ 7 สมาคมกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก มีความกังวลว่า ส่วนแบ่งตลาดจะถูกกลืนโดยเหล็กนำเข้าจากจีน

แหล่งข่าวจากสมาคมผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทย เปิดเผยกับ “ฐานเศรษฐกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ ได้ยื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม, ปลัดกระทรวงคมนาคม และผู้บริหาร บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน)ฯ เนื่องจากมีความเป็นห่วงว่า หลังจากที่บริษัท ร่วมค้า เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่ง กับบริษัท ไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย) 2 บริษัทผู้รับเหมาก่อสร้าง ที่ได้รับงานประมูลก่อสร้างโครงการอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 จากบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ อาจมีการนำเข้าโครงสร้างเหล็กและผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศจีนเข้ามาใช้ในงานดังกล่าว

แบนเนอร์ชั่วโมงฐานเศรษฐกิจ

 

ล่าสุด สมาคมจึงยื่นหนังสือไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว โดยเสนอแนะ 3 ข้อ เพื่อเป็นการควบคุมมาตรฐานและคุณภาพในช่วงที่ยังไม่มี มอก. รองรับ ดังนี้

1.เหล็ก, โครงสร้างเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็กที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย ต้องมีการตรวจสอบคุณภาพและมีหนังสือรับรองคุณภาพที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐที่มีอำนาจของประเทศผู้ส่งออก ซึ่งหน่วยงานดังกล่าวต้องได้รับการรับรองจากสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมของไทย

2.เหล็ก, โครงสร้างเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็กที่จะนำเข้ามาในประเทศไทย ต้องมีหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดของสินค้าที่ออกโดยหน่วยงานของรัฐของประเทศผู้ผลิต

3.กระทรวงคมนาคมและบริษัท ท่าอากาศยานไทยฯ ควรพิจารณาจัดตั้งคณะกรรมการตรวจรับ ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนจากสมาคมวิชาชีพ, นักวิชาการ และสถาบันคุณภาพที่เกี่ยวข้อง เช่น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย, สมาคมผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทย, กลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย, สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม เพื่อตรวจรับเหล็ก โครงสร้างเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศจีน


“เกรงว่า นำเข้า ‘เหล็กจีน’ มาใช้ในงานก่อสร้างจะไม่ปลอดภัย เนื่องจากเป็นที่ทราบกันดีว่า สินค้าจากจีนมีคุณภาพหลายระดับ การก่อสร้างอาคารเทียบเครื่องบินรอง หลังที่ 1 มีผลต่อความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของสาธารณชน และต่อความเชื่อมั่นของต่างประเทศ อีกทั้งสมาชิกในสมาคมผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทยก็จะได้รับผลกระทบด้วย หากนำเข้ามาเป็นโครงสร้างเหล็กสำเร็จรูป จากเดิมผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทยจะนำเหล็กแผ่นรีดร้อนมาเชื่อมและประกอบติดตั้งเอง เมื่อมีสำเร็จรูปเข้ามางานส่วนนี้จะหายไป”

นอกจากนี้ สมาคมผู้ก่อสร้างงานเหล็กไทยและกลุ่มผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเหล็กไทย มีความกังวลเกี่ยวกับคุณภาพของเหล็ก โครงสร้างเหล็ก และผลิตภัณฑ์เหล็กจากประเทศจีน เนื่องจากโครงสร้างเหล็กของไทยยังไม่มีมาตรฐาน มอก. รองรับ เมื่อนำเข้ามา ทางสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) ก็ไม่มีกฎหมายควบคุม จึงเปิดช่องให้นำเข้ามาโดยง่าย

สอดคล้องกับที่ นายเภา บุญเยี่ยม เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน กล่าวว่า บริษัท ร่วมค้า เพาเวอร์ไลน์ เอ็นจิเนียริ่งฯ กับ บริษัท ไชน่าสเตท คอนสตรัคชั่น (ประเทศไทย)ฯ ได้งานประมูลในส่วนโครงสร้างอาคารผู้โดยสาร และทั้ง 2 ค่ายนี้ เป็นคู่ค้าทางธุรกิจกัน และปริมาณเหล็กที่จะต้องใช้ในงานดังกล่าวจะมีปริมาณไม่น้อยกว่า 25,000 ตัน แบ่งเป็นเหล็กโครงสร้างรูปพรรณประมาณ 10,000 ตัน และเป็นเหล็กแผ่น 15,000 ตัน ยังไม่นับรวมเหล็กเส้นอีกจำนวนหนึ่ง

“มีโอกาสที่จะเกิดการนำเข้ามาจากจีนได้ เนื่องจากกำแพงภาษีเป็น 0% และผู้ส่งออกจากจีนจะได้รับการอุดหนุนจากรัฐบาลจีน โดยไม่เสียภาษีนำเข้าหล็กเจือโบรอนในอัตรา 9% น่าเป็นห่วงเรื่องความปลอดภัย หากมีการนำเข้าโครงสร้างเหล็กรูปพรรณเจืออัลลอยมาใช้ในโครงการนี้ และในโครงการอื่น ๆ ที่เป็นงานโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาล”

ด้าน นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย เปิดเผยว่า วันที่ 2 ต.ค. นี้ 7 สมาคมกลุ่มอุตสาหกรรมเหล็ก เช่น สมาคมการค้าผู้ผลิตแผ่นเคลือบสังกะสี, สมาคมผู้ผลิตท่อโลหะและแปรรูปเหล็กแผ่น, สมาคมผู้ผลิตเหล็กโครงสร้างรูปพรรณรีดร้อน, สมาคมผู้ผลิตเหล็กทรงยาวด้วยเตาอาร์กไฟฟ้า และสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย มีสมาชิกรวมทั้งสิ้น 472 บริษัท จะเข้าพบ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อหารือวิธีส่งเสริมให้ใช้เหล็กในประเทศให้มากที่สุดได้อย่างไร เพื่อเป็นการลดปัญหาปริมาณเหล็กล้นตลาด เพราะขณะนี้ ผู้ผลิตเหล็กมีกำลังผลิตเหล็กชนิดต่าง ๆ รวมกันไม่ถึง 40% จากที่มีปริมาณผลิตเหล็กชนิดต่าง ๆ รวมกันเต็มเพดานที่ 20 ล้านตันต่อปี แต่ผลิตได้จริงเพียง 8 ล้านตันต่อปี ที่เหลือนำเข้าทั้งหมด

หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 37 ฉบับที่ 3,299 วันที่ 24-27 ก.ย. 2560

ดาวน์โหลดอีบุ๊กแทรกข่าว